ผู้นำอาเซียน ‘ลอยแพ’ มิน อ่อง หล่าย

ผู้นำอาเซียนประชุมสุดยอดประจำปีที่กรุงพนมเปญสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาตัดสินใจ “ลอยแพ” รัฐบาลทหารพม่าที่นำโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย อย่างเป็นทางการแล้ว

เป็นมติที่มาจากความหงุดหงิดงุ่นง่านที่ผู้นำทหารพม่าไม่สนใจไยดีกับความเสียหายที่ตนทำกับประเทศ, ประชาชนของตน...และด้อยค่าอาเซียนอย่างต่อเนื่อง 

18 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขายังไม่ยอมทำอะไรให้มีความคืบหน้าว่าด้วย “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนเลย

เป็นที่มาของมติล่าสุดว่า ผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศจะไม่เชิญตัวแทนจากภาคการเมืองทหารของพม่ามาร่วมในระดับต่างๆ 

เดิมที่ไม่เชิญระดับผู้นำและรัฐมนตรีต่างประเทศก็จะขยายวงไป รวมถึงระดับต่ำกว่านั้นลงมาอีก

เพื่อให้เห็นความจริงจังของอาเซียนต่อการเพิกเฉยของรัฐบาลทหาร

อีกทั้งยังให้มีการร่างแผนสันติภาพในรายละเอียดที่จะมี “กรอบเวลา” ที่ชัดเจนว่าให้ทำภายในเดือนนั้นเดือนนี้

หาไม่แล้ว รัฐบาลทหารพม่าก็จะต้องเจอกับมาตรการ “จากเบาไปหาหนัก”

อาจถึงขั้นระงับสมาชิกภาพของพม่าในอาเซียนก็ได้

เพราะสถานการณ์ในพม่านั้นเลวร้ายลงทุกขณะ อีกทั้งประชาชนก็ยังล้มตายเพิ่มจำนวนขึ้นเพราะการปราบปรามอย่างหนักและรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่า 

ผู้นำอาเซียนกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (11 พ.ย.) ว่าได้มอบหมายให้ “คณะมนตรีประสานงานอาเซียน” ทบทวนการเป็นตัวแทนของเมียนมาในการประชุมครั้งต่อไป "หากมีความจำเป็นในสถานการณ์"

อาเซียนจะยังดำรงจุดยืนปัจจุบันในการเชิญเฉพาะผู้แทนที่ไม่ใช่ทางการเมืองจากเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน

ขณะเดียวกันผู้นำอาเซียนยังเรียกร้องให้มีการวางแผนดำเนินการและให้มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับข้อตกลงสันติภาพที่เรียกว่า Five-Point Consensus 

แผนที่ว่านี้ มิน อ่อง หล่าย เองก็เห็นพ้องด้วยตนเอง เพราะได้รับเชิญไปร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนอื่นๆ ที่จาการ์ตาเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

แต่ถึงวันนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด โดยเฉพาะประเด็นที่ให้ทูตพิเศษอาเซียนว่าด้วยกิจการเมียนมาเข้าไปเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาตกลงด้วยการเจรจาเพื่อความสมานฉันท์

มติของที่ประชุมผู้นำอาเซียนล่าสุดระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องมีแผนการดำเนินงาน "ที่เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริงและสามารถวัดผลได้พร้อมไทม์ไลน์เฉพาะเจาะจง" 

เพื่อสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อที่จะต้องมีผลที่เป็นรูปธรรม

ที่ประชุมมอบหมายให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนรับภารกิจนี้ไปเขียนแผนปฏิบัติการนี้

เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไปยัง มิน อ่อง หล่าย ว่าคราวนี้อาเซียนเอาจริงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

หมดความอดทนแล้ว ว่างั้นเถอะ

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งชาวอินโดนีเซีย ซึ่งจะรับไม้ต่อในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้าต่อจากกัมพูชา เสนอให้รัฐบาลทหารของเมียนมาถูกระงับจากการประชุมของอาเซียนในเวทีอื่นๆ ด้วย

นอกเหนือจากการประชุมระดับสูงที่มีผลมาแล้ว

ว่ากันว่ารอบนี้ผู้นำอาเซียนถกประเด็นเรื่องพม่ากันอย่างเคร่งเครียดและยาวนานเป็นพิเศษ

ไม่เพียงแต่ผู้นำอินโดฯ เท่านั้นที่แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้นต่อผู้นำทหารพม่า นายกฯ สิงคโปร์ก็หมดความอดทนเช่นกัน

นายกรัฐมนตรีหลี่ เสียน หลง ของสิงคโปร์ บอกว่า เขาเห็นด้วยกับผู้นำอินโดฯ

“เราควรพิจารณาดำเนินการขั้นต่อไปอย่างจริงจัง เพื่อส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังทางการทหารของเมียนมา” เขาบอกที่ประชุม

“18 เดือนผ่านไป มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการดำเนินการตามข้อตกลงฉันทามติห้าข้อ” นายกฯ สิงคโปร์บ่นดังๆ

และเสริมว่า “ความรุนแรงยังไม่ยุติ มีการปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองเพียงไม่กี่คน และไม่มีการเจรจาระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเลย...”

“สถานการณ์ความเป็นจริงวันนี้คือความรุนแรงในเมียนมาเพิ่มขึ้น นักเคลื่อนไหวฝ่ายค้าน 4 คนถูกประหารชีวิต และเรายังคงเข้าถึง นางอองซาน ซูจี ไม่ได้” นายหลี่ เสียน หลง กล่าว

ถึงวันนี้อดีตผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยและหัวหน้าพรรค NLD อองซาน ซูจี ถูกศาลทหารสั่งจำคุกในหลายๆ คดี รวม 26 ปี

เป็นคดีต่างๆ ที่อ้างความผิดฐานทุจริตในการเลือกตั้งและคอร์รัปชัน เป็นต้น

นายกฯ สิงคโปร์บอกว่า

“ด้วยสถานการณ์ที่แย่ลง หากเราทำให้อำนาจต่อรองของอาเซียนอ่อนแอลงถือเป็นสิ่งที่ผิด แม้หากอาเซียนยังมีจุดยืนแบบเดิมก็ไม่สามารถสะท้อนถึงความเสื่อมทรุดของสถานการณ์ได้แล้ว” นายหลี่ เสียน หลง กล่าว

อีกทั้งสถานการณ์ภาคพื้นดินในเมียนมา โดยเฉพาะความต้องการด้านมนุษยธรรมก็งคงเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง

แม้จะมีความพยายามอย่างยิ่งของประธานอาเซียนและทูตพิเศษของอาเซียน ก็ไม่ได้ทำให้ผู้นำทหารพม่ายอมโอนอ่อนผ่อนตามแต่ประการใด

อีกทั้งคำวิงวอนโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เมื่อเร็วๆ นี้ที่ขอให้ระงับคำสั่งประหารชีวิต 4 ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็ไม่ได้ผล เพราะกองทัพพม่ากลับเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของอาเซียน

"นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลและน่าผิดหวังอย่างยิ่ง" นายหลี่ย้ำ

และตอกย้ำถึงความจำเป็นของอาเซียนที่จะต้องรักษาความสามัคคีและความน่าเชื่อถือของอาเซียนให้สอดคล้องกับกฎบัตรของตน

และหากไม่มีตัวแทนจากพม่าในการประชุมในวันข้างหน้า นั่นย่อมแปลว่าผู้นำอีก 9 คนของอาเซียนก็จะเดินหน้าตัดสินใจดำเนินกิจการของอาเซียนโดยไม่มีส่วนร่วมจากพม่า

แต่มาตรการใหม่ครั้งนี้แม้จะแรงกว่าก่อน ผู้นำอาเซียนก็ยังถือว่าเมียนมายังเป็น "ส่วนสำคัญของอาเซียน" 

แปลว่ายังไม่ตัดเมียนมาออกจากอาเซียน ยังถือว่าเป็น “สมาชิกครอบครัว” ต่อไป

เพราะหากทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการลงโทษประชาชนเมียนมาด้วย

เพราะเป้าของการลงโทษครั้งนี้คือ มิน อ่อง หล่าย และกองทัพที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นจากประชาชน

เพราะผู้นำอาเซียนเห็นว่าระดับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในพม่าเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบไม่เพียงแค่เมียนมาเท่านั้น หากแต่ยังมีผลกระทบต่ออาเซียนในภาพรวมด้วย

สรุปว่าผู้นำอาเซียนหมดความอดทนต่อ มิน อ่อง หล่าย...และเดินหน้า “ลอยแพ” อย่างเป็นทางการแล้ว

สังเกตว่า ผู้นำอินโดฯ, สิงคโปร์ และมาเลเซียเป็นแกนนำของการผลักดันให้มีการเพิ่มมาตรการลงโทษ มิน อ่อง หล่าย เพราะเหลืออดเหลือทนแล้ว

ส่วนไทยเรายังคงใช้ “การทูตเงียบงัน” ต่อไป...จะปรับท่าทีเพื่อแสดงจุดยืนให้ชัดเจนกว่านี้เมื่อไหร่อย่างไรยังเป็นปริศนาต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน