เริ่มแล้ววันนี้ 3 ผู้นำอาเซียน กับประชุมสุดยอดระดับโลก

เริ่มแล้วครับ การประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญ ท่ามกลางการเมืองโลกที่ร้อนระอุ ท้าทายความ “มีน้ำยา” ขององค์กรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้อย่างหนัก

การประชุมอาเซียนซัมมิต 12-13 พฤศจิกายน จะตามมาด้วยเวที G-20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ซึ่งจะมีขึ้นในช่วง 13-16 พฤศจิกายนนี้

หลังจากนั้นก็จะเป็นการประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้

คาดกันว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะไปร่วมประชุมที่พนมเปญและบาหลี

ส่วนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนจะไปที่บาหลี และกรุงเทพฯ

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียที่เดิมมีข่าวว่าจะไปบาหลีก็เปลี่ยนใจแล้ว ตัดสินใจไม่ไปร่วมประชุมที่นั่น

สาเหตุหนึ่งคงจะเป็นเพราะสถานการณ์สงครามในยูเครนที่กำลังเข้าสู่โหมดที่รัสเซียต้องปรับแผนการรบอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดทหารรัสเซียต้องถอยร่นออกจากเมือง Kherson ทางใต้ของยูเครน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แคว้นที่รัสเซียเพิ่งประกาศผนวกเป็นส่วนหนึ่งของตนเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง

การที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียยอมรับว่าต้องสั่งทหารของตนถอยออกมาเคอร์ซอนนั้นเป็นเรื่องที่ทำด้วยความจำใจ

เพราะทหารรัสเซียในแนวรบนั้นไม่อาจจะรับมือการรุกหนักของทหารยูเครน

อีกทั้งยังต้องอพยพทหารและพลเรือนออกไปเสียก่อนท่ามกลางข่าวที่ว่าเขื่อนใหญ่ในบริเวณนั้นกำลังจะแตก เพราะการถล่มโจมตีกันและกัน

สี จิ้นผิง ส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ไปประชุมสุดยอดอาเซียนที่กัมพูชาแทนตน

ขณะที่ไบเดนให้รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส มาร่วมประชุม APEC ในนามของสหรัฐฯ

จึงต้องคอยดูว่าผู้นำมหาอำนาจที่มาร่วมประชุม 3 เวทีใหญ่ในอาเซียนนี้จะมีการนัดพบกันนอกรอบเพื่อถกประเด็นปัญหาวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญอยู่มากมายหลายเรื่องหรือไม่ อย่างไร

แต่เมื่อสี จิ้นผิง ไม่ไปพนมเปญ ปูตินไม่ไปบาหลี และไบเดนไม่มากรุงเทพฯ ก็จะเหลือเวทีเดียวที่ไบเดนกับสี จิ้นผิง อาจจะเจอกันได้ตัวเป็นๆ

นั่นคือเวที G-20 ที่บาหลี

กล่าวเฉพาะเวที APEC ที่กรุงเทพฯ นั้น สี จิ้นผิง น่าจะโดดเด่นที่สุดในบรรดาผู้นำมหาอำนาจ

เพราะปูตินและไบเดนไม่มาร่วมอาเซียนซัมมิต เหลือสี จิ้นผิง เป็นดาวเด่นที่อาจจะประกบด้วยผู้นำจากฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, แคนาดา, และนิวซีแลนด์ เป็นต้น

หนึ่งในหัวข้อสำคัญที่พนมเปญ ผู้นำกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุมสุดยอดท่ามกลางประเด็นท้าทายในการลดความรุนแรงน่าจะเป็นสถานการณ์ในเมียนนา

เพราะแม้อาเซียนจะกดดัน, เรียกร้อง, อ้อนวอนให้ผู้นำทหารพม่าทำตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้ทำไว้กับอาเซียน แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้แต่ประการใด

หัวข้ออื่นของผู้นำอาเซียนก็ควรจะเป็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ การฟื้นฟูประเทศจากการระบาดของโควิด-19 การค้าในภูมิภาค กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ

ความหวังของนายกฯ ฮุน เซน แห่งกัมพูชา ในฐานะประธานที่ประชุมที่จะให้เวทีนี้ช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องสงครามยูเครนไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

เพราะแม้ ฮุน เซน จะเชิญทั้งปูตินและเซเลนสกีมาร่วมประชุมด้วย แต่ทั้ง 2 ก็คงจะมีข้ออ้างที่จะไม่ออกนอกประเทศในตอนนี้

