เมื่อโสมขาวขู่จะสร้าง นิวเคลียร์สู้โสมแดง!

พอเกิดความตึงเครียดหนักๆ ที่คาบสมุทรเกาหลี สิ่งที่เราไม่เคยได้ยินก็ต้องได้ยิน

เกาหลีใต้ประกาศเป็นครั้งแรกว่าดำเนินนโยบายที่มี “อาวุธนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเชิงนโยบาย”

นั่นย่อมแปลว่าเมื่อเกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่หยุดยั้ง เกาหลีใต้ก็จะหันไปสร้างอาวุธนิวเคลียร์ด้วยเช่นเดียวกัน

การเผชิญหน้าของอาวุธนิวเคลียร์ในคราบสมุทรเล็กๆ แห่งนี้ย่อมนำมาซึ่งหายนะของชาวโลกได้ไม่ยากเลย

                    คำประกาศกร้าวล่าสุดมาจากประธานาธิบดี ยุน ซุก ยอล ที่บอกว่าหากภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเพิ่มมากขึ้น ประเทศของเขาอาจสร้างคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเอง

หรือไม่ก็จะขอให้สหรัฐฯ ช่วยติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์มาช่วยเกาหลีใต้

ข่าวนี้มาจากรายงานข่าวที่เก็บตกจากการบรรยายสรุปนโยบายร่วมกัน โดยกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศเมื่อสัปดาห์ก่อน

ยุนรู้ว่าพอพูดถึงอาวุธนิวเคลียร์ ผู้คนก็จะตื่นตระหนกได้

เขาจึงเสริมทันทีว่าการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ “ยังไม่เป็นนโยบายอย่างเป็นทางการ”

แต่ย้ำว่าในตอนนี้เกาหลีใต้จะจัดการกับภัยคุกคามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วยการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ

นโยบายที่ว่านี้รวมถึงการหาทางเพิ่มความน่าเชื่อถือของความมุ่งมั่นของวอชิงตันในการปกป้องพันธมิตรด้วยความสามารถด้านการป้องกันทั้งหมด รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์

มองอีกแง่หนึ่ง ผู้นำเกาหลีใต้กำลังบอกกับสหรัฐฯ ว่าจะต้องสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าจะปกป้องคนเกาหลีใต้จากภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือให้เป็นที่น่าไว้วางใจ

แต่กระนั้นก็ตาม แนวความคิดของนายยุนถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดออกจากเกาหลีใต้ในปี 1991 ที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวถึงอย่างเป็นทางการว่าจะติดอาวุธในประเทศด้วยอาวุธนิวเคลียร์

อเมริการื้อถอนอุปกรณ์อาวุธนิวเคลียร์ออกจากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก

“เป็นไปได้ว่าปัญหาจะเลวร้ายลง และประเทศของเราจะต้องคิดถึงการให้ได้มาซึ่งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีหรือสร้างมันขึ้นมาเอง” นายยุนกล่าว

หากอ่านบันทึกคำพูดของผู้นำโซลที่เผยแพร่โดยสำนักงานประธานาธิบดีเอง ก็จะได้เนื้อหาว่า

“หากเป็นเช่นนั้น เราสามารถมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว เมื่อพิจารณาจากความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเรา”

นั่นแปลว่าเกาหลีใต้มีศักยภาพที่จะผลิตอาวุธนิวเคลียร์เอง...หากจำเป็น

เกาหลีใต้หนึ่งในประเทศผู้ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ NPT (Non-Proliferation Treaty)

ข้อตกลงนี้ห้ามประเทศที่ร่วมลงนามแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อทำสงคราม

นอกจากนี้ โซลยังได้ลงนามในคำประกาศร่วมกับเกาหลีเหนือในปี 1991

ในสัญญานั้นทั้ง 2 เกาหลีตกลงที่จะไม่ “ทดสอบ ผลิต ผลิต รับ ครอบครอง จัดเก็บ ปรับใช้ หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์”

แต่เกาหลีเหนือก็หาได้สนใจที่จะทำตามข้อตกลงไม่

เพราะเปียงยางเดินหน้าทดสอบนิวเคลียร์ 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2006 อย่างไม่ลดละ

แม้จะมีการเจรจาหลายรอบ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เกาหลีเหนือถอดหัวรบนิวเคลียร์ได้

เจ้าหน้าที่อเมริกันและเกาหลีใต้กล่าวว่า เกาหลีเหนืออ้างข่าว

กรองว่าเปียงยางสามารถทำการทดสอบนิวเคลียร์อีกครั้งเป็นครั้งที่ 7 ได้ทุกเมื่อ

ตรงกันข้าม เกาหลีเหนือประกาศอย่างองอาจว่าพร้อมจะขยายคลังแสงนิวเคลียร์ได้ตลอดเวลา

และขู่ว่าจะใช้มันกับเกาหลีใต้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

จึงเกิดเสียงในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในหมู่นักวิเคราะห์บางสำนักและภายในพรรคพลังประชาชนของประธานาธิบดียุนเองก็เรียกร้องให้โซลพิจารณาทางเลือกนิวเคลียร์ใหม่

