คำเตือนจากผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ : การเมืองอย่าขายนโยบายแปลกๆ!

เมื่อวานผมเล่าเรื่องที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย คุยกับบรรณาธิการข่าวอาวุโสว่าด้วยมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์และผู้นำระดับโลก จากเวทีการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่มีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้

อีกประเด็นใหญ่คือ เศรษฐกิจไทยจะสามารถตั้งรับเรื่องช็อกของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าได้มากน้อยเพียงใด

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวและมีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบแรงๆ ได้ดีกว่าที่อื่น

 “ปีหน้าจะมีข่าวไม่ค่อยดีเกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดขึ้น...”

เพราะเศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการรับมือเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ กับช็อกในลักษณะนี้ได้ดีกว่าที่อื่น มีภูมิคุ้มกันดีเทียบกับที่อื่น

 “เศรษฐกิจไทยนั้นยัง take off อยู่ การคาดการณ์อะไรก็ยังคงอยู่ เพราะปัจจัยที่เอื้อให้ไทยฟื้นตัวยังไม่เปลี่ยนแปลงไป หลักๆ การฟื้นฟูมาจากการบริโภคในประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว ส่วนเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงก็คาดไว้แล้ว...”

แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่า การฟื้นตัวของไทยอาจจะไม่ราบรื่นนัก

ท่านบอกว่าปัญหาเงินเฟ้อของโลกก็ยังไม่น่าวางใจ ไม่ลงง่าย

สำหรับประเทศไทย นโยบายเดิมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ยังเหมาะสมอยู่

เพราะบริบทต่างๆ ไม่เหมือนประเทศอื่น

อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่เหมือนที่อื่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็ไม่เหมือนที่อื่น เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว และมีหนี้สูง ถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ก็มีโอกาสที่จะไม่ฟื้นตัวอย่างที่อยากเห็น

ดร.เศรษฐพุฒิบอกว่า “เวลาผมไปต่างประเทศทีไรก็จะถูกต่อว่าเยอะมาก ว่าทำไมขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้ แต่ที่อื่นขึ้นแบบเต็มที่ทันที (front-load)                ภาวะเขาต้องเหยียบแรง ก็ได้อธิบายไปว่าประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยแบบ front-load อาจจะเหมาะสม เพราะเงินเฟ้อวิ่งไปแรง แต่ front-load สำหรับเราไม่เหมาะสม

แต่การดำเนินนโยบายแบบนี้ก็มีผลต่อค่าเงินอาจจะเคลื่อนไหวไปทางอ่อนค่า ซึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนัก

ท่านบอกว่าเรื่องนี้ “มีหลายอาการ”

นั่นแปลว่าจะต้องเลือกอาการไหนมีผลระยะยาวกว่า เช่น ค่าเงินบาทที่บางช่วงอ่อน อ่อนเสร็จก็กลับมาแข็ง

แต่ดอกเบี้ยถ้าขึ้นไปแล้วจะมาลง ก็ไม่ใช่ ถ้าขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องขึ้นต่อเนื่อง

การขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่รายได้คนยังไม่ขึ้น จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และคงกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็จะเป็นเอ็นพีแอลไปอีกยาวนาน

ขณะที่ค่าเงินแข็งแล้ว ก็อ่อนค่าได้ และก็มีสิทธิ์จะแข็งค่าได้…

 “ไม่ใช่ไม่สนใจเรื่องเงินอ่อน แต่ก็ดูแลไม่ให้อ่อนเกินไป และโดยพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เงินบาทไม่อ่อนไปจนกระทบเสถียรภาพ ซึ่งช่วงหลังก็จะเห็นว่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ ที่ช่วงแรกจะเห็นว่าสูงมาก 7.9% แต่จะเห็นว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงตามที่มองไว้ แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้อของไทยไม่เหมือนในต่างประเทศที่ขึ้นแล้วไม่ยอมลง...” ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติอธิบาย

 “ถ้าในระยะยาว มีการแบ่งขั้วกันจริงๆ ประเทศอย่างไทยจะเหนื่อย ส่วนภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น เกิดขึ้นได้ก็ฟื้นตัวได้...”

อีกเรื่องหนึ่งที่น่ากังวลสำหรับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคือการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะ “นโยบายแปลกๆ จากการหาเสียง”

นั่นเป็นความเสี่ยงที่ต้องระวังให้มาก

มีบทเรียนจากต่างประเทศที่ชัดเจน คือ อังกฤษ

ตัวอย่างจากที่นั่นคือ ตลาดจะ “ลงโทษ” นโยบายที่นักลงทุนใช้ศัพท์ว่าเป็น “นโยบายโง่เขลา” หรือ stupid policy และการทำอะไรผิดพลาด ยังต้องจ่าย “ค่าโง่” หรือ stupid premium อีกต่างหาก

สำหรับนโยบายแปลกๆ ที่เห็นอยู่และค่อนข้างกังวลนั้น ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยกมาให้เห็นตัวอย่าง

เช่น นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับหนี้

เช่น พักหนี้เท่านี้ปี หรือพักหนี้แล้วพักดอกเบี้ยด้วย ไม่คิดดอกเบี้ย

 “ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่ทำแบบนี้”

จากเดิมไทยถูกวางในจุดที่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะปัจจัยพื้นฐาน

แต่หากเริ่มมีนโยบายที่ไม่สนใจวินัยการเงินการทอง ภาพก็จะเปลี่ยน ไทยก็จะถูกมองว่ามีความเสี่ยงทางการเมืองสูง ทำอะไรแปลกๆ ทำอะไรที่กระทบต่อเสถียรภาพ

 “อะไรที่ทำแล้วอาจจะฟังดูดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมีผลข้างเคียงเยอะ ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี เช่น การที่จะลบข้อมูลเครดิตบูโร เข้าใจว่าเป็นวิธีซื้อใจคน หาเสียง แต่มันมีผลข้างเคียง และท้ายที่สุดคนจะยิ่งเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบอกว่า การพักหนี้ ไม่ได้ลดหนี้ หนี้ยังอยู่ แล้วไม่คิดดอกอีก ยิ่งไปกันใหญ่

ภาษาฝรั่งเรียกว่าเป็น “massive moral hazard”

ดร.เศรษฐพุฒิยืนยันว่า ถ้านโยบายการเงินการคลังไม่ประสานกัน ตลาดก็จะปั่นป่วน อย่างอังกฤษที่เห็นกันก็เพราะเหตุนี้ มีการประกาศนโยบายว่าจะลดภาษี แต่การชดเชย (financing) งบประมาณไม่พูดถึง”

การพูดเช่นนี้อาจจะมีคนไม่ชอบใจ เพราะไม่ให้ประชานิยม

แต่เขายืนยันว่าประเทศต้องเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการกระตุ้น

ณ จังหวะนี้ เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมีการระบาดของโควิดที่มีผลกระทบหนัก

แต่ตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าแม้จะฟื้นช้าแต่ฟื้น

การที่จะเหยียบคันเร่งตลอดเวลาไม่เหมาะสม

ส่วนทางการคลังก็ได้เห็นว่า กำลังที่จะรวบ (consolidate) นโยบาย และหากละเลยเรื่องเสถียรภาพ ตลาดก็จะมาตีกระทบ

ฉะนั้น ถ้าดูจากปัจจัยพื้นฐานของไทยดีอยู่แล้ว อย่าสร้างความเสี่ยงของเราเพิ่มเติม

 “ความเสี่ยงด้านนี้มีพอสมควร เพราะเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ปัจจัยโลกเราคงควบคุมไม่ได้ ปีหน้าอาจจะไม่ราบรื่น ยกเว้นสร้างภูมิคุ้มกันไว้ แต่ตัวเราอย่าไปสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติม...”

การออกนโยบายตอนหาเสียงก็ขอว่า อย่าออกอะไรที่แปลกๆ แล้วคำนึงถึงผลข้างเคียง ถ้าคิดผลระยะสั้น ไม่คิดถึงระยะยาว ไม่คิดถึงผลข้างเคียง

ดร.เศรษฐพุฒิย้ำว่า บทเรียนจากอังกฤษสอนเราว่า

ถ้าออกนโยบายแบบ “โง่ๆ” ไร้ตรรกะ เพียงแต่จะเอาใจเพื่อหาเสียง ตลาดก็จะลงโทษ...และลงโทษหนักเสียด้วย

ทราบแล้วเปลี่ยน!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน