จีน-มะกันเขม่นกัน ทั้งบนโลกและดวงจันทร์!

จีนกับสหรัฐฯ ไม่ได้สู้กันเฉพาะบนโลกใบนี้...ล่าสุดกำลังฟาดฟันกันว่าใครจะไปยึดดินแดนบนดวงจันทร์ก่อนใครแล้ว!

สร้างความฮือฮาไม่น้อยเมื่อนาย Bill Nelson ผู้บริหารองค์การบริหารอวกาศของสหรัฐฯ “นาซา” หรือ NASA ออกมาแสดงความเห็นว่า

"ไม่เกินขอบเขตของความเป็นไปได้" ที่จีนจะพยายามอ้างสิทธิ์บางส่วนของดวงจันทร์เป็นของตนเอง

แม้เพียงแต่เท่านั้น หัวหน้าองค์การนาซา National Aeronautics and Space Administration (NASA) คนนี้ยังสำทับเตือนด้วยว่า ถ้าจีนประสบความสำเร็จในการยึดดินแดนบนดวงจันทร์ได้ ก็เท่ากับเอาชนะสหรัฐฯ ได้

และจะเกิดอะไรขึ้นหากจีนประกาศตั้งฐานทัพถาวรบนพื้นผิวดวงจันทร์?

ฟังดูแล้วก็น่าจะเครียดครับ เพราะเท่ากับว่าวอชิงตันกับปักกิ่งกำลังมองว่าอวกาศคืออีกสนามหนึ่งที่จะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน

แทนที่จะเป็นความพยายามสร้างความร่วมมือกันระหว่างประเทศต่างๆ บนโลกนี้เพื่อพิชิตอวกาศให้เกิดประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ แต่ 2 ยักษ์ใหญ่กลับทำให้มันกลายเป็นการแข่งขันเอาเป็นเอาตายกันเลยทีเดียว

ตัวอย่างความร่วมมือก็มี เช่น โครงการสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ International Space Station (ISS) ซึ่งเป็นผลของความร่วมมือของหลายประเทศในด้านนี้ และควรจะเป็นแม่แบบของการสำรวจอวกาศในวันข้างหน้า

ไม่ใช่แข่งขันเหมือนตอนที่สหภาพโซเวียตส่งดาวเทียม Sputnik ขึ้นอวกาศจนทำให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ของสหรัฐฯ ต้องประกาศส่งคนไปดวงจันทร์และกลับมาอย่างปลอดภัยใน 10 ปี เมื่อปี 1961 หรือเมื่อ 61 ปีมาแล้ว

นั่นเป็นช่วงของ “สงครามเย็น” ซึ่งเริ่มในปี 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงได้เพียง 2 ปี

วันนี้การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกลายเป็นการเผชิญหน้ากับเกือบทุกมิติ

ต่างคนต่างมองกันและกันด้วยความระแวงสงสัย และไม่ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งล้ำหน้าตนได้

เพราะอวกาศมีผลประโยชน์มากมายหลายด้านที่โยงกับความมั่นคงและปลอดภัย

บิล เนลสัน ผู้เข้ารับตำแหน่งองค์การอวกาศของสหรัฐฯ ในปี 2021 บอกว่าสหรัฐฯ อยู่ในการแข่งขันด้านอวกาศครั้งใหม่กับจีน

และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศบนโลกอาจขยายไปถึงดวงจันทร์

 “มันคือความจริง เรากำลังอยู่ในการแข่งขันในอวกาศ” นายเนลสันบอกกับ Politico ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้

 “และมันก็เป็นความจริงที่เราควรระวังไม่ให้พวกเขาไปยังสถานที่บนดวงจันทร์ภายใต้หน้ากากของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมันก็ไม่เกินขอบเขตของความเป็นไปได้ที่พวกเขาพูดว่า 'ออกไป เราอยู่ที่นี่ นี่คือดินแดนของเรา'”

แม้ว่าคนทั่วไปจำนวนไม่น้อยเมื่อได้ยินคำให้สัมภาษณ์ทำนองนี้แล้วจะร้องอุทานว่า “มันจะอะไรกันหนักหนา...จะฟาดฟันกันไม่สิ้นสุดเลยหรืออย่างไร” แต่เนลสันไม่ใช่คนเดียวที่แสดงความกังวลเรื่องนี้

อดีตผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) Terry Virts ก็ออกอาการเป็นห่วงเป็นใยทำนองนี้เหมือนกัน

เขาบอกว่ามีความเป็นไปได้ว่าหากจีนเดินหน้าพัฒนาด้านอวกาศแข่งกับสหรัฐฯ ในวันนี้และวันข้างหน้า เขาก็กลัวว่า “ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น” จากกิจกรรมด้านนี้ของจีน

และประเทศที่เสียหายก็จะเป็นคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ

ความคิดทำนองนี้ไม่ได้มาจากตัวบุคคลเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนจากแนววิเคราะห์ของทางการวอชิงตันด้วย

เพราะรายงานล่าสุดจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของโครงการอวกาศของจีน รวมถึงความสามารถในการพัฒนายานอวกาศที่สามารถลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์

เป็นรายงานความยาว 196 หน้า ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้วนี่เอง

รายงานนี้ประเมินถึงวิธีคิดและความตั้งใจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในเรื่องอวกาศ

และเสริมในประเด็นศักยภาพของการแข่งขันในอวกาศของปักกิ่งว่า

 “เป้าหมายของปักกิ่งคือการเป็นมหาอำนาจในอวกาศที่กว้างขวางและมีความสามารถอย่างเต็มที่...”

 “โครงการอวกาศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีจำนวนดาวเทียมปฏิบัติการเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ คือที่มาของความภาคภูมิใจของชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของ 'ความฝันของจีน' ของประธานสี จิ้นผิง ในการสร้างประเทศจีนที่ทรงพลังและเจริญรุ่งเรือง” รายงานระบุ

 “จีนกำลังพัฒนาขีดความสามารถด้านอวกาศที่ซับซ้อนอื่นๆ เช่น การตรวจสอบและซ่อมแซมดาวเทียม อย่างน้อยความสามารถบางอย่างเหล่านี้ก็ปรับเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ได้”

แต่จีนออกมาคัดค้านแนวคิดของวอชิงตันเช่นนี้ บอกว่าไร้สาระและเป็นการ “มโน” ของสหรัฐฯ เอง

โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันออกแถลงการณ์ว่า

 “เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนพูดจาอย่างไร้ความรับผิดชอบเพื่อบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับความพยายามในอวกาศตามปกติและชอบด้วยกฎหมายของจีน...จีนสนับสนุนการใช้อวกาศอย่างสันติเสมอ ต่อต้านการใช้อาวุธและการแข่งขันทางอาวุธในพื้นที่รอบนอก อวกาศและทำงานอย่างแข็งขันเพื่อสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติในโดเมนอวกาศ”

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ สหรัฐอเมริกาและจีนเป็น 2 มหาอำนาจที่มีอิทธิพลอย่างมากในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงหรือเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ มีประวัติการครอบงำและมีอิทธิพลในทวีปอเมริกา ในขณะที่จีนมีปริมาณการค้าสูงที่สุดในโลก

ทั้ง 2 ประเทศนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของการแข่งขันและการชิงดีชิงเด่น

และมาถึงวันนี้ การแข่งขันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ไปถึงดวงจันทร์ ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมา

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทั้ง 2 ประเทศให้ความสำคัญกับการสำรวจและพัฒนาดวงจันทร์อีกครั้ง

ในปี 2019 ภารกิจฉางเอ๋อ-4 ของจีนสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์

ความสำเร็จนี้ตามมาด้วยการเปิดตัวภารกิจฉางเอ๋อ-5 ในปี 2020 ซึ่งประสบความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์และส่งกลับมายังโลก

สหรัฐฯ มีโครงการ Artemis ของ NASA ตั้งเป้าส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ภายในปี 2024

นอกจากการสำรวจของมนุษย์แล้ว โครงการ Artemis ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างการมีอยู่อย่างยั่งยืนบนดวงจันทร์ และใช้โครงการนี้เป็นบันไดสู่ภารกิจในอนาคตสู่ดาวอังคาร

ในขณะที่ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของสหรัฐฯ และจีนมุ่งเน้นไปที่การสำรวจและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก แต่ก็มีมิติของการเจาะลึกเชิงกลยุทธ์และเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

เพราะเชื่อกันว่าดวงจันทร์มีทรัพยากรที่มีค่า เช่น แร่ธาตุหายากและน้ำแข็ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าใครสามารถควบคุมทรัพยากรเหล่านี้ได้ก็สามารถสร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในวันข้างหน้า

ทำให้ผมอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า : หรือสงครามโลกครั้งที่ 3 จะไปสู้กันบนดวงจันทร์?

เข้าทำนอง “บ้าก็บ้าวะ!” เลยแหละครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด