ห้อยโหนฟุตบอลโลก

พ้นเอเปก ต่อ ด้วยฟุตบอลโลก

ไม่ใช่เรื่องเตะบอลครับ...

แต่เป็นเรื่องการเมือง เพราะนักการเมืองไทย นักเคลื่อนไหว ถนัดทำให้ทุกเรื่องไปเกี่ยวกับการเมืองได้ทั้งสิ้น

ที่จริงรัฐบาลไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเลย

มันไม่ใช่หน้าที่

แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลกลัวประชาชนด่า โทษฐานทำอดดูบอลโลก ก็เลยต้องมาเป็นโต้โผใหญ่จัดการจนทำให้คนไทยได้ดูบอลโลกฟรีครบทุกนัดอีกครั้ง

ฟุตบอลโลกครั้งที่แล้ว คือปี ๒๐๑๘ รัฐบาล คสช. อยากคืนความสุขให้ประชาชน ก็ใช้วิธีรวบรวมเอกชนยักษ์ใหญ่ ๙ ราย ลงขันซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขัน รวมทั้งหมด ๖๔ นัด กับฟีฟ่า ในราคา ๑,๔๐๐ ล้านบาท

เอกชน ๙ ราย ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, บริษัท  กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน),  ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท คิง เพาเวอร์  อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (มหาชน) และ บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด

ถ่ายทอดสดผ่าน ๓ ช่องทีวีดิจิทัล

ประกอบด้วย ช่อง ททบ.๕ ของกองทัพบก, ช่องทรูโฟร์ยู ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และช่องอมรินทร์ทีวี ธุรกิจในเครือไทยเบฟฯ

ไม่มีใครหัวเสียครับ มีแต่ฝ่ายการเมือง นักเคลื่อนไหวบางคนบ่นว่า รัฐบาลเผด็จการใช้บอลโลกเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนไปจากการปกครองของเผด็จการ มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ฟุตบอลโลก ๒๐๒๒ ต่างออกไป

คงจะเพลินกันไปหน่อยจนเวลาจวนเจียนบอลจะเตะอยู่แล้ว แต่ยังไม่รู้จะได้ดูกันหรือเปล่า ก็เพราะกฎมัสต์แฮฟ ไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าร่วมประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก เพราะต้องออกอากาศในฟรีทีวี

ก็กฎเดิมที่ก่อเหตุพิพาทระหว่าง กสทช. กับ อาร์เอส  ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี ๒๐๑๔ อยู่ก่อนการประกาศกฎดังกล่าว

อาร์เอส เอาไปฟ้องศาลปกครอง ผลคืออาร์เอส ไม่ต้องทำตามกฎมัสต์แฮฟ เนื่องจากเป็นการตกลงซื้อขายสิทธิ ก่อนกฎมัสต์แฮฟมีผลใชับังคับ

เดือดร้อนไปถึง คสช. เพราะกลัวโดนประชาชนด่า จึงสั่ง กสทช.ไปคุยกับอาร์เอส

ฝั่้งอาร์เอส ขอค่าชดเชยเป็นเงิน ๗๖๖ ล้านบาท

ฝั่งคณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) และ กสทช. มีมติชดเชยให้ ๔๒๗ ล้านบาท

สรุปคือช่อง ๕ ถ่าย ๓๘ นัด ช่อง ๗ ถ่าย ๒๙ นัด ช่อง  ๘ ของอาร์เอสถ่าย ๕๖ นัด โดยบางนัดถ่ายมากกว่า ๑  ช่อง

ครั้งนี้ กสทช. จ่ายไป ๖๐๐ ล้าน ตอนแรกลุ้นหนักว่า จะได้ดูหรือไม่               เวลาก็จวนเจียน สุดท้ายได้ ๙ บริษัทเอกชนร่วมลงขันเหมือนคราวก่อน

ประกอบด้วย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  ๓๐๐ ล้านบาท

น้ำแร่ธรรมชาติ ตราช้าง ๑๐๐ ล้านบาท

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ๑๐๐ ล้านบาท

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ๕๐ ล้านบาท

ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ๕๐ ล้านบาท

และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  ๕๐ ล้านบาท

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)  หรือ โออาร์ ๒๐ ล้านบาท

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ๒๐ ล้านบาท

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)  ๑๐ ล้านบาท

ที่เป็นประเด็นตอนนี้คือ ทางสมาคมทีวีดิจิทัลบอกว่าไม่เป็นธรรม บางช่องได้ถ่ายทอดมากเกินไป

อีกอย่างเป็นเงินจาก กองทุน กทปส. ๖๐๐ ล้านบาท ที่มาจากทีวีดิจิทัลทุกช่อง ฉะนั้นจะให้บางช่องถ่ายทอดมากเกินไปเพียงเพราะลงขัน ๓๐๐ ล้านไม่ได้

จริงๆ นะเพื่อความเป็นธรรม เอาตัวเลขเม็ดเงินที่ กสทช.ได้จากทีวีดิจิทัลแต่ละช่องที่ร่วมถ่ายทอดสดมากางก็ราวๆ ๑๕ ช่อง แล้วหาร ๖๐๐ ล้าน กับอีกช่องจ่าย ๓๐๐  ล้าน จะได้เอามาเทียบถูกว่า แต่ละช่องจะได้ถ่ายกี่คู่

คิดไปก็ปวดหัวครับ

แต่มีเรื่องที่ไม่คิดไม่ได้

วานนี้ (๒๑ พฤศจิกายน) ทั่นว่าที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ว่า

"ถ่ายทอดสดบอลโลก…๓๐๐ ล้านได้ถ่าย ๓๒ คู่และได้เลือกคู่เด็ดๆ ก่อน…๖๐๐ ล้านได้ที่เหลือ ๓๒ คู่…..ที่นี่ประเทศไทยที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงครับ"

มีคนเข้าไปถามว่า "Sansiri ออกเงินค่าลิขสิทธิ์บอลโลกกี่บาทคะ??"

ทั่นว่าที่นายกฯ จากพรรคเพื่อไทยก็ตอบว่า "ไม่ได้ออกครับ"

ก็ตามนั้น!

ตอนหาเงินมาเติม ๖๐๐ ล้านที่ตั้งเอาไว้โดย กสทช. มีแต่เสียงด่ารัฐบาลเฮงซวย บอลโลกจะเริ่มแล้วไม่รู้จักเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ  

เพราะรัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่เป็น แค่ถ่ายทอดบอลโลกไม่รู้จักวางแผนล่วงหน้า

ก็แล้วแต่จะสรรหาคำมาด่าครับ

แต่วันนั้นบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ในเครือข่ายของระบอบทักษิณ ไม่เห็นมีใครออกมาบอกว่าจะควักเงินเพื่อคนไทยได้ดูบอลโลกฟรีแม้แต่บริษัทเดียว

ในวันที่เงินพร้อมแล้ว เป็นไงครับ ออกมาเสี้่ยมทันที

ช่วงหลังมานี้ "เศรษฐา ทวีสิน" วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์อยู่บ่อยครั้ง

เวทีสัมมนาเมื่อเดือนที่แล้ว "เศรษฐา ทวีสิน" ตั้งวงวิพากษ์รัฐบาลว่า ตัวเลขมันบ่งชี้ชัดเจนทั้งดัชนีคอร์รัปชัน และปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งปัญหาของประเทศในปัจจุบันคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ

"...ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่มากี่ปีก็สอบตก ถ้าย้อนไปนิดนึงตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศก็เน้นย้ำเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก แต่ว่าผลที่ได้รับจากความมั่นคงทำให้การเมืองบนท้องถนนลดน้อยลง และการกินดีมีสุขของคนทั่วไปเดือดร้อนหมด แถมโดนวิกฤตโรคโควิด-๑๙  จึงทำให้เห็นว่า การเมืองไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง ทั้งในเรื่องสาธารณสุข การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ไข หรือทำอะไรที่ใกล้เคียงได้

การที่เราจะไปอีก ๕ ปีข้างหน้านั้น เราต้องยอมรับความจริงเรื่องปากท้อง อย่างตัวเลขกำไรของโรงกลั่น เช่น ไทยออยล์ ที่สูงถึง ๑,๒๐๐ ล้านบาท ขณะที่คนระดับเปราะบางเดือดร้อน การที่เรามีแผนระยะ ๕ ปีนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะนี้เราต้องแก้ไขเรื่องค่าครองชีพที่แพงในทุกมิติให้ได้ก่อน เรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นเรื่องใหญ่ มันเยอะเกินกว่าที่สังคมจะอยู่อย่างเป็นสุขได้ เป็นเรื่องที่ต้องคิด แต่คิดเฉยๆ ไม่ได้ มันถึงเวลาที่อาจจะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจใครหลายคน..."

ครับ...ถ้าจะให้แฟร์ ควรจะไปดูผลประกอบการของ Sansiri ด้วย

แค่ ๙ เดือนแรก ปี ๒๕๖๔ โกยกำไรสุทธิฯ ๑,๖๗๔  ล้านบาท โตพุ่ง ๕๔%

๖ เดือนแรกปี ๒๕๖๕ โกยไป ๑,๒๒๑ ล้านบาท

เห็นตัวเลขพวกนี้แล้วช่วยตีความกันหน่อยครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง