สี จิ้นผิง กับความท้าทาย ของ ‘ขบวนการกระดาษ A4’

 เรื่องที่ต้องจับตาหลังรัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด เพราะมีการประท้วงในหลายเมืองก็คือ : สี จิ้นผิง จะเดินหน้านโยบายการเมืองเคียงคู่กับการปรับเปลี่ยนแนวทาง “โควิดต้องเป็นศูนย์” อย่างไร

น่าสังเกตว่า สี จิ้นผิง กำลังพยายามประคับประคองสถานการณ์ด้วยการไม่สั่งให้มีการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างชัดเจนนัก

แม้จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิวัติ A4” หรือ “ปรากฏการณ์ชูกระดาษเปล่าสีขาว”

อันหมายถึงการที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งยืนชูกระดาษสีขาวเปล่าๆ อยู่ในที่สาธารณะเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล...ซึ่งทำท่าจะลามจากประเด็นเรื่องโควิดไปเป็นการเรียกร้องทางการเมือง

เสียงตะโกน “สี จิ้นผิง จงลงจากตำแหน่ง พรรคคอมมิวนิสต์จีนจงลงจากอำนาจ” จากผู้ประท้วงบางกลุ่มนั้นเป็นภาพและเสียงที่ไม่ค่อยได้เห็นหลังจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 หรือ 33 ปีก่อน

หากมองย้อนกลับไปในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง การออกมาเรียกร้องต่อต้านผู้นำสูงสุดและพรรคคอมมิวนิสต์เช่นนี้ย่อมต้องตามมาด้วยการปราบปรามอย่างเด็ดขาด

เพราะพรรคคอมมิวนิสต์มิอาจจะยอมให้มีกลุ่มคนใดออกมาแสดงอาการกระด้างกระเดื่องตรงๆ เช่นนี้

แต่จีนยุคดิจิทัลวันนี้กับจีนยุคเติ้งย่อมมีความแตกต่างกันอย่างมาก

สมัยก่อนไม่มีโซเชียลมีเดีย และรัฐบาลจีนสามารถปิดและเซ็นเซอร์ข่าวได้อย่างเบ็ดเสร็จ

อีกทั้งจีนยุคนั้นไม่จำเป็นต้องสนใจกับปฏิกิริยาของประชาคมโลกมากนัก

แต่จีนวันนี้คือจีนที่ต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลก และมีความละเอียดอ่อนในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ

สมัยก่อนจีนอาจจะไม่แคร์ต่อเสียงจากข้างนอกตราบเท่าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้

แต่วันนี้ข่าวคราวแพร่และกระจายตัวไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว

แม้ว่าทางการจีนจะสามารถกำกับควบคุมเนื้อหาในโซเชียลมีเดียของตัวเองได้ แต่ข่าวสาร, คลิป, เสียงและภาพของเหตุการณ์ภายในถูกส่งขึ้นในโซเชียลมีเดียข้างนอกได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

คนจีนวันนี้แม้จะถูกกำกับดูแลว่าด้วยความสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภายในได้ แต่ก็สามารถรับรู้ถึงข่าวคราวในเวทีระหว่างประเทศอย่างทั่วถึงเช่นกันด้วยเทคโนโลยีที่อำนาจรัฐไม่อาจจะขัดขวางได้ในทุกกรณี

แต่กระนั้นก็ตาม สี จิ้นผิง ก็คงจะตกใจกับปฏิกิริยาของคนจีนจำนวนหนึ่งที่ออกมาประท้วงอย่างเปิดเผย และส่งเสียงโกรธแค้นอย่างไม่หวั่นเกรงการจะถูกปราบปราม

ตลอด 10 ปีที่ สี จิ้นผิง ปกครองประเทศในฐานะผู้นำสูงสุด ตัวเขาเองและคนรอบข้างคงจะมีความมั่นใจว่าประชาชนคนจีนส่วนใหญ่มีความพอใจกับสถานภาพของตัวเองและสังคมในภาพรวม

สี จิ้นผิง ย่อมจะต้องเชื่อว่าเขาได้สร้างสังคมจีนใหม่ที่มีความมั่งคั่งยั่งยืน และสามารถยืนตระหง่านในเวทีระหว่างประเทศอย่างภาคภูมิชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

สี จิ้นผิง ประกาศแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างโดดเด่น

ถึงขั้นที่เมื่อปลายปีที่แล้วเขายืนยันว่าไม่มี “คนจน” ตามคำนิยามของธนาคารโลกเหลืออยู่ในประเทศจีนแล้ว 

ก้าวต่อไปคือการลดความเหลื่อมล้ำ...ด้วยการประกาศนโยบาย “รุ่งเรืองร่วมกัน” (common prosperity) เพื่อไม่ให้ “รวยกระจุก จนกระจาย”

ดังนั้น สี จิ้นผิง และคนใกล้ชิดย่อมมีสิทธิ์ที่จะคิดว่าคนจีนมีความภูมิใจที่ผู้นำสามารถสร้างประเทศจีนวันนี้ที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศได้

แม้กรณีโรคระบาดโควิด-19 นโยบาย “โควิดต้องเป็นศูนย์” นั้นแรกเริ่มก็เป็นความภูมิใจของรัฐบาลจีนที่เปรียบเทียบให้เห็นว่าด้วยแนวทางอย่างนี้แหละที่ทำให้จีนมีจำนวนคนป่วยและเสียชีวิตจากโรคระบาดครั้งนี้น้อยกว่าของตะวันตกอย่างมาก

สี จิ้นผิง ใช้นโยบายนี้อ้างถึงระบบการเมืองแบบของจีนที่มีประสิทธิภาพกว่า “ประชาธิปไตยตะวันตก” ที่มีคนตายและป่วยมากกว่าจีนหลายเท่า

แต่ สี จิ้นผิง คงจะไม่ตระหนักว่าภายใต้ผิวน้ำที่ดูเหมือนสงบนิ่งนั้นมีกระแสคลื่นข้างล่างที่คุกรุ่นแห่งความอึดอัดคับข้องใจ เพราะการใช้มาตรการที่เข้มข้นจนประชาชนมีความไม่พอใจที่เพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ

จนระเบิดขึ้นเมื่อมีกรณีที่โรงงาน Foxconn ที่เจิ้งโจว ตามมาด้วยไฟไหม้ที่อุรุมชีของมณฑลซินเจียง

ซึ่งชาวบ้านต่างอ้างว่ามีสาเหตุมาจากมาตรการเคร่งครัดและเข้มข้นเกินเหตุเกี่ยวกับโควิดนี้เอง

หากสี จิ้นผิง ย้อนกลับไปพิจารณาถึงสาเหตุของการระเบิดแห่งอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจของคนจีนวันนี้ก็คงจะพบว่า เพราะเจ้าหน้าที่ในมณฑลต่างๆ ใช้มาตรการโหดๆ เหล่านั้นโดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่ชาวบ้านต้องเผชิญ

และไม่แยกแยะความรุนแรงของปัญหาในแต่ละท้องถิ่น...แต่เพราะกลัวว่าหากตัวเลขคนติดเชื้อจากชุมชนของตัวเองสูงขึ้นตนก็จะถูกลงโทษ

ในเมื่อระบบการปกครองทำให้เจ้าหน้าที่กลัวผู้บังคับบัญชาข้างบนมากกว่าฟังเสียงเดือดร้อนของประชาชน ความอดทนของชาวบ้านที่มีมายาวนานก็คงจะพวยพุ่งออกมาจนได้

และพอระเบิดออกมาก็ระงับยับยั้งได้ยาก

เพราะอารมณ์และความรู้สึกของคนจีน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเสรีภาพในการแสดงออกมากกว่าที่ผ่านมานั้นก่อตัวมาระยะหนึ่งอย่างเงียบๆ

รอจังหวะที่จะเผยตัวเท่านั้น

ดังนั้นการก่อเกิดของ “ปฏิวัติ A4” จึงมีความหมายที่กว้างไกลกว่าเพียงแต่เป็นการแสดงออกของคนที่อึดอัดกับมาตรการโควิดเท่านั้น

หากหมายรวมถึงความอัดอั้นตันใจว่าด้วยข้อจำกัดของการแสดงความคิดเห็นที่ถูกกดทับมายาวนาน

ตรงนี้แหละที่ สี จิ้นผิง คงจะประจักษ์รับรู้และกำลังวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารของเขา

โดยเฉพาะเมื่อก้าวเข้าสู่เทอมที่ 3 ของการเป็นหมายเลข 1 ของประเทศ

น่าสนใจว่า สี จิ้นผิง ได้กล่าวกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปที่มาเยือนปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าการประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ในจีนสะท้อน “ความอึดอัดคับข้องใจ” ว่าด้วยการควบคุมโควิด

อีกทั้งยังเสริมว่า การระบาดใหญ่เข้าสู่ขั้นร้ายแรงน้อยลงแล้ว

เพื่อเปิดทางให้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ

เป้าหมายคงไม่ใช่เป็นเรื่องโควิดเป็นหลัก...หากแต่เป็นการลดอุณหภูมิของการประท้วงที่กว้างขวางเกินกว่าระดับที่ผู้นำจีนเคยคาดการณ์เอาไว้

ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับ สี จิ้นผิง และแนวทางการบริหารความเห็นต่างในบรรดาคนจีนที่เริ่มเรียกร้องต้องการความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ

ความเป็นผู้นำในยุคความผัวผวนปรวนแปรของสี จิ้นผิง จึงกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน