ลุ้นกันอยู่ตั้งนาน
วานนี้ (๑๗ มกราคม) "ลุงป้อม" ลาประชุม ครม.
ประเด็นอยู่ที่ว่าไม่รู้ลาไปไหน เพื่ออะไร
ขนาด "ลุงตู่" เป็นนายกฯ ยังมึนเลย ไม่รู้พี่ใหญ่ลาไปทำอะไรที่ไหน
แต่ก็ว่าไปตามลีลา เป็นห่วงเรื่องสุขภาพ ผู้สูงอายุลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งต้องระมัดระวัง
สุดท้ายถึงบางอ้อ "ลุงป้อม" ไปโผล่ที่ราชบุรี
ไปบ้าน "วิวัฒน์ นิติกาญจนา" นายก อบจ.ราชบุรี สามี "บุญยิ่ง นิติกาญจนา" ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ
แต่มันเกิดประเด็นดรามาตรงที่ วันที่ ๑๙ มกราคม "ลุงตู่" ก็มีกำหนดการไปราชบุรีเหมือนกัน
ข่าวมันแพร่สะพัดทำนองว่า มี ส.ส.ราชบุรีของพรรคพลังประชารัฐบางคนจะย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เหมือนกัน
ก็กลายเป็นที่จับตามองว่า นี่คือศึกสายเลือดแย่งชิงฐานที่มั่นจังหวัดราชบุรีหรือไม่
ถ้าพูดในแง่มือประสานสิบทิศแล้ว "ลุงตู่" กิน "ลุงป้อม" ไม่ลง เพราะ "ลุงป้อม" ถนัดงานแบบนี้มากกว่าเยอะทีเดียว
ฉะนั้นการประเมิน "ลุงป้อม" กับพรรคพลังประชารัฐ จะประเมินต่ำไม่ได้แน่นอน
ใครที่บอกว่า พรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.ต่ำกว่า ๕๐ คน คงต้องประเมินใหม่ ใส่ใจบันดาลแรงของ "ลุงป้อม" เข้าไปอีกหน่อย
นอกจากกลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า ยอมรับคำบัญชาจาก "ลุงป้อม" แล้ว
ชี้นกต้องเป็นนก ห้ามเป็นเป็ด
ชี้ให้ "ธรรมนัส" กลับ พลังประชารัฐ ก็ต้องกลับ
ยังมีกลุ่มก๊วนอื่น อยู่กับ "ลุงป้อม" ต่อไป
สามมิตร กลุ่มใหญ่ในพลังประชารัฐก็ยืนยัน ไม่ทิ้ง "ลุงป้อม"
หลังเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ "ลุงป้อม" จับงานใหญ่ คือเป็นผู้จัดการรัฐบาล
และทำได้สำเร็จ แม้จะมีพรรค ส.ว. ๒๕๐ เสียงเป็นฐานสำคัญ แต่ความสำเร็จจริงๆ อยู่ที่การรวมเสียง ส.ส.ได้เกินครึ่งไปแบบเฉียดฉิว
ทั้้งๆ ที่พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคลำดับที่ ๒
ฉะนั้นประสบการณ์ด้านนี้ "ลุงป้อม" เหนือกว่า "ลุงตู่"
และเหนือกว่าในการดีลกับพรรคการเมืองอื่นๆ
ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เป็นที่รับรู้กันในวงการการเมือง
ขนาด "กูรูวันชัย สอนศิริ" เอาไปวิเคราะห์เป็นฉากๆ
"...นายกฯ คนที่ ๓๐ บางคนที่คิดไม่ถึงอาจมีสิทธิ์ เพราะไม่แน่ใจว่าซีกอำนาจเดิมจะรวมได้ถึง ๒๕๑ เสียงหรือไม่ ถ้ารวมได้ ๒๕๑ เสียง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังมีสิทธิ์
แต่ดูจากสถานการณ์ที่แตกเป็น ๒ ซีก ไม่มั่นใจซีกเดิมจะรวมได้ถึง ๒๕๑ เสียง อาจมีการจับขั้วใหม่ของพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ ถ้ารวมกันได้มากกว่า ๒๕๑ เสียง อาจเป็นรัฐบาลได้
ดูจากบุคลิกของ พล.อ.ประวิตร ไปได้ทุกกลุ่มทุกฝ่าย ดังนั้นคนที่จะเป็นนายกฯ อาจเป็นพรรคอื่นที่ไม่เคยจัดตั้งรัฐบาลมาก่อน
ไม่ใช่ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย
อาจเป็นพรรคกลางๆ และเป็นคนคนนั้นเป็นนายกฯ ก็เป็นไปได้ อย่าไปประมาทพรรคภูมิใจไทย
ถ้าซีกเดิมรวมเสียงได้ไม่ถึง จะต้องประนอมอำนาจร่วมกันตั้งรัฐบาล ลำพังพรรคเพื่อไทยที่เอาบางคนขึ้นมาโชว์ อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง จึงต้องประนอมกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ ตกลงกันให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้..."
ก็ไม่ถูกไม่ผิด เพราะการเมืองเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
อยู่ที่ เวลานั้น เป็นของใคร
แต่ที่แน่ๆ บุคลิก "ลุงป้อม" ไม่ใช่เรื่องคาดเดา
เป็นเรื่องประจักษ์ด้วยสายตา!
ดีลลับที่สงสัยกันมานานว่าจริงหรือไม่ จะปรากฏชัดเจนหลังเลือกตั้งแต่นอน
แต่สำหรับวันนี้ พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคที่ใครจะประมาทได้
ครับ...นั่นว่าด้วยเรื่อง "ลุงป้อม" สายบู๊
ส่วน "ลุงตู่" สายบุ๋น
นี่แหละครับที่น่าห่วง
ใครนึกภาพสายบู๊ ไม่ออก ให้นึกภาพ เสธ.หนั่น ป๋าเหนาะ
พวกนี้เขาสายตั้งรัฐบาล
เป็นผู้จัดการรัฐบาล
สายบุ๋น ก็อาทิ นายหัวชวน พี่มาร์ค
วันนี้สายบุ๋นอย่าง "ลุงตู่" ต้องรับบทแม่ทัพใหญ่ เดินในเส้นทางของ สายบู๊ด้วย เพราะนักการเมืองในพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังไม่มีใครเป็นสายบู๊โดยธรรมชาติ
"พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ก็ถือเป็นสายบุ๋น
อาจจะมีบู๊ดุเดือดหน่อยก็ "เสกสกล อัตถาวงศ์"
แต่บู๊คนละแบบ
"เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" เลขาธิการพรรคที่เป็นสายบู๊โดยตำแหน่ง ก็ยังต้องสั่งสมบารมีอีกสักระยะ
เห็นข่าว พรรครวมไทยสร้างชาติได้สมาชิกใหม่รุ่นลายครามอีก ๔ คน
บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
เอกภาพ พลซื่อ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด
ทั้งหมดเป็นนักการเมืองสายอีสาน ทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติในอีสานดูคึกคักขึ้น แต่จะสู้ เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ได้หรือไม่ ต้องลุ้นครับ
สถานการณ์การเตรียมตัวสู่การเลือกตั้งหลังจากนี้จะเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการที่ฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ ช่วงต้นเดือนหน้า
เปิดเวทีนี้ก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลมีทั้งได้และเสีย
ที่แน่ๆ คือเป็นเวทีให้ฝ่ายค้านหลอกด่ารัฐบาล
ส่วนรัฐบาลก็ใช้เป็นเวทีแถลงผลงาน
ก็ไม่แน่ครับอาจมีการยุบสภาเสียก่อน เพราะการหาเสียงทำให้พรรคร่วมรัฐบาลปีนเกลียวกันพอสมควร หากถูกฝ่ายค้านถล่มกลางสภา แม้จะไม่มีการโหวตในสภา แต่มีการโหวตนอกสภาคือการเลือกตั้่ง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล
แต่หาก "ลุงตู่" เชื่อมั่นว่า การอภิปรายจะเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล ก็ยาวไป
บุ๋นได้ต้องบู๊ได้ ถือเป็นยอดนักการเมือง
โอกาสกลับมาอีกครั้งยังมี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในวันที่ 'ส้ม' โหยหาเพื่อน
ไอ้เสือถอย! ไปไม่ถึงสุดซอยครับ "หัวเขียง" ยอมเลี้ยวกลับเสียก่อน
ง่ายๆ แค่เลิกโกง
อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ
'อุ๊งอิ๊ง' แถลงผลงาน
ล้างตารอไว้นะครับ นายกฯ แพทองธาร นัดไว้แล้ววันที่ ๑๒ ธันวาคม มีข่าวใหญ่
หรืออยากฟังเพลงมาร์ช
เขาว่าเป็นร่างกฎหมายป้องกันรัฐประหาร ข่าววานนี้ (๖ ธันวาคม) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่การรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...)
รัฐบาลถังแตก?
ตกใจกันทั้งประเทศ...! วันอังคาร (๓ ธันวาคม) ที่ผ่านมา "พิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปพูดในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business กล่าวในหัวข้อ "Financial Policies for Sustainable Economy" แนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ๓ ข้อ
รัฐประหาร?
ประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่คนละระบอบ ฉะนั้นเบื้องต้นต้องเข้าใจระบอบการปกครองของเกาหลีใต้ ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เอาอย่างไทย