การที่เกาหลีเหนือทำการทดสอบขีปนาวุธด้วยความถี่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ย่อมบ่งบอกถึงท่าทีที่ท้าทายของเปียงยางทำนองว่า “ฉันไม่แคร์” ต่อเสียงของประชาคมโลก

ย้อนกลับไปสู่มติของสหประชาชาติที่คว่ำบาตรเกาหลีเหนือเรื่องนี้

ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเริ่มสูงขึ้นในปี 2017 เมื่อเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป 3 ลูก และตามมาด้วยการทดสอบนิวเคลียร์

สหประชาชาติกำหนดมาตรการคว่ำบาตร และเปียงยางหยุดทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธพิสัยไกลชั่วขณะ แต่ก็ระยะหนึ่งเท่านั้น

ต่อมาก็เข้าสู่ช่วงการทูตล้มเหลว

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ พบกับ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ 3 ครั้ง ระหว่างปี 2018-2019 โดยหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

แต่หลังจากการเจรจายุติลง เกาหลีเหนือก็กลับมาทดสอบขีปนาวุธอีก

เกาหลีเหนือเริ่มการทดสอบรอบใหม่ในเดือนกันยายน 2021 หลังจากหยุดไป 6 เดือน

ช่วงหลังนี้ คิม จองอึน ได้เปิดตัวขีปนาวุธจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ และมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาขีปนาวุธใหม่ในปีที่ผ่านมา

ผู้นำเกาหลีเหนือประกาศว่า "สงครามเย็นใหม่" กำลังเกิดขึ้นและได้อวดศักดาว่าจะขยายขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ของประเทศเพื่อต่อต้านเกาหลีใต้ "อย่างทวีคูณ"

ผู้กำหนดนโยบายในกรุงโซลปฏิเสธนิวเคลียร์เป็นตัวเลือกมานานหลายทศวรรษ

ด้วยเหตุผลที่ว่าเกาหลีใต้มีหลักป้องกันด้วย “ร่มนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ” อยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างนิวเคลียร์ด้วยตนเอง

แต่พอประธานาธิบดียุนประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าเห็นทีจะต้องเปลี่ยนท่าทีเรื่องนี้ ก็ทำให้นักวิเคราะห์มองว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของเกาหลีใต้กันเลยทีเดียว

ภายใต้การนำของอดีตผู้นำเผด็จการทหาร ปาร์ก ชุง-ฮี เกาหลีใต้เริ่มดำเนินโครงการอาวุธนิวเคลียร์แบบแอบแฝงในทศวรรษ 1970

เป็นช่วงที่สหรัฐฯ เริ่มลดการประจำการทางทหารในเกาหลีใต้

เพราะคนเกาหลีใต้เริ่มกลัวว่า ถ้าอเมริกาถอนตัวออกไป เกาหลีเหนือจะถือโอกาสโจมตี

ทุกวันนี้วอชิงตันยังคงรักษากองทหารอเมริกัน 28,500 นาย ไว้ในเกาหลีใต้ ในฐานะสัญลักษณ์ของพันธมิตร

แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือยังคงทดสอบขีปนาวุธ ซึ่งบางลูกออกแบบมาเพื่อส่งหัวรบนิวเคลียร์ไปยังเกาหลีใต้

ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากตั้งคำถามว่า สหรัฐฯ จะหยุดเกาหลีเหนือจากการโจมตีประเทศของตนหรือไม่

เมื่อเกาหลีใต้ประกาศความตั้งใจที่จะติดอาวุธนิวเคลียร์ก็อาจจะกดดันให้เกาหลีเหนือทบทวนโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองใหม่

และอาจกระตุ้นให้จีนกดดันเปียงยางให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว

เพราะจีนกลัวการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ในระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกมานานแล้ว

ประธานาธิบดียุนเองย้ำว่า ประเทศของเขายังคงยึดมั่นใน NPT อย่างน้อยก็ในตอนนี้

และกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ย้ำว่า “วิธีการที่เป็นจริง” ในการตอบโต้ภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ จะผ่านการป้องปรามร่วมกับสหรัฐฯ

เป็นที่มาของการซ้อมรบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เพื่อทดสอบขีดความสามารถร่วมกันของเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ ในการรับมือกับการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

และเพื่อช่วยรับรองความจริงใจของพันธกรณีของวอชิงตันที่มีต่อพันธมิตร

ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นในเกาหลีในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลของนายยุนตอบโต้การยั่วยุของเกาหลีเหนือด้วยมาตรการที่ยกระดับขึ้นเอง

เช่น การส่งเครื่องบินขับไล่เพื่อตอบโต้โดรนจากเกาหลีเหนือ

“เราต้องกำจัดความปรารถนาที่จะยั่วยุของฝ่ายเหนือ” ประธานาธิบดียุนบอก

ปัญหาคือ คิม จองอึน เมื่อได้ยินว่ายุน ซุกยอล ประกาศจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์บ้างจะตีความว่าเป็น “การปราม” หรือ “การเตือน” หรือ “การท้าทาย”

ไม่มีใครอ่านความคิดของท่านคิมที่เปียงยางออกจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex