ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๒๒)

 

รองศาสตราจารย์ สนธิ เตชานันท์ ได้รวบรวมเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากจะมีพระราชนิพนธ์ พระราชหัตถเลขา พระราชบันทึก บทสัมภาษณ์พระราชทานแล้ว ยังมีเอกสารของบุคคลต่างๆอีกด้วย หนึ่งในเอกสารของบุคคลสำคัญที่มีส่วนในแผนพัฒนาการเมืองดังกล่าวคือ

พระบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงมีต่อร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) ​​​​​​​​​​​​​ในมาตรา 2 ของร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรีที่คาดว่าจะปูทางไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ที่เป็นการริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กำหนดให้มีตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ขึ้น แต่ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่มาจากการแต่งตั้งและถอดถอนโดยพระมหากษัตริย์ และพระยากัลยาณไมตรีได้กราบบังคมทูลเสนอว่า ควรจะแต่งตั้งจากสามัญชนที่มีความรู้ความสามารถ และไม่ควรจะแต่งตั้งจากพระบรมวงศานุวงศ์ (ผู้เขียนได้อธิบายเหตุผลที่พระยากัลยาณไมตรีได้ให้ไว้แล้ว)

​​​​​​​​​​​​กรมพระยาดำรงฯทรงมีพระบันทึกต่อประเด็นการมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวไว้เป็นภาษาอังกฤษ ลงวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1926 ดังต่อไปนี้ ​​​​​​​“ในความเห็นของข้าพเจ้า ข้อเสนอที่สำคัญที่สุด (ในร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลป์ยาณไมตรี/ผู้เขียน) คือ การเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดินของราชอาณาจักร โดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ที่มีอำนาจในการคัดสรรและถอดถอนรัฐมนตรี และเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการกำหนดนโยบายและกำหนดทิศทางการบริหารราชการแผ่นดิน

โดยต้องได้รับพระราชทานความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์และการตรวจสอบโดยสภาอภิรัฐมนตรี (the Supreme Council of State)

ข้าพเจ้าต้องขอยอมรับข้อจำกัดทั้งในการศึกษาและความรู้ของข้าพเจ้าเกี่ยวกับการบริหารราชการของประเทศต่างๆในยุโรป ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่ต้องมีในการปกครองระบบรัฐสภา

แต่ในประเทศที่ยังมีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างเช่น รัสเซีย ตุรกีและเปอร์เซีย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดูจะไม่มีประสิทธิภาพมาก หากปราศจากซึ่งพระมหากษัตริย์ที่เข้มแข็ง

อีกทั้งก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความหายนะต่อพระมหากษัตริย์ที่อ่อนแอ แต่ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งว่า ข้าพเจ้าไม่คิดว่าข้าพเจ้าจะมีความสามารถที่จะไปตัดสินเรื่องราวที่เป็นลักษณะเฉพาะของยุโรป

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำจำกัดความเห็นของข้าพเจ้าทั้งหมดต่อสิ่งที่ข้าพเจ้าคิดว่าจะกระทบต่อสยามและชาวสยาม ​​​​

ก่อนอื่น ข้าพเจ้าจะพิจารณาถึงความคิดความเห็นทั่วไปที่น่าจะเกิดขึ้นในสยาม เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่พระยากัลยาณไมตรีเสนอนั้น เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามความเข้าใจของยุโรป

ซึ่งยังไม่เป็นที่เข้าใจรู้จักกันในสยาม และในการกำหนดให้มีตำแหน่งนี้ขึ้นมาถือเป็นของใหม่ที่ย่อมจะก่อให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆนานา อาจจะเขียนคำอธิบายตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ในกฎหมาย แต่ประชาชนจะเข้าใจได้แค่ไหน ?

เพราะข้อเท็จจริงคือ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งบุคคลที่ประชาชนไม่ได้ให้ความเคารพนับถือเท่าองค์พระมหากษัตริย์ให้มาปกครองประเทศแทนพระองค์ ประชาชนย่อมจะเกิดคำถามข้อสงสัยว่า ทำไมพระองค์ต้องแต่งตั้งบุคคลอื่นมาปกครองแทนพระองค์ ?

เป็นเพราะพระองค์ไม่ทรงสนพระทัยที่จะปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างที่พระมหากษัตริย์ควรทรงปฏิบัติ หรือเป็นเพราะสภาอภิรัฐมนตรีเห็นว่าพระองค์ทรงอ่อนแอเกินกว่าที่จะปกครองแผ่นดิน จึงได้โน้มน้าวให้พระองค์แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ?

ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด พระบารมีและพระเกียรติของพระมหากษัตริย์จะเสียหายในสายตาของประชาชน ​การมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาจจะเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีสำหรับชาวสยามที่มีหัวแบบตะวันตก แต่คนเหล่านี้มีจำนวนเท่าใดเมื่อเทียบกับประชาชนทั้งหมดในประเทศ ?

กล่าวโดยสรุป ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้จะสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้นทั่วไปในประเทศ เราต้องไม่ลืมว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั่วไปนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในสยาม อย่างที่เห็นได้จากผลที่เกิดขึ้นจากพระราชกรณียกิจอันแรกหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตั้งสภาอภิรัฐมนตรีขึ้น

​​​​ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงการให้กำเนิดองค์กรใหม่ นั่นคือ การตั้งสภาอภิรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรที่ให้การวินิจฉัยที่มีคุณภาพ

ข้าพเจ้าเห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกของชนชั้นปกครองจากการตั้งสภาอภิรัฐมนตรี น่าจะมี 3 ข้อดังนี้

​​​​​​​​​​ก. พวกที่ชื่นชมและสมัครใจที่จะสนับสนุนองค์กรใหม่ อาจจะสนับสนุนด้วยมีความเชื่อในหลักการการจัดตั้งสภาอภิรัฐมนตรี หรือสนับสนุนเพียงเพราะความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แม้ว่าตนจะไม่ได้เชื่อในหลักการดังกล่าว และพวกที่ชื่นชมเพราะคาดหวังว่าจะได้ประโยชน์จากการมีสภาอภิรัฐมนตรี

​​ข. พวกที่ไม่ได้เห็นด้วยหรือเห็นด้วยและสงวนท่าที อาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่เห็นว่ามีอะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง หรือเป็นพวกฉวยโอกาส ที่รอคอยที่จะหาประโยชน์ให้ตัวเองจากผลอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น

​​​​​​​​​​​​​ค. พวกที่ไม่เห็นด้วย เพราะจากความคิดความเชื่อของตน หรือมีความอิจฉาริษยา หรือสูญเสียผลประโยชน์จากการจัดตั้งสภาอภิรัฐมนตรีขึ้น

​​​​​​​​กรมพระยาดำรงฯได้ทรงอธิบายสาเหตุของการตั้งสภาอภิรัฐมนตรีนี้ว่า ​​​​

ในพระราชบันทึกของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า ในการเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงต้องรับปัญหาที่เกิดจากรัชกาลก่อน เพราะพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ตกต่ำ ผู้คนขาดเคารพเลื่อมใส (ความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนกับพระบรมวงศานุวงศ์ และระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์เอง/ผู้เขียน)

อีกทั้งการคลังแผ่นดินก็หมิ่นเหม่จะล้มละลาย มีความฉ้อฉลในรัฐบาล และการดูแลประชาชนก็อยู่ในความสับสน การที่พระองค์ทรงตั้งสภาอภิรัฐมนตรีขึ้นทันที ก็เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ​

​​​​​​หากพิจารณาองค์ประกอบและภาระหน้าที่ของสภาอภิรัฐมนตรี จะพบว่า มีคณะกรรมการห้าพระองค์ ที่ต่างเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ความสามารถและชื่อเสียงในทางใดทางหนึ่ง

โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประธานการประชุมสภาอภิรัฐมนตรี และทุกมติที่ผ่านสภาฯจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น

จะไม่มีการกล่าวถึงกรรมการสภาฯ (นั่นคือ มติของสภาฯจะออกมาเป็นพระบรมราชโองการ/ผู้เขียน) นอกจากนี้ กรรมการสภาฯจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการของกระทรวงทบวงกรมต่างๆ

กระนั้น สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ก็คือ ข้อกล่าวหาว่า สภาฯยึดพระราชอำนาจและพระบารมีของพระมหากษัตริย์

ซึ่งกรมพระยาดำรงฯทรงกล่าวว่า พระองค์ทรงพอพระทัยที่ในพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระองค์ได้ทรงชี้ให้เห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ไม่เป็นความจริง​​แต่ข้อกล่าวหาให้ร้ายต่อสภาฯเป็นสิ่งที่เพียงพอที่จะทำให้คิดได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรีจะเป็น “ผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการกำหนดนโยบายและกำหนดทิศทางการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องได้รับพระราชทานความเห็นชอบจากพระมหากษัตริย์และการตรวจสอบโดยสภาอภิรัฐมนตรี (the Supreme Council of State)” ตามข้อเสนอของพระยากัลยาณไมตรี ​​

จากที่กล่าวไปข้างต้น คือส่วนหนึ่งของพระบันทึกของกรมพระยาดำรงฯที่มีต่อข้อเสนอของพระยากัลยาณไมตรีที่จะให้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นในสยาม ​​​​​​และข้อสังเกตของกรมพระยาดำรงฯในปี ค.ศ. 1926 (พ.ศ. 2469) น่าจะช่วยให้คนจำนวนหนึ่งในปัจจุบันที่คิดจะคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์และให้พระองค์ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่พระองค์ทรงเห็นว่ามีคุณสมบัติความรู้ความสามารถเหมาะสม (เป็นคนดี ?) ได้คิดให้รอบคอบมากขึ้น

​​​(โปรดติดตาม พระบันทึกของกรมพระยาดำรงฯในตอนต่อไป) ​​​​​​​
​​​​​​​​​​​​​​​​​​​

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า