ต่างฝ่ายต่างไม่จบ

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ชัดเจนแล้วว่า การพูดถึงสถาบันหลักของชาติด้วยถ้อยคำที่หยาบคายในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

และอีกหลายๆ ครั้ง ต่างกิจกรรม ต่างคนพูด มีลักษณะของการปลุกระดมด้วยข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือน หมิ่นประมาท ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ และการกระทำหลายอย่างแสดงถึงการอาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์

เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการมุ่งทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย

อีกทั้งยังทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ เป็นการทำลายความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่เป็นความจริงเชิงประจักษ์ก็คือ การพูดปราศรัย การเขียนป้าย การพ่นกำแพง การพ่นถนน การพ่นและเผาพระบรมฉายาลักษณ์ การเอาสีน้ำเงินออกจากธงไตรรงค์ของประเทศไทย ข้อเรียกร้องที่อ่านบนเวทีปราศรัย 10 ข้อที่เป็นการลิดรอนพระราชอำนาจ และพระราชฐานะขององค์พระมหากษัตริย์ ตลอดจนความพยายามที่จะให้ยกเลิกมาตรา 112

พฤติกรรมทั้งหลายเหล่านี้ แสดงให้เห็นเจตนาของกลุ่มบุคคลที่มีทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และเยาวชน นิสิตนักศึกษาที่มีชื่อเรียกต่างๆ นานา ว่าพวกเขาต้องการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอลง ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า พวกเขามีเจตนา “ล้มล้าง” สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการกระทำที่ผิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แม้ว่าพวกเขาจะอ้างเสรีภาพในการแสดงออก แต่การกระทำของพวกเขานั้นเป็นการทำผิดกฎหมาย และผิดรัฐธรรมนูญที่ถือได้ว่าความผิดของพวกเขาไม่ใช่อาชญากรรมตามกฎหมายอาญาธรรมดาๆ แต่เป็นการทำผิดกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงของประเทศ เป็นการบ่อนทำลายชาติและสถาบันหลักของชาติ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว เจ้าหน้าที่ของบ้านเมืองจะต้องดำเนินการต่อด้วยการฟ้องคดีอาญาบุคคลที่อยู่ในขบวนการทั้งหมด จะให้จบลงเพียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้

หน่วยราชการจะให้กระบวนการยุติธรรมจบลงแค่นี้คงไม่ได้ เพราะพวกเขายังไม่ยอมจบ มีทั้งตัวผู้ถูกร้อง บุคคลในเครือข่าย ผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง นักวิชาการ และสื่อมวลชนที่เป็นแนวร่วมของพวกเขา ออกมาดาหน้าสร้างวาทกรรมว่า “ปฏิรูป” ไม่ใช่เป็นการ “ล้มล้าง” โดยความหมายของคำที่ปรากฏในพจนานุกรม คำสองคำนี้ก็มีความหมายไม่เหมือนกันอยู่แล้ว “ปฏิรูป” เป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น ส่วนการ “ล้มล้าง” นั้นเป็นการทำให้หมดไป หายไป การที่พวกเขาใช้คำว่า “ปฏิรูป” เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า “ล้มล้าง” นั้น ไม่ได้ทำให้พวกเขาพ้นจากความผิดไปได้ ไม่ว่าพวกเขาจะเรียกขบวนการของพวกเขาว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและประชาชนทั่วไป เมื่อพิจารณาจากการกระทำของพวกเขาทั้งหลายนั้น ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าพวกเขามีเจตนา “ล้มล้าง” สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

พวกเขากำลังดิ้นกันด้วยการออกมาสื่อสารทาง Social media กันรัวๆ ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง พ่อยกแม่ยกที่เป็นท่อน้ำเลี้ยง รวมทั้งดารา นักร้องและคนดังทั้งหลายที่ผู้คนมองเห็นว่ามีการกระทำที่แสดงตนเป็นเป็นแนวร่วมของขบวนการ ทั้งนี้เพราะพวกเขากลัวว่าจะต้องคดีอาญา กลายเป็นผู้ต้องหาที่อาจจะผิดทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 ดังนั้นจึงระดมใช้วาทกรรมเรื่องเสรีภาพของการแสดงออก และเล่นคำด้วยการอ้างความหมายในพจนานุกรมว่า “ปฏิรูป” ไม่ใช่การ “ล้มล้าง” ก็ไม่มีใครเถียงเรื่องนี้หรอกนะ เพราะพวกเขามองไปที่การกระทำมากกว่า นอกจากนี้แล้วยังมีบางคนที่บอกว่ายังจะเดินหน้ากระทำการต่างๆ ในขบวนการต่อไป และบางคนในกลุ่มถึงขนาดพูดในลักษณะของการขู่ที่พอจะสรุปได้ว่าอาจจะมีการออกมาก่อความรุนแรงที่เกิดจากการปะทะของคนสองกลุ่ม ที่พวกเขากล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างประชาชนสองกลุ่ม กล่าวโทษคนอื่น โดยไม่สำนึกว่าตนเองทำผิดอะไร

ชัดเจนแล้วว่าพวกเขาไม่ยอมจบง่ายๆ การปลุกระดมด้วยวาทกรรม ด้วยข้อความที่บิดเบือน จะยังคงมีต่อไป และอาจจะรุนแรงขึ้นมากกว่าเดิม เมื่อพวกเขาไม่ยอมจบกันเช่นนี้แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีการฟ้องคดีอาญาจะเดินหน้าต่ออย่างไร ที่แน่ๆ จะให้เรื่องจบแค่นี้ไม่ได้นะ แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำกับดูแลพฤตกรรมของพรรคการเมืองล่ะ จะให้เรื่องจบเพียงเท่านี้ หรือจะมีการพิจารณาว่ามีพรรคการเมืองใดบ้างที่ทำผิดกฎหมาย ผิดข้อบังคับว่าด้วยพรรคการเมืองที่อาจจะต้องมีการยุบพรรค รวมทั้งจะต้องมีใครบางคนที่ควรถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้ามาทำงานการเมือง เรื่องนี้หากเจ้าหน้าที่ยอมให้เรื่องจบลง ไม่ทำอะไรต่อ ทั้งๆ ที่กฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ขณะนี้ประชาชนรอดูอยู่ หากท่านทั้งหลายที่มีหน้าที่ปล่อยให้เรื่องนี้จบลงเพียงเท่านี้ ประชาชนอาจจะมองว่าท่านทำผิดกฎหมายมาตรา 157 หรือเปล่า

ถ้าตีความตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จากนี้ไปการชุมนุมที่เกิดขึ้นรายวันที่นั่นที่นี่ ไม่อาจทำได้อีกต่อไปแล้ว เจ้าหน้าที่มีเหตุผลเพียงพอในการจะยับยั้งการชุมนุม รวมทั้งจับกุมคนที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่แค่คนที่ออกมาชุมนุมเท่านั้น แนวร่วมที่เป็นผู้สนับสนุน ผู้วางแผน และคนที่เป็นท่อน้ำเลี้ยง คนที่เป็นอีแอบอยู่หลังเด็กนั้นก็สมควรที่จะถูกดำเนินคดีด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหลายควรจะตระหนักได้แล้วว่า พวกเขาเป็นคนกลุ่มน้อยที่กำลังทำผิดกฎหมาย การกระทำของเขาทำให้พวกเขาเป็นผู้ทำลายล้างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้กร่อนเซาะและทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นเสาหลักของประเทศ เมื่อเขาทำลายรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของประเทศ ก็เท่ากับพวกเขาคือผู้ทำลายประเทศชาติ เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาอย่างร้ายแรง

ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นหลายครั้ง หลายสถานที่ หลายวิธีการ หลายคนพูดปราศรัย เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนในขบวนเดียวกัน เป็นขบวนการที่มีเจตนาเดียวกัน เป็นความพยายามและมีความมุ่งมั่นที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะเรียกพวกเขาว่าเป็นผู้ต้องหาคดีกบฏได้หรือไม่ และถ้าหากผิดจริงตามข้อกล่าวหา โทษสูงสุดของพวกเขาจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าพวกเขาจะได้รับโทษเช่นใด สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ก็คืออนาคตของพวกเขาคงไม่สดใสนัก ทุกอย่างที่เขาทำจะเป็นเงาติดตามตัวเขาไปอย่างไม่มีวันจบ พวกเขาจะไปทำงานที่ไหน พวกเขาจะยืนอยู่ในสังคมได้อย่างไร พวกเขาจะอยู่ในคุกหรือจะได้เรียนต่อ ผลลัพธ์ของการกระทำของเขาจะไม่มีวันจบอย่างแน่นอน

ประชาชนคงต้องติดตามตอนต่อไปอย่างใกล้ชิดนะคะ เพราะทุกอย่างยังไม่จบค่ะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าโหน..อย่าโยน...อย่าโยง

ชีวิตทุกชีวิตมีค่า แม้ว่าจะไม่ได้มีค่าสำหรับทุกคน แต่ก็คงมีค่ากับใครบางคน แม้ว่าจะไม่มีค่าสำหรับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ก็คงจะมีค่าสำหรับบางเรื่องของสังค

อโหสิกรรมและการให้อภัย

จะเป็นแต่เฉพาะ สังคมไทย หรือสังคมอื่นๆ ด้วยหรือไม่? อย่างไร? ก็ยังไม่แน่ใจ ที่เมื่อใครก็ตามซึ่งได้สิ้นชีพิตักษัยลงไปแล้ว ไม่ว่าจะคิดต่าง เห็นต่าง

สีกากีทุกข์ใจ

คงต้องลุ้น คงต้องรอดูว่าวันที่ 20 พ.ค. 2567 บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.จะได้กลับมาทำหน้าที่ "แม่ทัพใหญ่สีกากี" นั่งทำงานภายใน "กรมปทุมวัน"

มธ. จัดเสวนารุมสับระบบเลือก สว.ชุดใหม่ เป็นปัญหามากที่สุด ซับซ้อน ทำให้งงอย่างจงใจ

ศูนย์นิติศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ “การเลือก สว. และประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับอนาคตประชาธิปไตยไทย” เนื่องในงานรำลึก 32 ปี พฤษภาประชาธรรม 2535

'ธรรมศาสตร์' เตือน! อย่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แจ้งเตือนบุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า ประชาคมธรรมศาสตร์ และประชาชน ระวังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ขณะนี้พบพฤติกรรมของมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็น “เจ้าหน้าที่กอง