แต่ ฮุน เซน ก็เดินหน้าเล่นบทของนักการทูตนานาชาติด้วยการต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ดเมทรี กูเลบา มาเยือนกัมพูชาอย่างคึกคัก

รัฐมนตรียูเครนมาร่วมลงนามในสนธิสัญญา Asean ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC) กับอาเซียนในการมาเยือนครั้งนี้ด้วย

มีข่าวว่า นายกฯ ฮุน เซน ได้เชิญประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน มาร่วมประชุมด้วย

และหากมาด้วยตัวเองไม่ได้ก็สามารถจะพูดผ่านระบบออนไลน์ได้เช่นกัน

แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันเพิ่มเติมในเรื่องนี้จากทางการกัมพูชา

หากย้อนกลับไปสมัยอดีต ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาไม่ได้เข้าร่วมอาเซียนซัมมิตมาตั้งแต่ปี 2017 และยังเดินออกจากการประชุมในปีนั้นก่อนเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้วย

โดยมอบหมายให้เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยนั้นรับหน้าที่ต่อ

การที่ไบเดนตัดสินใจมาร่วมอาเซียนซัมมิตนั้นสะท้อนว่า เขาเชื่อว่าจะสามารถส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ของอเมริกา

อาจตีความได้ว่าเขามีความมุ่งมั่นให้อเมริกามีบทบาทคึกคักอีกครั้งหนึ่งในภูมิภาคนี้

น่าสังเกตเช่นกันว่า ปีนี้อาเซียนได้ยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไปสู่สถานะ "หุ้นส่วนกันเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม" หรือ Comprehensive Strategic Partnership ซึ่งก็เทียบเท่ากับจีนที่ได้รับสถานะนี้ไปเมื่อปีก่อน

หากเกาะติดความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับอาเซียนจะเห็นว่า เมื่อเดือนตุลาคม แดเนียล คริเทนบริงค์ (Daniel Kritenbrink) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ให้ความเห็นว่า การประชุมสุดยอดในเวทีต่างๆ นี้ จะเป็นโอกาสในการ “สร้างความสัมพันธ์ทางการทูตในภูมิภาคในหลายระดับ” และสหรัฐฯ จะมุ่งเน้น “สานต่อโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ มากกว่าการเสนอโครงการริเริ่มใหม่ๆ อีกมากมายเข้ามา”

และบอกด้วยว่า “การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ในเวทีเหล่านี้ จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งและยืนยงกับภูมิภาคนี้”

และเสริมว่า “ตั้งแต่ระดับประธานาธิบดี รัฐมนตรีต่างประเทศ ไปจนถึงรัฐบาลสหรัฐฯ ต่างรู้ว่าอนาคตด้านความมั่นคงและมั่งคั่งของอเมริกันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก”

ข่าวหลายกระแสแจ้งตรงกันว่า ในการประชุมครั้งนี้สหรัฐฯ จะหารือกับอาเซียนในเรื่องการเพิ่มแรงกดดันต่อเมียนมาให้ยุติการใช้ความรุนแรงและเดินหน้ากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง

เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสหรัฐฯ คนนี้ย้ำว่า “เราจะไม่นั่งอยู่เฉยๆ ในระหว่างที่ความรุนแรงยังดำเนินต่อไป”

สหรัฐฯ พยายามกดดันแบบเงียบๆ ให้สมาชิกอาเซียนเลิกคบหารัฐบาลทหารเมียนมาในทุกๆ ด้าน

รวมทั้งไทยก็ถูกร้องขอให้เลิกซื้อก๊าซจากพม่า เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารมีรายได้จากธุรกรรมต่างๆ เหล่านี้

ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้แต่เพียงออกแถลงการณ์เป็นระยะๆ วิพากษ์รัฐบาลทหารในเมียนมา

โดยเน้นที่ว่าการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ว่าแล้วก็โยนเผือกร้อนนี้เข้าสู่การหารือระดับผู้นำในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กำลังดำเนินอยู่ในสัปดาห์นี้

ผมจะคอยฟังคำแถลงของไบเดน และการแสดงออกของนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง ที่พนมเปญว่าต่างจะรักษาท่าทีของตนเองต่อเมียนมา...และสงครามยูเครนอย่างไร

เพราะจะเป็นการส่งสัญญาณที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของความสัมพันธ์ของยักษ์ๆ ต่ออาเซียนและพม่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้