ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจ ปีกระต่าย : ข่าวดีในข่าวร้าย

ปีกระต่าย 2566 นี้ ทั้งโลกกำลังลุ้นกันว่าจะมี “เหตุการณ์นอกเหนือความคาดหมาย” เหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่

คำตอบคือไม่มีใครรู้

เพราะปีที่แล้วก็ไม่มีใครคาดคิดว่าสงครามยูเครนจะระเบิดขึ้นตอนต้นปีและลากยาวมาถึงปีนี้

ปีที่แล้วไม่มีใครเชื่อว่าราคาน้ำมันจะพุ่งพรวดพราด ดันอัตราเงินเฟ้อวิ่งกระโจนสูงลิ่ว

และลากเอาอัตราดอกเบี้ยสูงตามไป

จนคาดการณ์กันว่าโลกตะวันตกจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ recession กันในปีนี้

ปีที่แล้วน้อยคนจะเชื่อว่ายอดขายรถไฟฟ้าจะวิ่งสูงได้ในอัตราที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่นึกว่าปัญหาโลกร้อนจะปรากฏตัวที่เด่นชัดเช่นที่เห็น

ดังนั้นปีใหม่นี้เราเห็นแนวโน้มด้านต่างๆ ที่กระทบปากท้องและความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างไรบ้าง

เฉพาะด้านการท่องเที่ยวของไทยก็มีเรื่องที่คาดไม่ถึงหลายประการ

เช่นเราไม่คิดว่าจีนจะเปิดประเทศเร็วขนาดนี้...ทำให้ตัวเลขพยากรณ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่เดิมคิดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนกลับมาสัก 5 แสนคนทั้งปี...ปรับขึ้นเป็น 7-10 ล้านอย่างฉับพลันกะทันหันเลยทีเดียว

มีสิทธิ์จะดันให้ตัวเลขคาดการณ์อัตราโตเศรษฐกิจของไทยจากเดิม 3.5% ขยับขึ้นไปได้อีก

แต่เราต้องมองไปให้รอบๆ ทั่วโลกด้วย จึงจะสามารถประเมินสถานการณ์ของไทยได้อย่างแม่นยำ

สิบ “แนวโน้ม” หรือ trends ธุรกิจสำหรับปีใหม่นี้ที่ผมรวบรวมมาได้สำหรับทุกคนศึกษาวิเคราะห์และไตร่ตรองมีอย่างนี้

1.ธนาคารกลางของอเมริกาและธนาคารกลางตะวันตกอื่นๆ จะยังต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ แต่จีนจะดำเนินนโยบายการเงินแบบหลวมๆ ต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเขาต้องถูกกระทบ

2.วิกฤตเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อและผู้ค้าปลีก แม้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซก็ชะลอตัวลงบ้าง

การค้าปลีกออนไลน์คิดเป็น 14% ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2562 แต่แทบจะไม่สามารถเอาชนะในปี 2565 ที่ผ่านมา

3.โควิด-19 คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก แต่ผู้เสียชีวิตลดลงเหลือน้อยกว่าเท่าตัวจากไข้หวัดใหญ่ จีนเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ตั้งแต่ต้นปี แต่ความไม่แน่นอนมีสูง เพราะไม่มีใครรู้ว่าความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเพิ่มและกระจายไปส่วนต่างๆ ของโลกจะควบคุมได้มากน้อยเพียงใด

4.ความต้องการใช้พลังงานของเอเชียช่วยผลักดันให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.5% ซึ่งเกินระดับก่อนเกิดโรคระบาด โอเปกจะถูกกดดันให้ขยายกำลังการผลิตแม้จะไม่เต็มใจ ซึ่งก็อาจจะกดราคาของน้ำมันดิบทั่วโลกได้บ้าง

5.ความเสี่ยงจากภาวะถดถอยและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยไม่ทำให้การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 6% สะดุด

แต่ตลาด AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์ เพราะมีนวัตกรรมที่สร้างความตื่นตาตื่นใจเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

6.ธุรกิจสตรีมมิ่งจะยังคึกคักต่อเนื่อง แม้จะประสบปัญหาในการสมัครสมาชิกใหม่ และต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างดุเดือดขึ้นตลอดเวลา

บริษัทสตรีมมิ่งยังคงลงทุนอย่างมากในการสร้างเนื้อหา ล่าสุดมีการประเมินว่าอยู่ที่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เฉพาะในกรณีของ Netflix

7.ยอดขายรถยนต์ใหม่ทั่วโลกปีนี้จะไม่หวือหวา จะโตเพียง 1% แต่รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 25% เนื่องจากจีนยกเลิกแผนลดหย่อนภาษีเพื่อรักษาอุปสงค์

8.อเมริกา ซึ่งเป็นผู้ใช้จ่ายด้านกลาโหมรายใหญ่ที่สุดในโลก เพิ่มค่าใช้จ่ายประจำปีเป็น 800,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าระดับของจีนถึง 3 เท่า

แต่งบประมาณจำนวนนี้หากปรับตามอัตราเงินเฟ้อกลับหดตัวลง

9.ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะหดตัว แต่หากจีนฟื้นตัวอย่างคึกคักอย่างที่คาดการณ์กัน ก็จะยังรักษาระดับราคาเอาไว้พอสมควร

10.การเดินทางทางอากาศจะฟื้น และจะสร้างผลกำไรอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อจำนวนผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศทะยานขึ้น 30% แต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด

ผู้เดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจบางส่วนก็ยังเลือกที่จะพบปะกันผ่านทางออนไลน์

ในภาพรวมแล้ว สถานการณ์โลกปีนี้เราก็จะเห็นภาพดังนี้

สงครามในยูเครนจะยังคุกคามโลก และโรคระบาดโควิดก็จะยังไม่หายไปหมดเสียเลยทีเดียว

สินค้าราคาแพงจะช่วยผู้ผลิต แต่ทำให้ความไม่มั่นคงด้านอาหารแย่ลงและทำร้ายเศรษฐกิจจำนวนมาก

แม้ว่าการเติบโตของจีดีพีทั่วโลกจะชะลอตัวลงเหลือ 1.6% ในปีใหม่นี้ จาก 2.8% ในปีที่ผ่านมา แต่อัตราเงินเฟ้อจะยังร้อนระอุอยู่ที่ 6% ทำให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แม้ว่าจีนจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ และผ่อนปรนนโยบายต่อโควิด

เมื่อเศรษฐกิจจีนฟื้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะส่งแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจโลกไปด้วย

กูรูเศรษฐกิจอย่าง ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล บอกผมว่า ถ้าให้สรุปแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีใหม่นี้เป็นอย่างไร ก็พอจะสรุปได้อย่างนี้

1.เงินเฟ้อเข้าสู่ช่วงขาลงในประเทศต่างๆ

2.ดอกเบี้ยในประเทศต่างๆ เข้าสู่จุดสูงสุด แล้วคงอยู่ตรงนั้นจนถึงปลายปี

3.ภาวะเศรษฐกิจซบเซาหรือถดถอย (Recession) มาเยือนในหลายประเทศ

4.เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) บางส่วน ประสบปัญหา มีวิกฤต

5.สินทรัพย์บางส่วนเริ่มฟื้นตัว เป็นโอกาสการลงทุน

และสำทับว่าปีนี้จะเป็นปีที่น่าลงทุนที่สุด เพราะหลายๆ อย่างราคาได้ลดลงมาถึงจุดน่าซื้อและน่าลงทุนแล้ว

ข่าวดีข่าวร้ายจะมาผสมปนเปกัน แต่สำหรับคนไทยทั่วไปการท่องเที่ยวจะฟื้นอย่างแรง

แต่การส่งออกจะแผ่ว เพราะเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วงถดถอยทางตะวันออก

ตลาดจีนและอาเซียนคือความหวังที่คนไทยต้องพยายามเจาะหาช่องว่างเพื่อการลงทุนและตักตวงโอกาสที่ซ่อนตัวมาพร้อมๆ กับวิกฤตเสมอ!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน