อีกบทพิสูจน์ ๓ ป.

ก็ไม่แน่

เกมอาจจะเปลี่ยน

มีความพยายามจากพรรคเพื่อไทยที่จะสร้างกติกาใหม่ เพื่อความได้เปรียบ ตามยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ที่ปูทางเอาไว้ตั้งแต่แรก

หมากที่ว่านี้คือการ ยื่นเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๙ ว่าด้วยเรื่องการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

และ มาตรา ๒๗๒ ยกเลิกมิให้สมาชิกวุฒิสภา ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

ถือว่าวางแผนไว้ดี

เจตนาของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ พอสรุปได้ว่า แท้จริงแล้วยังไม่อยากให้มีการยุบสภา แต่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญก่อน

การเลือกนายกรัฐมนตรี นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะต่อให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ เป็นพรรคชนะการเลือกตั้งอันดับ ๑ แต่ก็อาจจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

เพราะรวมเสียงไม่ได้

การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้่งปี ๒๕๖๒ หากไม่มีบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งก็คือ สภาผู้แทนราษฎร กับ วุฒิสภา ก็มีโอกาสสูงที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถรวบรวมเสียงจนจัดตั้งรัฐบาลได้

ฉะนั้นคราวนี้พรรคเพื่อไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเขี่ยวุฒิสภาออกไป ให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเป็นผู้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

โอกาสสำเร็จมีความเป็นไปได้แค่ไหน?

"ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม" นักกฎหมายมหาชน สรุปประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยเอาไว้ดังนี้ครับ

"...หากพิจารณาประเด็นแรก แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา ๑๕๙ จะมีผลทางกฎหมาย

 (๑) บุคคลที่จะมีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องสังกัดและเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

 (๒) ตัดสิทธิบุคคลภายนอกไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้

 (๓) พรรคการเมืองไม่ต้องแจ้งบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๘๘ เพราะเกณฑ์คุณสมบัติว่าที่นายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนไป หากพรรคการเมืองใดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเสียงข้างมาก จะเป็นนายกรัฐมนตรี

อีกประเด็นหนึ่ง พรรคเพื่อไทยเสนอ แก้ไขตัดอำนาจของ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๒๗๒ เห็นว่า ตามบทเฉพาะกาลห้าปีแรกการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๙ โดยให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาและมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๙ วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ผลทางกฎหมาย ดังนี้

 (๑) การตัดอำนาจของ ส.ว.ทำให้สิทธิในการให้ความเห็นชอบและลงมติเลือกมติของสมาชิกร่วมกันของรัฐสภา  ขัดกับประชามติเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในการตรารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐

 (๒) การให้ความเห็นชอบ บุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๙ จะเป็นช่องทางให้พรรคเพื่อไทย หากชนะแลนด์สไลด์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้..."

ในภาพรวมไม่ต่างไปจากที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอเมื่อต้นปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

คราวนี้่น่าจะต่างออกไป

ด้วยเงื่อนไขเวลา การเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งปฏิกิริยาของวุฒิสภาต่อรัฐบาลช่วงหลัง ไม่เป็นเอกภาพเหมือนช่วงแรกๆ

เพื่อไทยเห็นโอกาส

งานนี้ยิงปืนนัดเดียวได้นก ๒ ตัว

ตัวแรกหากแก้ไขสำเร็จ โอกาสเพื่อไทยตั้งรัฐบาลมีค่อนข้างมาก

ตัวที่สอง แม้แก้ไขไม่สำเร็จ ถือเป็นการเช็กเสียงสมาชิกวุฒิสภาไปในตัว

จำนวน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่ทยอยลาออกไปเรื่อยๆ  มีผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นกัน

มีโอกาสที่ฝ่ายรัฐบาลจะแพ้โหวตให้พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลรวมอยู่ด้วย

รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่อาจแตกแถวออกไป

แต่รัฐบาลโดยเฉพาะ "ลุงตู่" ก็มีเครื่องมือสำคัญคือ การยุบสภา

นั่นคือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้

แต่ก็ไม่ง่ายบนเงื่อนเวลาที่เหลืออยู่แค่ ๒ เดือนกว่า 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าการแก้ไขกฎหมายธรรมดา

อย่างที่รู้กันครับรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ แก้ไขยาก

จะต้องมีเสียงวุฒิสมาชิก ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓

หรือ ๘๔ เสียง

ร่วมให้ความเห็นชอบด้วย

สรุปคือการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยโอกาสสำเร็จยาก แต่สร้างแรงกระเพื่อมได้พอสมควรทีเดียว

การจุดประเด็นนี้ขึ้นมาก่อนการเลือกตั้ง ที่โพลหลายสำนักระบุว่า พรรคเพื่อไทย จะชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับที่ ๑ ขณะที่สถานการณ์ของพรรคพลังประชารัฐ ยังคลุมเครือ ไม่ต่างจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการเลือกตั้ง ๒ พรรคนี้ รวมกันแล้วยังได้ ส.ส.ไม่เท่าพรรคเพื่อไทย อาจทำให้สมาชิกวุฒิสภาคิดหนักพอควร

ท่าทีจาก "วันชัย สอนศิริ" แม้เป็นความเห็นของคนเพียงคนเดียวก็มองข้ามไปไม่ได้ เพราะช่วงหลังเริ่มมี ส.ว.แบบ "วันชัย" ให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

"...ผมเห็นว่าบริบททางการเมืองในตอนนั้นและสถานการณ์ทางการเมืองในตอนนี้มันต่างกันมาก ๒๕๐  ส.ว.ตอนนั้นกับ ส.ว. ๒๕๐ ตอนนี้ก็ไม่เหมือนกันอย่างมากเช่นกัน ใครจะมาจากสายของใคร แต่ตอนเลือกนายกฯ ในครั้งนั้นเขาดูว่าใครจะรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง  เขาก็เลือกคนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องเลือกตัวบุคคลเป็นเหตุผลรอง

ในการเลือกตั้งครั้งหน้านี้ใครจะมองอย่างไรก็แล้วแต่  แต่ในฐานะที่ผมเป็น ส.ว.คนหนึ่ง รู้และเข้าใจความรู้สึกของ ส.ว.ว่าเพื่อนก็คือเพื่อน พวกก็คือพวก ความกตัญญูรู้คุณนั่นก็เป็นเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เรื่องของประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชนสำคัญกว่า ใครที่รวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งจึงมีแต้มต่อที่สำคัญ ส.ว.ก็ต้องตัดสินใจด้วยเสียงของประชาชนเป็นตัวตั้ง คงไม่ได้มองเพื่อนและพวกเป็นหลัก..."

คำพูดของ "วันชัย" อาจจะแค่ประดิษฐ์ให้สวยหรูเพื่อสร้างภาพก็ได้ แต่เมื่อถึงเวลาโหวตเลือกนายกฯ ก็ว่ากันตามโผ

และหากยึดเอาตามสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน  การโหวตตามโผ ก็อาจมีปัญหาได้เหมือนกัน

ครับ...ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญก็อาจปวดหัวได้ไม่แพ้กัน

สมาชิกวุฒิสภาคงต้องกุมขมับไม่รู้จะโหวตเลือกใครเป็นนายกฯ

หากพลังประชารัฐชู "ลุงป้อม"

รวมไทยสร้างชาติชู "ลุงตู่"

ออกมารูปนี้สมาชิกวุฒิสภา เสียงแตก แน่นอน

ส่วนเพื่อไทยยิ้มหวานเพราะมีคนมาช่วยหาร

และนี่จะเป็นอีกบทพิสูจน์ว่า แท้จริงแล้ว ๓ ป. ยังเหนียวแน่นกันเหมือนเดิมใช่หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง