จริงหรือที่สี จิ้นผิง กำลัง ‘รีเซต’ ท่าทีการทูตในเวทีโลก?

จริงหรือที่มีข่าวว่าประธานาธิบดีสี  จิ้นผิง กำลัง ปรับ ทิศทางนโยบายต่างประเทศให้ลดความกร้าวลง สร้างมิตรเพิ่ม และรักษาระยะห่างจากสงครามยูเครนมากขึ้น?

เป็นแนวทางการวิเคราะห์ของผู้เกาะติดสถานการณ์ตั้งแต่การทำ U-turn เกี่ยวกับนโยบาย โควิดต้องเป็นศูนย์ อย่างฉับพลัน

ที่เกิดขึ้นหลังจากมีการประท้วงในเมืองต่างๆ ที่ต่อต้านมาตรการเข้มข้นเพื่อระงับการระบาด

ตามมาด้วยการประท้วงของชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องโควิด และปรากฏการณ์ ประท้วงกระดาษขาว A4 ที่เห็นคนรุ่นใหม่และนักศึกษาออกมาแสดงความต้องการให้ผู้มีอำนาจก้าวลงเพราะความไร้ประสิทธิภาพของการบริหารวิกฤตโรคระบาด

ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวะที่สี จิ้นผิง กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศเป็นสมัยที่สามในเดือนมีนาคมนี้

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่กลายเป็นประเด็นที่ทำให้นักวิเคราะห์นำมา ประกอบร่าง เป็นทฤษฎีใหม่ว่าด้วยท่าทีที่อาจจะกำลังเปลี่ยนไปของผู้นำจีน

แม้กระทั่งการย้ายโฆษกกระทรวงต่างประเทศฝีปากกล้าอย่าง จ้าวหลี่เจียน ไปเป็นรองอธิบดีกรมพรมแดนทางทะเลซึ่งถือว่าเป็นการลดความสำคัญของบทบาทนักการทูตคนนี้ลงอย่างชัดเจน

ตามมาด้วยบทวิเคราะห์ในสื่อ Financial Times ของอังกฤษสัปดาห์ที่ผ่านมาที่อ้าง เจ้าหน้าที่จีนที่ไม่ประสงค์จะออกนาม ที่บอกว่าจีนกำลังกังวลว่าหากประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียยังเดินหน้าทำสงครามในยูเครนต่อไป รัสเซียก็อาจจะจบลงด้วยการ ลดชั้นตัวเองเป็นประเทศอำนาจน้อย หรือ Minor Power เพราะความผิดพลาดในการตัดสินใจครั้งนี้

สื่ออังกฤษฉบับนี้ใช้คำว่า reset ท่าทีของจีนในเรื่องต่างประเทศเพื่อให้ดู แนบเนียน ขึ้น ไม่กร้าวและปะฉะดะกับตะวันตกในทุกเรื่อง

เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนที่คุยกับนักข่าวตะวันตกยอมรับว่าปักกิ่งกำลังขยับนโยบายเพื่อจะปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการทูตที่ย่ำแย่กับตะวันตก

เพื่อลดความตึงเครียดในความสัมพันธ์

และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่โดนกระทบค่อนข้างแรงจากโควิดมาเกือบสามปีจนทำให้อัตราโต GDP ของจีนหดหายไปอย่างมีนัยสำคัญ

นโยบายและแผนใหม่หลายมิติสะท้อนถึงทิศทางที่ปูทางเอาไว้จากการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในเดือนตุลาคม

นั่นถือเป็นงานชิ้นที่สำคัญที่สุดในปฏิทินการเมืองจีนเป็นเวลา 5 ปีที่สร้างบรรยากาศให้กับเป้าหมายระยะยาวของจีน

จากมุมมองทางเศรษฐกิจ เป้าหมายหลักของสี จิ้นผิง คือการฟื้นฟูการเติบโตที่แข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของจีน หาทางยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานในชนบทของจีนหลายร้อยล้านคน

และยังต้องรักษาเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความผันผวนค่อนข้างหนัก

และพยุงวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น

นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายคนคาดว่าปักกิ่งจะผลักดันนโยบายส่งเสริมการเติบโตหลายชุด

โดยคาดว่าเป้าหมายในปี 2566 จะอยู่ที่ ร้อยละ 6 หรือสูงกว่า ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ที่ร้อยละ 4.4

นักเศรษฐศาสตร์อีกหลายคนคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2566 ที่สูงกว่า 5 เปอร์เซ็นต์

บางคนเชื่อว่าหากรัฐบาลจีนควบคุมปัญหาโควิดอยู่จริง และเปิดประตูครั้งใหม่อย่างอ้าซ่าได้ตามหวัง อาจจะได้เห็น GDP จีนที่โตได้ถึงร้อยละ 7 ด้วยซ้ำไป

นักวิเคราะห์กลุ่มนี้มองว่าเป้าหมายหลักของจีนคือการปรับปรุงความสัมพันธ์กับบางประเทศทางตะวันตก

หลังจากช่วงหนึ่งที่ทำให้ปักกิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวและมีเพื่อนร่วมชะตากรรมขนาดใหญ่ไม่กี่ชาติเช่นรัสเซีย

ซึ่งก็เกิดอุปสรรคเพราะสงครามยูเครนระเบิดขึ้นมาต่อหน้าต่อตา

จีนอาจจะมีปัญหากับสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย แต่ปักกิ่งต้องการจะประคองความสัมพันธ์กับยุโรปเอาไว้เป็นการคานอำนาจกับสหรัฐฯ

สำหรับจีนแล้ว ยุโรปเป็นตลาดสำคัญทางด้านการค้าและการลงทุน

และที่มองข้ามไม่ได้เลยคือความสัมพันธ์ด้านการเมืองและการทูตที่จีนยังหวังว่าจะไม่มี อคติ เท่ากับสหรัฐฯ

พอเกิดสงครามยูเครน ยุโรปก็มองจีนอย่างระแวงสงสัยมากขึ้น เพราะความใกล้ชิดระหว่างปักกิ่งกับมอสโก

น่าเชื่อได้ว่าในทางการทูต ปักกิ่งหวังว่าจะไม่เป็นคู่แข่งกับทุกประเทศในตะวันตก และไม่ต้องการถูกโดดเดี่ยวในเวทีพหุภาคี

ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าผู้นำในระดับสูงของจีนบางคนย่อมจะมอง การผจญภัยทางทหาร ของรัสเซียในยูเครนนั้นมีผลกระทบต่อจีนอย่างน้อยก็ในแง่ที่ทำให้ปักกิ่งอาจจะกลายเป็นเป้าของการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกได้

แน่ละ โดยภาพทางการแล้วปูตินกับสี จิ้นผิง ยังสนิทสนมในลักษณะ เพื่อนซี้ กันอยู่

ทั้งสองให้คำมั่นเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีก

แต่นั่นคือภาษาทางการที่ต้องใช้เป็น ไฟต์บังคับ

แต่ในการสนทนาส่วนตัวกับนักข่าว Financial Times นั้น เจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนบางคนก็เริ่มจะตั้งข้อสงสัยว่าจีนควรจะแสดงตนให้ใกล้ชิดกับปูตินในกรณีสงครามนี้มากน้อยเพียงใด จึงจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของปักกิ่งในเวทีระหว่างประเทศ

นักข่าวฝรั่งบอกว่าเจ้าหน้าที่จีนบางคนแสดงความไม่สบายใจกับวิธีคิดและตัดสินใจของปูตินไม่น้อย

บางคนถึงกับพูดทีเล่นทีจริงว่าในบางจังหวะเขาก็รู้สึกว่า ปูตินบ้าไปแล้ว

เพราะอาจจะเป็นไปได้ว่าการบุกยูเครนครั้งนี้เป็นผลของการตัดสินใจโดยคนกลุ่มเล็กๆ รอบๆ ปูตินเท่านั้น

เจ้าหน้าที่จีนบางคนแม้จะเข้าใจจุดยืนทางการของผู้นำจีนเอง แต่ก็ยอมรับว่าหากมองกันลึกๆ แล้วปักกิ่งก็ควรจะต้องบอกกล่าวให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าจีนไม่ได้เห็นด้วยกับปูตินในทุกๆ เรื่อง

จีนไม่ควรทำตามรัสเซียเพียงอย่างเดียว คือบางประโยคจากปากคำของเจ้าหน้าที่จีนที่คุยกับสื่ออังกฤษฉบับนั้น

(พรุ่งนี้: จุดยืนจีนกับจุดยืนรัสเซียในสงครามยูเครน).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน