การเสียชีวิตของ Mahsa Amini สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงในประเทศอิหร่าน เหมือน Mohamed Bouazizi จุดชนวน Arab Spring?

    ขอออกตัวว่า ณ เวลาเขียนคอลัมน์นี้ เป็นช่วงก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องนายกรัฐมนตรีครบวาระ 8 ปีเมื่อไหร่ แต่ขอแตะเรื่องนี้นิดหนึ่ง ด้วยบทความที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา บทความดังกล่าวเป็นประเภท Op-Ed ในหัวข้อ “Tenure Verdict ‘Too Late’ for PM” เขียนโดย Clara Ferreira Marques จากสำนักข่าว Bloomberg

    ตอนแรกผมเกือบข้ามบทความนี้ เพราะไม่ได้อยู่ในอารมณ์อยากเจอบทความเดิมๆ ประเภท “…พึ่งพาศาลไม่ได้ เพราะถูกคัดเลือกจากรัฐบาล ดังนั้นเขาไม่มีความเป็นกลาง….บลา บลา บลา…”

ที่จะปรากฏเต็มบ้านเต็มเมืองหลังคำวินิจฉัย ทั้งจากสำนักข่าวต่างประเทศ ที่มักชอบสัมภาษณ์นักวิชาการ ที่ชอบให้คนทั่วไปรับรู้ว่าเขาฉลาดกว่าคนอื่น รวมถึงบรรดากลุ่มคนที่ยกย่องประเทศอื่นในโลกมากกว่าประเทศตัวเอง

    แต่ผมตัดสินใจอ่านเพื่อสร้างความรำคาญให้กับตัวเอง แต่ปรากฏว่าเป็นบทความที่ตรงไปตรงมา และสำคัญไปกว่านั้น เป็นบทความที่แฟร์มากๆ สำหรับใครที่รักรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนนี้ อาจไม่พอใจกับบทความดังกล่าว เพราะเขาไม่ได้เขียนชม แล้วไม่ได้ยกย่อง ส่วนใครที่เกลียดรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนนี้ อาจคิดว่าบทความไม่สะใจพอ เพราะด่ารัฐบาลกับนายกรัฐมนตรีน้อยไป

    แต่ที่ผมบอกว่าบทความนี้แฟร์มากๆ เพราะเขาเขียนความจริง และเขียนเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง โดยไม่ได้บอกว่าระบบศาลเป็นศาลเตี้ยที่ทำตามคำสั่ง (เหมือนสำนักอื่นพยายามจะสื่อ) ในบทความเขา เขารักษา Integrity ของศาล ผมเลยขอถือโอกาสตรงนี้ปรบมือให้กับทั้งนักเขียนและสำนักข่าวที่ลงข่าวเรื่องนี้ เพราะบทความที่เขียนแฟร์ๆ แบบนี้เกี่ยวกับบ้านเรา มันหายากมากครับ

    ผมขออนุญาตยกพวกเราออกจากประเทศไทยสักนิดนึงครับ ผมเชื่อว่าตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญแถลงคำวินิจฉัย พวกเราคงหมุนเวียนแต่ในเรื่องนี้และผลกระทบที่ตามมา ผมเลยอยากพาแฟนคอลัมน์หันไปดูเรื่องอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกของเรา ซึ่งเรื่องที่ผมอยากเขียน เป็นเรื่องต่อเนื่องมาเกือบสองสัปดาห์ แต่ดูเหมือนจะไม่คลี่คลายง่ายๆ นั่นคือเรื่องการประท้วงในประเทศอิหร่าน

    เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว (13 กันยายน) ผู้หญิงอายุ 22 ปี ชื่อ Mahsa Amini ถูกจับ (หรือจะเรียกว่า ถูกรวบ) จากตำรวจกองพิเศษของอิหร่านที่เรียกว่า Morality Police เพราะเขาไม่ใส่ Hijab ตามธรรมเนียม ตามกฎเหล็ก หรือตามคำสั่งของผู้นำศาสนา (ซึ่งคือผู้นำประเทศ) หลังจากที่ถูกรวบหรือถูกจับนั้น ไปในสถาน “ปรับทัศนคติ” 3 วัน (16 กันยา.) เขาเสียชีวิตขึ้นมา ทางการอิหร่านแถลงว่า Amini หัวใจล้มเหลว ทั้งๆ ที่ทางครอบครัว Amini บอกว่าเขาไม่มีปัญหาเรื่องหัวใจ หลังๆ เริ่มมีคลิปหลุดว่า Amini ถูกซ้อมในสถาน “ปรับทัศนคติ” จนเกิดการเสียชีวิต

    ประเทศอิหร่านมีประวัติยาวนานในเรื่องการ พยายามบีบบังคับการแต่งกายของผู้หญิง ถ้าย้อนอดีตกลับไป ค.ศ.1936 ผู้นำในยุคนั้น (Reza Shah) ที่เอนไปทางซีกตะวันตก พยายามยกเลิกข้อบังคับให้ผู้หญิงทุกคนต้องสวมใส่ Hijab เพื่อพัฒนาประเทศในสายตาซีกตะวันตก แต่ผู้หญิงอิหร่านในยุคนั้นต่อต้านข้อเสนอนี้ เลยเลือกใส่ Hijab กันต่อไป แต่ไม่มีการบังคับให้ผู้หญิงทุกคนต้องใส่

    จนกระทั่งมีการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้ประเทศอิหร่านเปลี่ยนเป็นประเทศที่มีศาสนาบริหารประเทศ ตั้งแต่ ค.ศ.1979 ที่บังคับให้ผู้หญิงทุกคนต้องใส่ Hijab และเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ เมื่อ ค.ศ.1983 เป็นต้นมา

    ผู้ชุมนุมในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่คนรุ่นใหม่ ผู้หญิง หรือผู้ต่อต้านรัฐบาล เป็นการรวมตัวกันของหลายๆ ฝ่ายที่มีความเห็นตรงกันว่า ยุคนี้น่าจะเป็นยุคที่ไม่ควรมีการบังคับผู้หญิงแต่งกายตามมาตรฐานที่ผู้ชายตั้งให้ การประท้วงในครั้งนี้จะแตกต่างไปกว่าครั้งก่อนๆ เพราะครั้งก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปีที่แล้ว หรือปี 2019 จะประท้วงเรื่องปัญหาปากท้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำมันแพง หรือราคาสินค้าประจำวันที่พุ่งสูงเกิน

    ในครั้งนี้ หลายคนมองว่าเป็นความรู้สึกอัดอั้นในใจของสังคมอิหร่านที่มีมายาวนาน แต่ไม่มีโอกาสระบายความรู้สึกอัดอั้นใจ บวกกับกลุ่มหนุ่มสาวที่เติบโตในโลกโซเชียล ที่ทำให้เขาสามารถเห็นโลกภายนอกได้อย่างเสรี สำหรับพวกเขา การเสียชีวิตของ Amini เป็นสิ่งที่เขารับไม่ได้ที่ถูกบังคับต้องสวมใส่ Hijab ตามข้อกฎเหล็กที่ (พวกเขามองว่า) ล้าหลังและล้าสมัย

    ถ้าเห็นภาพข่าวการประท้วงในครั้งนี้ ไม่ว่าจะจากประเทศอิหร่าน หรือประเทศอื่นๆ ที่มีคนออกมาร่วมชุมนุมและประท้วง เพื่อแสดงความไม่พอใจกับเหตุการณ์ในประเทศอิหร่าน บวกกับความตั้งใจที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง พวกเราจะเห็นการประท้วงที่มีผู้หญิงโกนศีรษะหรือตัดผมตัวเองอยู่เยอะพอสมควร

    ในวัฒนธรรม Persia (รวมทั้งประเทศอิหร่าน และอิรัก ในโลกปัจจุบัน) การตัดผมตัวเองของสุภาพสตรีนั้น เป็นทั้งการแสดงความเสียใจ การไว้อาลัย และเป็นการแสดงความโกรธ (แค้น) มีบทกวีหลายบท และมีนวนิยายหลายเรื่อง ที่มีอายุเป็นพันๆ ปี เช่น Shahnameh ของอิหร่าน กับเรื่อง The Epic of Gilgamesh ของอิรัก (เป็นบทกวี ที่เชื่อกันว่ามีอายุมากที่สุดในโลก) ในสองเรื่องนี้มีหลายท่อนหลายตอนที่ผู้หญิงในเรื่องจะมีการตัดผมตัวเอง เพื่อเป็นการแสดงความโกรธแค้น ประกาศสงคราม และแสดงความเสียใจที่ต้องสูญเสียคนใกล้ชิด

    ดังนั้นถ้าเราเห็นภาพผู้หญิงอิหร่านตัดผมตัวเอง หรือโกนศีรษะตัวเอง จากการประท้วงในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องเล่นๆ นะครับ และไม่ได้เป็นการตัดหรือโกนเพื่อสร้างภาพเฉยๆ การชุมนุมและการประท้วงในครั้งนี้ ดูเหมือนไม่มีทางคลี่คลายลง และดูเหมือนทุกหนทางจะไปในทางการปราบปรามที่รุนแรงมากกว่าเดิมจากรัฐบาลอิหร่านต่อผู้ชุมนุม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Sending a Message หรือ The Calm Before the Storm?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงเวลาที่พวกเราสนุกและพักผ่อนกันเต็มที่ช่วงสงกรานต์นั้น มีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดได้ทุกเมื่อ และในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

หลานชายคุณปู่

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ช่วงเขียนคอลัมน์นี้ ผมยังอยู่ที่บ้านเฮา เจออากาศทั้งร้อนมากและร้อนธรรมดา เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องการขับรถขึ้นมาบ้านเฮากับลูกสาว

หลานคุณปู่

คอลัมน์สัปดาห์นี้กับสัปดาห์หน้า น่าจะเป็นคอลัมน์เบาๆ ครับ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะหนีร้อนในไทยไปสูดอากาศเย็น (กว่า) ที่อื่น ส่วนใครที่ไม่ไปไหน คงไม่อยากอ่านเรื่องหนักๆ

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 2)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องราวแก๊งที่ผมสัมผัสและรู้จักสมัยอยู่สหรัฐ สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแนว Gangster Rap ก็คงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมเขียนไป แต่สำหรับหลายท่านที่เติบโตคนละยุคคนละสมัยอาจไม่คุ้นเลย

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 1)

ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มีข่าวประเภทแก๊งมีอิทธิพลในประเภทประเทศเอลซัลวาดอร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก มีผลต่อเสถียรภาพการเมืองระดับชาติประเทศเขา

To Shortchange กับ To Feel Shortchanged

จากการเรียกร้องของสาวๆ (สวยๆ) ไทยโพสต์ ผมขออนุญาตสวมหมวกฟุดฟิดฟอไฟวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยและอธิบายสไตล์ของผม ถึงคำที่ปรากฏในช่วงต้นสัปดาห์จากนิตยสาร Time ครับ