อันวาร์: เส้นทางแสนวิบาก ของนายกฯ มาเลเซียคนที่ 10

ผมสัมภาษณ์อันวาร์ อิบราฮิมครั้งล่าสุดเมื่อ 4 ปีก่อน...ตอนที่เขากัดฟันจับมือกับศัตรูคู่แค้นท่านผู้เฒ่าอดีตนายกฯมหาธีร์ โมฮัมหมัดเพื่อร่วมกันโค่นนายกฯนาจิบ ราซัคซึ่งเป็น “ศัตรูร่วม” ในขณะนั้น

เป็นการยืนยันสัจธรรมการเมืองว่านอกจากจะ “ไม่มีมิตรและศัตรูถาวร” แล้ว

ก็ยังปะเหมาะกับจังหวะของ “ศัตรูของศัตรูคือมิตรของเรา”

ปฏิบัติการครั้งนั้นประสบความสำเร็จ ทำให้มหาธีร์ในวัย 93 ขณะนั้นได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งหนึ่ง

ข้อตกลงเดิมที่มหาธีร์จะนั่งเก้าอี้นายกฯ 2 ปีแล้วส่งต่อให้อันวาร์กลายเป็นหมัน

เพราะมหาธีร์ไม่ยอมลงจากตำแหน่ง...ปล่อยให้อันวาร์อกหักอีกครั้งหนึ่ง

รวมความแล้วอันวาร์พยายามจะขึ้นเป็นนายกฯมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง

จนเมื่อวันพฤหัสฯที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาจึงประสบความสำเร็จในวัย 75

ขณะที่มหาธีร์ต้องประสบกับความปราชัยทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตการเมือง 53 ปี....ในวัย 97 

เป็นการสอบตกในเขตเลือกตั้งลังกาวีของตนเอง

คราวนี้จึงเป็นความปรีดายิ่งของอันวาร์ และความชอกช้ำเหลือหลายของมหาธีร์

ตอกย้ำถึงความน่าตื่นเต้นที่หลากไปด้วยสีสันแห่งการย้ายค่าย, หักหลัง, เหยียบซ้ำ, ล้างแค้นและประกาศไม่เผาผีกันอย่างจ้าละหวั่น

แม้ว่าจะได้เป็นนายกฯสมใจอยากแล้ว อันวาร์ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกหลายด้าน

เพราะแม้จะได้พรรคกลุ่ม BN ที่มี UMNO เป็นแกน 30 เสียงมาสนับสนุนตนบวกกับพรรค GPS จากซาราวัคอีก 23 เสียง รวมกับเสียงของกลุ่มตัวเองคือ PH อีก 82 เสียงจะรวมกันแล้วเป็น 135 เสียง

เกินกึ่งหนึ่งที่ 111 เสียงมาพอสมควร

แต่ก็ยังไม่อาจจะไว้วางใจได้เพราะ “งูเห่า” ของการเมืองมาเลเซียมีฟาร์มเพาะเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง สามารถจะเลื้อยเข้าออกจากได้ตลอดเวลา

ขึ้นอยู่กับอาหารที่ป้อนให้และอุณหภูมิของรังที่พักอาศัย

อันวาร์ถูกกลุ่ม PN ที่นำโดยอดีตนายกฯมูยิดดิน ยัซซินถามว่าแน่ใจได้อย่างไรว่าจะมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา ขอให้แสดงเอกสารที่มีรายชื่อมายืนยัน

เพราะตัวมูยิดดินเองอ้างว่ากลุ่มของตนมีเสียงรวมกับพรรคอื่นแล้วมี 115 เสียง เกินกึ่งเหมือนกัน

อันวาร์โต้ว่าจะพิสูจน์กันในสภาซึ่งจะมีการลงมติไว้วางใจรัฐบาลใหม่หรือไม่ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้

แน่นอนว่าอะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้หากมีการวิ่งเต้นให้ย้ายข้างโดยมีผลประโยชน์เป็นตัวล่อ

ต่อมาอีกหนึ่งวัน อดีตนายกฯมูยิดดินก็ออกมาแสดงความยินดีกับอันวาร์ในตำแหน่งนายกฯ

และทางกลุ่มของเขาจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบและถ่วงดุลในสภาก็แล้วกัน

อันวาร์เรียกรัฐบาลชุดของเขาที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่มีจุดยืนทางการเมืองกันคนละขั้วว่าเป็น Unity Government หรือรัฐบาลเอกภาพ

กึ่ง ๆ เป็นรัฐบาลแห่งชาติ...แต่ก็ยังมีฝ่ายค้านคือกลุ่ม PN ที่มีที่นั่งอยู่ 73 ที่นั่งในสภา

ยังจะมีการประลองกำลังกันได้ตลอดเวลาเช่นกัน

อันวาร์ประกาศในวันต่อมาว่าพร้อมจะเชิญชวนพรรคอื่น ๆ ที่เหลือมาร่วมในรัฐบาลสมานฉันท์อีก

พรรค UMNO ซึ่งเป็นแกนหลักของกลุ่ม BN นั้นเคยปกครองมาเลเซียมายาวนานตั้งแต่หลังได้รับเอกราชมา

ตัวอันวาร์และมหาธีร์เองก็มีจุดกำเนิดจากพรรค UMNO 

แต่เมื่อแตกออกมาแล้ว อันวาร์ก็วิพากษ์ UMNO อย่างหนักโดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่น

เคยประกาศว่าจะไม่เผาผีกับพรรคนี้ และจะไม่มีวันทำงานร่วมกันได้

โดยเฉพาะหลังเกิดกรณีฉ้อฉลอย่างใหญ่หลวงจากกองทุนรัฐบาล 1MDB ที่อดีตนายกฯนาจิบ ราซัคกลายเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญ

วันนี้นาจิบติดคุก แต่อันวาร์จำใจต้องจับมือกับ UMNO เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

จึงมีภาพของคนเคยติดคุกเกือบ 10 ปีอย่างอันวาร์เดินเข้ารับตำแหน่งนายกฯ

ขณะที่นาจิบ ราซัคต้องเดินออกจากทำเนียบนายกฯไปเข้าคุก

เป็นความย้อนแย้งของการเมืองมาเลเซียที่ต้องจารึกกันไปอีกนาน

ส่วนท่านมหาธีร์นั้น หลังจากสอบตกจนกลายเป็นเรื่องช็อกไปทั่วประเทศแล้วก็เงียบไปหลายวัน 

ในที่สุดเมื่อวันศุกร์ เขาก็ขึ้นข้อความแสดงความยินดีกับอันวาร์ ในตำแหน่งนายกฯพร้อมข้อความสั้น ๆ ประโยคเดียว

“ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับดาโต๊ะศรี อันวาร์ อิบราฮิม  เนื่องในวาระได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของมาเลเซีย..  ด้วยความปรารถนาดี”

ความสัมพันธ์ระหว่างมหาธีร์กับอันวาร์ก็เป็นตำนานที่ต้องเล่าขานกันไปอีกนาน

อันวาร์ตอนหนุ่มเป็นนักกิจกรรมการเมืองจากปีนัง

เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองวาทะแหลมคนไฟแรง  

มหาธีร์เห็นศักยภาพ จึงดีงเข้าพรรคUMNO ในปี 1982

จะเรียกว่าเป็น “เด็กปั้น” จากสำนักมหาธีร์ก็ไม่ผิดนัก

เพราะไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น อันวาร์ก็ขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ช่วงนั้นคนข่าวอย่างผมและแวดวงสื่ออาเซียนเห็นตรงกันว่าอันวาร์คือ “ทายาททางการเมือง” ที่มหาธีร์วางตัวมารับช่วงแทนค่อนข้างแน่นอน

เขาคือเบอร์สองรองจากมหาธีร์อย่างชัดเจน

อันวาร์เคยให้สัมภาษณ์ผมว่าการเป็นเบอร์สองนั้นอันตรายที่สุด

“เพราะถ้าคุณเป็นเบอร์สอง เบอร์หนึ่งจะเริ่มระแวงว่าคุณจะวัดรอยเท้าเขา และเบอร์สามก็จะพยายามกำจัดคุณให้ตกจากตำแหน่งเพื่อเขาจะได้ขึ้นมาเป็นเบอร์สอง....”

นั่นคือสัจธรรมของการเมืองอีกหนึ่งข้อ

หมายความว่าถ้าเล่นการเมืองก็ให้เป็นเบอร์หนึ่งหรือเบอร์สาม...อย่าได้วางตัวเป็นเบอร์สองนานเกินไป

เพราะคุณจะกลายเป็นเป้าของการทำลายล้างทั้งจากข้างบนและข้างล่าง

รอยร้าวระหว่างมหาธีร์กับ “ตัวตายตัวแทน” ที่ชื่ออันวาร์เกิดขึ้นชัดเจนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 หรือ “ต้มยำกุ้ง” ในไทย

แม้ว่าในช่วงนั้นอันวาร์จะเป็นหนึ่งในขุนศึกใหญ่ของ UMNOในช่วงที่พรรครุ่งเรืองอำนาจล้นฟ้า  

แต่ยิ่งสูงยิ่งหนาว และถ้าร่วงลงมาจากที่สูงก็จะเจ็บหนักกว่าตกจากที่ต่ำ

มหาธีร์ต้องการจะยืนหยัดไม่ยอมตามแรงกดดันตะวันตกโดยเฉพาะจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ที่จะให้ประเทศต่าง ๆ ยอมให้ค่าเงินลอยตัวตามตลาด

แต่มหาธีร์ไม่ยอมเดินตามเส้นทางนั้น

เขาประกาศกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลริงกิตมาเลเซียกับดอลล่าร์ตายตัว ไม่ขึ้นลงตามความผันผวนของโลกในขณะนั้น

ขณะที่ไทยยอมเข้ารับความช่วยเหลือ IMF และปล่อยให้เงินบาทลอยตัวเหมือนที่อินโดนีเซียยอมในขณะนั้น

เงินบาทลอยตัวจาก 20 กว่าบาทไปอยู่ที่กว่า 52 บาทต่อดอลล่าร์ ทำให้ยอดเงินกู้ต่างประเทศของทั้งรัฐและเอกชนพุ่งพรวดพราดตนเจ๊งกันระนาว

มหาธีร์ไม่ยอมเข้า IMF แต่อันวาร์ในฐานะรัฐมนตรีคลังเห็นต่าง ยืนยันว่ามาเลเซียไม่อาจจะต้านแรงกดดันของนานาชาติได้

อันวาร์เห็นว่าการยึดอัตราแลกเปลี่ยนตายตัวของรัฐบาลจะเป็นอันตรายต่ออนาคตของเศรษฐกิจ

มหาธีร์ตัดสินใจ “จัดการ” กับอันวาร์เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าอันวาร์ไม่อาจจะเป็น “ทายาททางการเมือง” ได้อีกต่อไป

มหาธีร์พิสูจน์ว่าเขาสามารถจะยันแรงกดดันต่างชาติได้ และพาให้มาเลเซียรอดจากวิกฤตจนเป็นที่แปลกใจของนานาชาติ

ไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น มหาธีร์ก็ปลดอันวาร์...และไม่เพียงแต่เท่านั้นยังตั้งข้อหาเบอร์สองของเขาอย่างรุนแรง

อันวาร์ติดคุกยาวหนึ่งทศวรรษด้วยข้อหาเพศสัมพันธ์ไม่ปกติและคอร์รัปชั่น

(พรุ่งนี้: ที่มาและที่ไปของอันวาร์นายกฯคนที่ 10 ของมาเลเซีย)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน