ยูเอ็นกังวล เหตุบานปลายตำรวจปะทะผู้ประท้วงในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ

สหประชาชาติแสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการอันหนักหน่วงในการสลายการชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ตามวิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ

กลุ่มนักศึกษาและผู้ประท้วงคล้องแขนกันเพื่อป้องกันการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 เมษายน (Photo by Alex Kent / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน 2567 กล่าวว่า จากเหตุตำรวจปะทะกับกลุ่มนักศึกษาและผู้ชุมนุมประท้วงที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และมีการใช้สเปรย์พริกไทยพร้อมกระทำการจับกุมด้วยความดุดัน ส่งผลให้มีผู้ถูกควบคุมตัวทั่วประเทศมากกว่า 350 คนในช่วงสุดสัปดาห์

ล่าสุด โวลเกอร์ เติร์ก หัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการใช้มาตรการดุดันและหนักหน่วงต่อกลุ่มผู้ประท้วงดังกล่าว ที่อาจบานปลายกลายเป็นความรุนแรงจนมีการสูญเสีย

คลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ตามสื่อต่างๆเผยให้เห็นตำรวจในชุดปราบจลาจลที่ถูกเรียกตัวมาสลายการชุมนุมตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ชวนให้นึกถึงการประท้วงลุกลามที่ปะทุขึ้นในช่วงสงครามเวียดนาม

"ผมกังวลว่าการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างในมหาวิทยาลัยต่างๆ ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลกับผลกระทบที่เกิดขึ้น"

"เสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นพื้นฐานของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในประเด็นสำคัญๆ" โวลเกอร์ เติร์กกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม การชุมนุมประท้วงดังกล่าวได้จุดชนวนการถกเถียงตามหลักสากลว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและข้อกล่าวหาเรื่องการต่อต้านชาวยิว

"การยุยงให้เกิดความรุนแรงหรือความเกลียดชังบนพื้นฐานของอัตลักษณ์หรือมุมมอง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือสมมุติขึ้นก็ตาม จะต้องได้รับการปฏิเสธอย่างยิ่ง" หัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวย้ำ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประท้วงนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแสดงออกถึงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะตึงเครียดเนื่องจากเผชิญกับคำขาดให้สลายตัว โดยทำเนียบขาวเรียกร้องให้การประท้วงอยู่ในความสงบ

กลุ่มนักศึกษาปักหลักกางเต็นท์นอนตามสนามทั่ววิทยาเขต และยื่นข้อเรียกร้องให้ยุติความข้องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางการเงินที่เชื่อมโยงกับอิสราเอล ขณะที่นักศึกษาชาวยิวจำนวนมากถูกสั่งให้หลบออกจากมหาวิทยาลัยแล้วเพื่อความปลอดภัย

การประท้วงต่อต้านสงครามในฉนวนกาซาซึ่งมีพลเรือนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความท้าทายต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างสิทธิในการพูดอย่างอิสระกับการร้องเรียนว่าการชุมนุมดังกล่าวมุ่งไปสู่การต่อต้านชาวยิวและคำพูดแสดงความเกลียดชัง

เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์แล้วที่กระแสการประท้วงต่อต้านสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซาได้แพร่กระจายไปทั่ววิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จากฟากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง โดยมีจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ก ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กต. แจง 2 ตัวประกันไทยเสียชีวิต จากเหตุปะทะในกาซา เรียกร้องปล่อยอีก 6 คนทันที

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารสนเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่ากระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟว่า