ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ 

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา

สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร

หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

เราจะมาดูว่า มูลเหตุทั้งหกนี้มีรายละเอียดอย่างไร และเป็นจริงมากน้อยเพียงไร  ผู้เขียนได้กล่าวถึง มูลเหตุที่หนึ่งถึงห้าไปแล้ว ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไปถึงมูลเหตสุดท้าย นั่นคือ การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476” ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) กล่าวว่า

“...เนื่องมาจากพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร เคยทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่เดือน พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมด้วยเรื่องสั่งขึ้นเงินเดือนนายทหาร 20 คนไปแล้ว แต่กระทรวงการคลังและอภิรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ไม่อนุมัติตามที่ขอมา การลาออกด้วยเรื่องพิพาทเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทหารใต้บังคับบัญชาครั้งนี้ ทำให้พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นที่นับถือของบรรดานายทหารทั่วไปอย่างกว้างขวาง และการที่ทรงมีพระทัยฝักใฝ่สนใจในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงได้กลายเป็นที่เพ็งเล็งของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชอยู่มากว่าจะเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ดังที่ปรากฎในบันทึกของประยูร ภมรมตรี ได้กล่าวถึงตอนที่เข้าเฝ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเพื่อแจ้งเรื่องการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรและขอควบคุมพระองค์ กรมพระนครสวรรค์ทรงเข้าใจไปว่า พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง/ผู้เขียน)  แม้เมื่อคณะราษฎรทำการได้สำเร็จแล้ว ก็ยังมีผู้เข้าใจว่า พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ด้วย             

ความไม่พอใจของพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชนั้น ได้เริ่มมีมาตั้งแต่ก่อนที่คณะราษฎรจะได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กล่าวคือ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชได้เรียกพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามมาถามความเห็นเรื่องระบอบการปกครอง ซึ่งต่างก็ลงความเห็นว่าไม่เหมาะ ไม่ควรแก่ยุคสมัย ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว แต่มาติดขัดกับตรงวิธีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้  จะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม เป็นอันตกลงกันในเรื่องวิธีการไม่ได้ จนเมื่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จแล้ว ก็ได้เสนอชื่อพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชให้เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรหรือนายกรัฐมนตรี แต่ถูกเสียงข้างในที่ประชุมคณะราษฎรคัดค้าน เพราะเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูง  นับแต่นั้นมา พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชก็ทรงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

แม้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คณะราษฎรก็ไม่ได้ไว้วางใจในตัวของพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชผู้ทรงมีอิทธิพลอยู่ในคณะทหารบกนัก ได้ส่งสายไปเฝ้าทำทีแย้มพรายให้พระองค์อยู่เฉยๆ และจะได้ดีเองในภายหลัง ซึ่งพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชก็ทรงทราบดีว่าพระองค์กำลังตกอยู่ในฐานะเป็นที่ไม่ไว้วางใจของคณะราษฎรตลอดมา

ความไม่พอใจหลายประการที่พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชมีต่อรัฐบาลที่ควบคุมโดยคณะราษฎร ได้คุกรุ่นอยู่ในใจตลอดมา นับแต่คณะราษฎรได้ประกาศแถลงการณ์ประณามโจมตีพระมหากษัตริย์ และระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างรุนแรง   และปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระประมุข รวมทั้งความผิดหวังในทางส่วนตัวที่คาดว่าจะทรงได้รับตำแหน่งในทางการเมืองจากคณะราษฎรด้วย จึงยิ่งเป็นการบีบคั้นให้พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชไม่พอใจมากยิ่งขึ้น 

เหตุการณ์ที่นับว่าเป็นจุดชนวนให้พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมกับคณะทหารหัวเมือง เพื่อใช้กำลังเข้าล้มล้างรัฐบาลก็คือ การที่บุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลขณะนั้น 2 คน คือ พันโทหลวงพิบูลสงครามกับนาวาโทหลวงศุภชลาศัยได้มีหนังสืออันมีลักษณะข่มขู่ไปยังพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ดังความตอนหนึ่งว่า

‘….ในการยึดอำนาจการปกครองทั้ง 2 คราว คณะผู้ก่อการได้ยึดหลักปฏิบัติไปในทางละมุมละม่อมเสมอ เพื่อเห็นแก่ความสงบของบ้านเมือง และอิสรภาพของชาติไทย แต่บัดนี้ ปรากฏข่าวตามทางสืบสวนว่า ท่านได้มีการประชุมและคิดอยู่เสมอในอันที่จะให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง และทำให้รัฐบาลเป็นกังวล ซึ่งเป็นเหตุให้การบริหารบ้านเมืองไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร จะเป็นในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงขอเตือนให้ท่านสงบจิตเสีย หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอีก คณะก็ตกลงจะกระทำการอย่างรุนแรง และจะถือเอาความสงบของบ้านเมืองเท่านั้นเป็นกฎหมายอันสูงสุดในการกระทำแก่ท่าน ที่กล่าวมานี้ มิใช่การขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาเพื่อความหวังดี….’

เมื่อทรงได้รับหนังสือดังกล่าวเช่นนี้ พระองค์ถึงกับทรงตรัสแก่บรรดานายทหารทั้งหลายที่บ้าน พระยาไชเยนทรฤทธิรงค์ว่า ‘ตั้งใจจะเป็นพลเมืองที่สงบ แต่เขาไม่ให้สงบ และรัฐบาลจะทำการล้มราชบัลลังก์ แล้วดำเนินการปกครองอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์ อันผิดจากรัฐธรรมนูญ’                                                      หนังสือทำนองดังกล่าวนี้ได้มีไปถึงบุคคลอื่นๆอีกหลายคน อาทิเช่น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์ปกรณ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ หม่อมเจ้าไขแสงระพีพัฒน์ หม่อมเจ้าโสภณภาราไดย์ พลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประกาศ พันโทประยูร ภมรมนตรี  นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒน์ เป็นอาทิ                             

หนังสือดังกล่าว นอกจากจะสร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดาขุนนางและพระราชวงศ์รุ่นเก่าแล้ว ยังเป็นการสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มบุคคลทั้งสองให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น  ขณะนั้น แม้แต่หนังสือพิมพ์ก็ตำหนิการการกระทำของนายทหารทั้งสองนี้มาก”

-------------

ตำหนิอย่างไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' มอง 'ขุนคลังคนใหม่' ทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องแบ่งเวลามาเป็นเซลส์แมนประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในส่วนของกระทรวงการคลัง ว่า ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีในกระทรวงการคลังถึง 4 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อันที่จริงกรมในกระทรวงก็มีไม่ได้มากคงแบ่งกันดูแลคนละกรมครึ่ง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่