‘รัฐประหารทำให้พม่า ถอยหลัง 20 ปี...’

เมื่อวานผมเขียนถึงนักวิชาการชาวออสเตรเลียที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าจำคุกเกือบ 2 ปีตอบคำถามเกี่ยวกับชีวิตในคุกพม่าที่ค่อนข้างจะโหดร้าย

วันนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่น่าสนใจเพราะน้อยคนที่ติดคุกพม่าแล้วจะเล่ารายละเอียดของชีวิตในนั้น

เหตุก็เป็นเพราะส่วนใหญ่กลัวว่าหากพูดความจริงแล้วอาจจะถูกไล่ล่าอีก

ฌอน เทิร์นเนลล์ เป็นนักวิชาการชาวออสเตรเลียที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในเมียนมาก่อนการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว

ฌอน เทิร์นเนลล์ วันที่ออกจากคุก...ถ่ายกับ Angela Corcoran รักษาการเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำพม่า

 

เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากคุกโดยคณะทหารในการนิรโทษกรรมทั่วไปเมื่อวันที่ 17 พ.ย.

หลังจากติดคุกนานกว่า 650 วัน

โดยถูกตัดสินจำคุก 3 ปีฐานละเมิดกฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการของรัฐบาลเมียนมา

ทั้งๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD ภายใต้การนำของอองซาน ซูจี

มีคำถามว่า ก่อนจะถูกส่งเข้าเรือนจำ เขาถูกสอบสวนก่อนหน้านั้นอย่างไร

เทิร์นเนลล์บอกว่าถูกสอบอยู่สองเดือน และที่กักขังนั้นมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมแคบๆ

 “มันเกือบจะเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก ไม่มีหน้าต่าง มันไม่มีอะไรเลยนอกจากพื้นคอนกรีตและเก้าอี้เหล็ก มันถูกตรึงไว้กับพื้นและมีโซ่และผ้าพันข้อเท้า และฉันถูกขังไว้ที่นั่นเป็นเวลาสองเดือนโดยไม่มีการติดต่อใดๆ กับสถานทูตออสเตรเลีย … เจ้าหน้าที่จะเข้ามาในห้องเมื่อใดก็ได้-กลางวัน กลางดึก กลางคืนโดยไม่บอกล่วงหน้า และไม่ระบุตัวเองด้วยซ้ำว่าเป็นใครมาจากหน่วยงานไหน...”

เขาบอกว่าบ่อยครั้งเขาไม่ค่อยแน่ใจว่ากำลังคุยกับหน่วยงานราชการพิเศษอยู่หรือเปล่า

หรือเป็นหน่วยข่าวกรองทางทหาร

ท้ายที่สุดก็สรุปว่าคนที่มาสอบเขาก็คงเป็นเจ้าหน้าที่ผสมผสานของสองหน่วยงานนี้แหละ

เทิร์นเนลล์บอกว่า “นั่นเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุด”

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใดๆ

และในการจับกุมเขานั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงเหตุผลใดๆ ในเวลาใดๆ

ไม่มีหมายศาลหรือเอกสารใดๆ ที่จะบ่งบอกว่าการตั้งข้อหานั้นมาจากหลักฐานหรือข้อมูลใด

อีกทั้งยังไม่ได้กระทำตามกระบวนการที่สอดคล้องกับความชอบธรรมใดๆ

มันอาจจะไม่ใช่การทรมานทางร่างกาย แต่เป็นการทรมานทางจิตใจอย่างแน่นอน

 “และผมถูกบอกเล่าว่าจะไม่ได้เจอหน้าภรรยาและครอบครัวอีกแล้ว...”

ฌอน เทิร์นเนลล์ กับอองซาน ซูจี

 

 

อาจารย์จากออสเตรเลียคนนี้บอกว่าเขาติดโควิดในห้องขังด้วย...ได้รับการปฏิบัติอย่างไร?

เทิร์นเนลล์บอกว่าเจ้าหน้าที่ดูเหมือนจะปฏิบัติต่อเขาค่อนข้างจะระมัดระวัง

 “ผมคิดว่าพวกเขาแค่กังวลว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับผม ประชาคมระหว่างประเทศจะลุกฮือขึ้นมาจริงๆ...”

เจ้าหน้าที่ไม่ได้สนใจมากนักว่าเขาจะป่วยไข้หรือไม่ แค่ค่อนข้างกังวลว่าเขาจะตายระหว่างถูกคุมขัง

 “ดังนั้น ผมก็มักจะได้ไปพบแพทย์เมื่ออาการไม่สบายเกิดร้ายแรงขึ้นมา”

เทิร์นเนลล์บอกว่าเขาคิดโควิดในคุกถึง 5 ครั้ง

อาหารในเรือนจำเป็นอย่างไร?

 “มันแย่มาก ทุกวันมีซุปถั่ว ข้าวต้ม เป็นข้าวที่ดูแล้วน่ากลัวเพราะบ่อยครั้งก็เจอเศษหินในนั้น ตอนเคี้ยวต้องระวังไม่ให้ฟันหัก ชิ้นเนื้อที่ดีที่สุดถูกขายโดยทางการในตลาดมืด และสิ่งที่เหลือถึงเราคือกระดูก ขนแปรง และกากมัน

ข้อหาที่ทางการยัดเยียดใส่เขาคือละเมิดกฎหมายว่าด้วยความลับทางราชการ

เขาตอบว่า “มันเป็นเรื่องไร้สาระโดยสิ้นเชิง พวกเขาบอกว่าผมละเมิดความลับทางราชการ แต่ทั้งหมดที่เราทำเป็นเรื่องข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานทั้งนั้น...”

เขาบอกว่ารัฐบาลทหารพม่ากระทำการภายใต้ระบอบการปกครองที่ผิดกฎหมายและไม่มีความชอบธรรม

 “ดังนั้น ในแง่มุมทางกฎหมายจึงเป็นเรื่องหลอกลวงโดยสิ้นเชิง และรัฐบาลก็รู้เรื่องนั้นดี บางครั้งพวกเขาไม่สนใจที่จะแสร้งทำเป็นว่าพวกเขากำลังทำผิดกฎหมายด้วยซ้ำ”

ในฐานะเป็นนักวิชาการที่ทำงานกับพรรค NLD ของอองซาน ซูจี เขามองสถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้อย่างไร?

เทิร์นเนลล์: “แย่มาก เศรษฐกิจพื้นฐานถูกทำลายลงไปแล้ว สัดส่วนของประชากรเมียนมาที่เสียชีวิตจากความยากจนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว อัตราแลกเปลี่ยนพังทลายลงแล้ว...”

เขาบอกว่าการลงทุนจากต่างประเทศและโครงการพัฒนาที่ดีทั้งหลายทั้งปวงล้วนพังทลายและถูกตัดออกไปทั้งหมด

 “เหมือนประเทศถอยหลังไป 20 ปีที่แล้ว ประเทศก้าวถอยหลังไปมากแล้วในขณะที่ประชาชนชาวเมียนมาต้องทนทุกข์ ทหารก็ยังดูแลตัวเองได้..”

 “ไม่ไกลเกินความจริงเลยที่จะบอกว่ากองทัพพม่าได้ทำให้ประเทศพังพินาศไปแล้ว”

เขาถูกถามว่าถ้ามีโอกาสในวันข้างหน้า เขาจะช่วยเมียนมาอีกไหม?

เทิร์นเนลล์บอกว่าเขาแน่ใจและพร้อมจะช่วยเมียนมาอีก

 “หนึ่งในคนสุดท้ายที่พูดกับผมตอนที่ผมถูกส่งตัวกลับเมื่อเดือนที่แล้วเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งซึ่งบอกผมว่า

 “ได้โปรดอย่าเกลียดเมียนมา” 

และผมก็ตอบเขาไปว่า “ผมไม่เคยเกลียดพม่าเลย ผมรักชาวเมียนมา แต่ผมเกลียดระบอบการปกครองเผด็จการทหารอย่างนี้...แต่ผมรักประชาชน พวกเขากล้าหาญและแข็งแกร่งและดีกับผมอย่างมากตลอดมา”

อาจารย์ออสเตรเลียคนนี้บอกต่อว่า

 “ผมไม่มีอะไรนอกจากความรักและความเคารพต่อชาวเมียนมาและจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยต่อไป”

ถามว่าเขาอยากบอกอะไรเกี่ยวกับรัฐบาลทหารต่อประชาคมโลกบ้าง เทิร์นเนลล์บอกว่า

 “เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดพวกเขาออกไป หรือไม่ก็พูดตรงๆ กับพวกเขา พยายามโน้มน้าวให้พวกเขาหลีกทางและปล่อยให้ชาวเมียนมาอยู่ตามลำพัง มีความก้าวหน้าอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งนำไปสู่สิ่งนี้ พวกเขาได้ยกเลิกทุกอย่างไปแล้ว เป็นระบอบที่ไม่มีวิสัยทัศน์ … แต่เป็นระบอบที่ไม่ฉลาดนัก ไม่มีความคิด ไม่มีความเข้าใจเรื่องเศรษฐศาสตร์เลย”

เขาอยากบอกอะไรกับชาวเมียนมา?

เทิร์นเนลล์ตอบ: “ผมรักและเคารพคนพม่า ผมจะอยู่ที่นี่กับคุณเสมอ”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