นายกฯและ รมว.ต่างประเทศ ใหม่ของจีนคือ ‘คนรู้ใจ’ สี จิ้นผิง

พอเปิดมาปีใหม่ จีนก็ดูเหมือนจะมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่พร้อมเดินหน้ารัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สมัยที่ 3 ทันที

หลี่เฉียง แม้จะยังไม่มีการประกาศแต่งตั้งเป็นนายกฯ เหมือนที่ ฉินกัง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่แทนหวังอี้เรียบร้อยแล้ว แต่วงการนักวิเคราะห์การเมืองจีนก็เห็นพ้องว่าไม่น่าจะผิดจากนี้

สัปดาห์สุดท้ายของปีที่ผ่านมา การประชุมของคณะกรรมการถาวรของสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งรองนายกฯ คนใหม่

นำไปสู่การสรุปว่าหลี่เฉียงน่าจะกระโดดข้ามรั้วมาเป็นนายกฯ เลย

โดยไม่ต้องเดินตามประเพณีเดิมที่ว่านายกฯ จีนทุกคน (ยกเว้นโจว เอินไหล ภายใต้ประธานเหมา เจ๋อตง) จะต้องผ่านการทดสอบและเรียนรู้งานในตำแหน่งรองนายกฯ เสียก่อน

เช่น จู หรงจี ที่ได้เป็นนายกฯ ภายใต้ประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน นั้นต้องนั่งตำแหน่งรองนายกฯ ถึง 7 ปี ก่อนที่จะได้รับความไว้วางใจให้เลื่อนขึ้นเป็นนายกฯ

หรือหลี่ เค่อเฉียง นายกฯ คนที่กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งนั้น ก็รั้งตำแหน่งรองนายกฯ 5 ปีก่อนจะขึ้นมาช่วยสี จิ้นผิง ในฐานะนายกฯ

แต่กรณีของหลี่เฉียงนี่ฉีกขนบเก่า ๆ ทั้งหลาย

จากตำแหน่งเลขาธิการเซี่ยงไฮ้ วิ่งแซงโค้งมาเป็นหนึ่งใน “7อรหันต์” หรือคณะกรรมการถาวรของกรมการเมือง (Politburo)

และวิ่ง 100 เมตรเข้าเส้นชัยเป็นนายกฯ เลย

เหตุเป็นเพราะสี จิ้นผิง ไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะคนที่เคยทำงานร่วมกัน

เพราะสมัยที่สี จิ้นผิง เป็นเลขาธิการพรรคฯ ที่จังหวัดเจ้อเจียงนั้น หลี่เฉียงมีบทบาทเป็นผู้ช่วยใกล้ชิด

สี จิ้นผิง คงจะเห็นว่าเอาคนที่ไว้ใจได้สำคัญกว่าคนที่เดินตามขั้นตอนเดิม

และหากต้องรอให้หลี่เฉียงเรียนรู้งานเหมือนคนก่อนๆ อีกหลายปี สี จิ้นผิง ก็จะไม่ได้ใช้งานคนรู้ใจอย่างหลี่เฉียงก่อนจะหมดเทอมที่สาม

ตำแหน่งนายกฯ ของจีนนั้นมีภารกิจหนักพอสมควร

เพราะต้องดูแลนโยบายเศรษฐกิจและการเงินเป็นหลัก อีกทั้งยังต้องบริหารกระทรวงทบวงกรมทั้งหมด 26 กระทรวง

ถ้าไม่ได้แรงสนับสนุนจากเบอร์หนึ่งอย่างสีจริงๆ ใครที่ไม่เคยรู้จักสายสนกลในของการบริหารราชการแผ่นดินก็อาจจะถูกลองของจนเสียคนไปก็ได้

แต่หลี่เฉียงก็พร้อมจะเข้ารับการทดสอบ...หรือไม่ ก็อาจจะเป็นเพราะสี จิ้นผิง ต้องการจะปรับวิธีการบริหารของคณะรัฐมนตรีด้วยการโยนหลี่เฉียงลงไปในจุดทดสอบที่สำคัญเลย

หลี่เฉียงคงรู้ว่าจะต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก เพราะระหว่างที่เป็นเบอร์หนึ่งของเซี่ยงไฮ้นั้น ก็ถูกชาวบ้านที่นั่นวิพากษ์วิจารณ์ผลงานที่ไม่น่าประทับใจนักกับการบริหารการแพร่ระบาดของโควิด

หากเป็นคนอื่น เมื่อเจอกับปฏิกิริยาทางลบเช่นนี้ ก็อาจจะต้อง “แช่แข็ง” ในตำแหน่งเดิมไปสักระยะหนึ่งก่อนที่จะได้เลื่อนขั้นขึ้นมา

แต่กรณีหลี่เฉียงกลายเป็นข้อยกเว้นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

แต่การแต่งตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนตั้งวงวิเคราะห์กันอย่างร้อนแรงเช่นกัน

เพราะฉินกัง ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกามีบทบาทเป็น “คนใกล้ชิด” ประธานาธิบดีสีเช่นกัน

ปีนี้ฉินกังเพิ่งจะอายุ 56 และจะมาแทนหวังอี้วัย 69 ที่ดำรงตำแหน่งนี้มา 10 ปีพอดี

หวังอี้ได้รับเลื่อนขึ้นไปเป็นสมาชิกของกรมการเมือง และคาดว่าจะมีบทบาทกำกับดูแลเรื่องนโยบายต่างประเทศในระดับนโยบายของพรรคแทน

พอได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างเป็นทางการ ฉินกังก็ขึ้นข้อความนี้ในเว็บไซต์ของกระทรวงทันที

“การทูตจีนจะมีส่วนร่วมแก้ไขความท้าทายของมนุษยชาติด้วยการนำเสนอ “ปัญญาแบบจีน, ความริเริ่มแบบจีนและความเข้มแข็งแบบจีน”

ก่อนจะได้รับตำแหน่งทูตที่วอชิงตัน ฉินกังเคยเป็นโฆษกกระทรวงต่างประเทศและมีชื่อเสียงในแง่ของการเป็นนักตอบโต้ข้อกล่าวหาของตะวันตกต่อจีนอย่างคล่องแคล่วและร้อนแรง

ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักการทูตฝีมือโดนใจประธานาธิบดีสีที่ต้องการให้ประชาคมโลกได้รับรู้จุดยืนของจีนในเรื่องต่างๆ ที่ปักกิ่งถือว่ามีความสำคัญของการผลักดันบทบาทของจีนในเวทีระหว่างประเทศ

จีนจะไม่นิ่งเฉย จะไม่ตั้งรับ และจะไม่ใช้วิธีเดิมๆ ในการสื่อสารกับโลกอีกต่อไป

มีเทคโนโลยีอะไร มีช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างไร จีนใช้ทุกสื่อและทุกจังหวะในการตอบโต้

ฉินกังทำหน้าที่นั้นได้สะใจท่านประธานาธิบดีไม่น้อย

ฉินกังเป็นทูตจีนประจำวอชิงตันได้เพียง 17 เดือนก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่ทรงอิทธิพล

ในช่วงที่เขาอยู่ประจำการสถานทูตจีนที่วอชิงตันนั้น ความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ มีความระหองระแหงในหลายประเด็นร้อนๆ

นอกจากจะได้เป็นโฆษกกระทรวงต่างประเทศสองรอบระว่างปี 2006-2014 เขายังเคยเป็นหัวหน้าใหญ่ด้านพิธีการทูตที่ประสานกิจกรรมการมาเยือนของอาคันตุกะต่างชาติกับสี  จิ้นผิง อีกด้วย

เขาเป็นหนึ่งในนักการทูตที่กล้าปะทะคารมกับตะวันตกจนได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในทีม “นักการทูตนักรบหมาป่า” (Wolf Warriors)

แต่ขณะเดียวกัน ฉินกังก็มีความเป็นนักการทูตที่พร้อมจะหาช่องทางที่จะเล่นบท “ผู้ประสานงาน” แทนการ “ประสานงา” ได้เช่นเดียวกัน

ตอนที่เขาไปถึงวอชิงตันในเดือนมิถุนายน 2021 เพื่อรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ภายใต้บรรยากาศของความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนั้น เขาบอกว่าแม้จะมีปัญหาในการสื่อสารระหว่างสองชาติ “แต่ผมก็เห็นโอกาสและศักยภาพของความร่วมมือระหว่างเรามากอยู่เหมือนกัน”

ในบทความที่เขาเขียนไปตีพิมพ์ในนิตยสาร The National Interest ของสหรัฐฯ นั้น ฉินกังฉายภาพให้เห็นถึงทิศทางนโยบายต่างประเทศของจีน

และตอกย้ำว่า ความสัมพันธ์ของปักกิ่งกับวอชิงตันไม่ใช่ Zero-sum Game”

แปลว่าต้องไม่ใช่ “เกมที่ผลลัพธ์เป็นศูนย์” สำหรับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

พูดง่ายๆ คือในการคบหาระหว่างสองยักษ์ใหญ่นั้น ต่างฝ่ายต่างต้องยอมรับว่ามีได้มีเสีย...ต้องรู้ว่าจะได้เมื่อไหร่และจะเสียเมื่อไหร่

ไม่มีทางที่ข้างใดข้างหนึ่งจะได้ไปทั้งหมดจนอีกฝ่ายหนึ่งกลับบ้านมือเปล่า

เพราะหากเป็นเช่นนั้น ความสัมพันธ์ย่อมไม่ยั่งยืนและโลกก็ไม่อาจจะมีเสถียรภาพได้

ต้องจับตานายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศทีมใหม่ของจีนอย่างใกล้ชิด

เพราะปีใหม่นี้จะเป็นปีแห่งความผันผวนของความสัมพันธ์ระหว่างมังกรยักษ์กับมหาอินทรีที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้