ท่ามกลางเสียงประท้วง สี จิ้นผิง จะเลือกทางไหน?

เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนถูกการประท้วงที่กระจายตัวไปหลายเมืองท้าทายอำนาจชัดเจนเช่นนี้ เราคาดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศจีนจากนี้ไป?

ทางเลือกของผู้นำจีนวันนี้มีจำกัด เพราะจะอ่อนไปก็ไม่ได้ แข็งไปก็ไม่ดี

“ทางสายกลาง” นั้นพูดง่าย แต่นำมาปฏิบัติยากยิ่ง

เพราะต้องถ่วงดุลระหว่างหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่หลายเรื่องอาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้มีอำนาจในจีนด้วยก็ได้

สำหรับผู้ประท้วง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และนักศึกษาที่ได้ออกมาแสดงตนว่าไม่ได้เพียงต้องการจะผ่อนปรนนโยบาย “โควิดต้องเป็นศูนย์” เท่านั้น

หากแต่ยังเรียกร้องไปถึงการให้ “เสรีภาพแห่งการแสดงออก” รวมไปถึง “เสรีภาพของข่าวสาร” และ “นิติรัฐ” กับ “ความโปร่งใส” ด้วย

นั่นคือการข้ามเส้นของเรื่องการควบคุมโรคระบาดเข้าสู่เสรีภาพทางการเมืองที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่อาจจะยอมถอยได้

เพราะการดำรงอยู่ของพรรคอยู่ที่ความสามารถควบคุมและกำกับกิจกรรมทางการเมืองของสังคม

เสียงเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาร่วมการประท้วงครั้งนี้อาจจะยังห่างไกลจากการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาจีนในเหตุการณ์ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” ที่ถูกปราบปรามอย่างหนักเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989

แต่ดูเหมือนว่าเมื่อเราได้เห็นและได้ยินเสียงเรียกร้องเหล่านี้ในหลายๆ เมืองหลักของจีนตลอดหลายวันที่ผ่านมา ก็เป็นเสียงสะท้อนจากในอดีตเมื่อ 33 ปีเช่นกัน

ต่างกันเพียงแต่ว่าวันนี้คนรุ่นใหม่ได้สรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ 1989 และเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

เช่น การประท้วงแบบอารยะขัดขืนด้วยการยืนชูกระดาษเปล่าในที่สาธารณะเพื่ออ้างได้ว่าไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย

หรือร่วมกันร้องเพลงชาติและเพลงรักชาติของจีน...เพื่อไม่ให้ทางการอ้างว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวทำนองบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ

นักศึกษาคนหนึ่งตะโกนกลางวงประท้วงว่า

 “เราร้องเพลงชาติมันไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร การประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ก็เริ่มด้วยการร้องเพลงชาติเช่นกัน”

ข้อเรียกร้องของนักศึกษามหาวิทยาลัยชิงหวาต่อทางการมี 3 ข้อที่ไม่ได้ระบุถึงการเรียกร้อง       “เสรีภาพและประชาธิปไตย” ทางการเมืองในภาพกว้าง

แต่เป็นการจำกัดเฉพาะที่เกี่ยวกับการประท้วงเรื่องมาตรการโควิดเป็นหลัก

นั่นคือ หนึ่ง ให้ปล่อยผู้ประท้วงที่ถูกจับออกมาโดยไม่มีเงื่อนไข โดยยอมรับ “ความชอบธรรม” ของการประท้วงครั้งนี้ว่ากระทำไปอย่างถูกกฎหมายเพื่อความถูกต้องชอบธรรม

สอง...ให้ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่เอาผิดกับผู้ประท้วงเหล่านี้ด้วยประการทั้งปวง และจะไม่มีการ “เช็กบิล” ภายหลัง

และสาม...ให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นออกกฎหมายยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดที่เข้มข้นเกินเหตุ โดยให้ตราเป็นกฎหมายและให้ผ่านที่ประชุมสภาประชาชนที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า

ทั้งหมดนี้ในคำเรียกร้องนั้น นักศึกษายืนยันว่าต้องทำเป็นตัวหนังสืออย่างเป็นทางการ

เพราะไม่เชื่อในคำมั่นสัญญาด้วยวาจาอีกต่อไป...เนื่องจากมีตัวอย่างในอดีตว่าการรับปากของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้จริงใจและมิได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญคือ เจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นต้องดำเนินการมาตรการโควิดอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมผ่อนปรนตามสถานการณ์ในแต่ละท้องที่ก็เพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกรัฐบาลกลางลงโทษ

เจ้าหน้าที่รัฐกลัวเจ้านายตัวเองที่ปักกิ่งมากกว่ากลัวประชาชนที่เดือดร้อน

ทุกคนต้องการจะรักษาเก้าอี้ตัวเอง เพราะผู้กำชะตากรรมของพวกเขาไม่ใช่ประชาชนในชุมชน หากแต่คือหัวหน้าในสายงานของตนในเมืองหลวง

จึงเป็นที่มาของการใช้กฎกติกาเดียวกันสำหรับทุกท้องถิ่น ทั้งๆ ที่สถานการณ์ในแต่ละชุมชนนั้นมีความแตกต่างกันพอสมควร

คำถามใหญ่วันนี้คือ สี จิ้นผิง จะใช้วิธีแบบเดียวกับเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ส่งรถถังและหน่วยปราบปรามจลาจลออกมาปราบปรามผู้ประท้วงหรือไม่

หากจะเลือกระหว่าง “ไม้แข็ง” กับ “ไม้นวม” ผมเชื่อว่า สี จิ้นผิง มีแนวโน้มที่จะใช้ไม้แข็งมากกว่า

เพราะการแสดงท่าทียอมถอยหรือประนีประนอมกับผู้ประท้วงอาจจะถูกตีความว่าเป็น “ผู้นำที่อ่อนแอ”

ในขณะที่ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ได้พยายามกระชับอำนาจมาอยู่ที่ตัวเองเกือบจะทั้งหมด

เขาต้องการจะแสดงภาพของการเป็น “ผู้นำที่เข้มแข็งที่ประชาชนพึ่งพาได้”

แทนที่จะเป็น “ผู้นำที่ประชาชนชื่นชอบและพร้อมจะแบ่งปันอำนาจกับเสียงของเจ้าของประเทศ”

แต่นั่นคือความยากลำบากสำหรับสี จิ้นผิง

เพราะเขาย่อมจะตระหนักว่าการที่คนรุ่นใหม่ออกมาร่วมประท้วงครั้งนี้อย่างคึกคักนั้นเป็นสิ่งที่เขาเองไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ได้แสดงถึงความเข้าใจที่ว่าเขาได้นำพาประเทศให้ก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในการสร้างอาชีพที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก

จากคำกล่าวของผู้นำจีนที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่าพวกเขามีความมั่นใจว่าคนรุ่นใหม่ของจีนไม่เหมือนคนรุ่นใหม่ทางตะวันตก...ในประเด็นที่ว่าคนหนุ่มสาวของจีนยุคนี้มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนจีน และไม่ได้มีความเลื่อมใสในเรื่องของ “เสรีภาพของการแสดงออก” หรือ “ประชาธิปไตย” เหมือนตะวันตกแต่อย่างไร

แต่การแสดงออกของผู้ประท้วงเรื่องโควิดรอบนี้กลับไม่ได้เป็นไปในแบบที่ผู้นำจีนเคยคาดคิดเอาไว้

เพราะการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองแบบส่วนบุคคลแทนที่จะเน้น “ความมั่นคงของสังคมจีน” โดยไม่ท้าทายอำนาจรัฐและพรรคนั้นเป็นสิ่งที่ออกนอกกรอบของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่น้อยเลย

น่าสนใจอย่างยิ่งว่า เมื่อ สี จิ้นผิง ที่ต้องการเน้น “ความเป็นจีนยุคใหม่ที่แตกต่างไปจากตะวันตก” กำลังเผชิญกับเสียงเรียกร้องขอ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” มายืนอยู่ตรง “ทางแยก” ที่ต้องเลือกเดิน

การตัดสินใจของท่านผู้นำจะเลือกเดินทางไหน จะเป็นตัวชี้ถึงทิศทางของประเทศจีนในวันข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย