สัญญาณอันตรายจาก ไร่ฝิ่นที่สามเหลี่ยมทองคำ

สัญญาณเตือนภัยประเทศไทยมาจากสามเหลี่ยมทองคำล่าสุด...เมื่อสหประชาชาติแจ้งว่า การผลิตฝิ่นในเมียนมาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปีที่แล้ว

นั่นแปลว่าปัญหายาเสพติด, อาชญากรรมข้ามชาติ,  การฟอกเงิน, เงินทุนสีเทา และกิจกรรมผิดกฎหมายใต้ดินทุกประเภทจะเฟื่องฟูขึ้นตามมาอย่างแน่นอน

ที่ว่าการผลิตฝิ่นทางเหนือของเมียนมาเพิ่มขึ้นนั้น มีเหตุผลมาจากการที่เกษตรกรในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำหันไปปลูกฝิ่นหลังการยึดอำนาจของกองทัพ

ที่วันนี้ครบ 2 ปีพอดี

การหลั่งไหลของฝิ่นซึ่งเป็นวัตถุดิบของเฮโรอีน ได้พลิกกลับแนวโน้มการเพาะปลูกที่เคยลดลงลงตามลำดับมานานหลายทศวรรษ

เจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office for  Drugs and Crime หรือ UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แนวโน้มอันน่ากังวลในย่านสามเหลี่ยมทองคำนั้นเกิดจาก "การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และธรรมาภิบาลซึ่งเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจของทหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564”

โดยให้เหตุผลเสริมว่าเกษตรกร "ไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากต้องย้ายกลับไปปลูกฝิ่น" เพื่อความอยู่รอดของตน เพราะไม่มีพืชชนิดใดจะสร้างรายได้เป็นเงินสดได้เร็วและมากเท่ากับฝิ่น

บริเวณที่ปลูกฝิ่นอย่างกว้างขวางอยู่ทางภาคเหนือของเมียนมา รวมถึงบางส่วนของลาวและไทย

พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำเต็มไปด้วยป่าหนาทึบและภูเขา

ซึ่งเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า เป็นแหล่งผลิตเฮโรอีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกช่วงทศวรรษที่ 1990

สถานภาพนั้นเปลี่ยนไปเมื่อการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นในอัฟกานิสถาน หลังจากการรุกรานที่นำโดยสหรัฐฯ และกลุ่มอาชญากรในเอเชียเปลี่ยนมาผลิตเมทแอมเฟตามีนระดับอุตสาหกรรมในเมียนมา

แม้ภายหลังการผลิตฝิ่นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมทและยาสังเคราะห์อื่นๆ ยังคงเป็นรายได้หลักสำหรับกลุ่มยาเสพติดที่ดำเนินงานในเมียนมา

จากประมาณการของ UNODC การผลิตฝิ่นทั้งหมดเพิ่มขึ้น 88% เป็น 790 เมตริกตันในปี 2565

เพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารจาก 420 ตันในปี 2564

และถือได้ว่าเป็นการปลูกที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี  2556 พื้นที่ปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น 33% เป็น 40,100  เฮกตาร์ในปี 2565 และการเพาะปลูกผลผลิตเพิ่มขึ้น  41% ต่อเฮกตาร์สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (หนึ่งเฮกตาร์เท่ากับ 6.25 ไร่)

ในขณะเดียวกัน ราคาฝิ่นหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้น 69% ในระหว่างปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากถึง 350 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 11,550 ล้านบาท)

หรือมากกว่าสองเท่าของปีที่แล้ว

แนวโน้มที่ไปในทิศทางเดียวกันคือ เมื่อปลูกฝิ่นเพิ่ม ผู้ค้ายาเสพติดในประเทศก็เพิ่มกิจกรรมการผลิตเพิ่มเช่นกัน

UNODC ประเมินว่ามูลค่าของเศรษฐกิจฝิ่นโดยรวมในเมียนมา รวมถึงรายได้จากการส่งออกฝิ่นและการผลิตเฮโรอีน มีมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ  66,000 ล้านบาท) ในปี 2565

UNODC ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจหลังจากกองทัพขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2564 มีส่วนสำคัญในการทำให้มีการขยายการปลูกฝิ่นทางเหนืออย่างปฏิเสธไม่ได้

เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเสื่อมทรุดลงหลังรัฐประหาร

การจ้างงานทรุดตัวลงเนื่องจากเศรษฐกิจหดตัวเกือบ  18% ในปี 2564 เมื่อประเทศถูกคว่ำบาตรและต่างประเทศถอนการลงทุนออกไป

เมียนมาภายใต้การปกครองของทหารมีการเติบโตของจีดีพีในระดับปานกลางเพียง 2% ในปี 2565 ตามประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

และคาดการณ์ว่าจะเติบโต 3.3% ในปี 2566

รายงานของ UNODC วิเคราะห์ว่า การชะลอตัวทั่วโลกที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 บวกกับราคาเชื้อเพลิงและปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของเมียนมาต้องเผชิญกับปัญหาหนักหน่วงเพิ่มอีกหลายเท่าตัว

เมื่อปากท้องฝืดเคือง สิ่งเย้ายวนใจคือราคาฝิ่นดิบที่สูง  ทำให้มี "แรงจูงใจอย่างมากสำหรับเกษตรกรที่จะรับหรือขยายการปลูกฝิ่น" รายงานของ UNODC ระบุ

หลังการยึดอำนาจโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เมียนมาต้องเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรมและความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการต่อต้านด้วยอาวุธของผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

ซึ่งได้รับความเกื้อหนุนและช่วยเหลือจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ควบคุมพื้นที่บางส่วนของเมียนมา

กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งหลายกลุ่มในสามเหลี่ยมทองคำมีแนวโน้มสนับสนุนกองทัพก็มี

 หรือไม่บางกลุ่มก็วางตัวเป็นกลาง

ดังนั้น ความต้องการอาวุธจากทุกฝ่ายในความขัดแย้งและเศรษฐกิจเชิงกฎหมาย ได้กลายเป็นแรงส่งอย่างมากในการทำให้เศรษฐกิจเถื่อนของเมียนมาขยายตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรง

ข้อมูลของ UNODC ยังบ่งชี้ว่า การที่กองกำลังความมั่นคงของทหารทุ่มกำลังและทรัพยากรทั้งหมดหมกมุ่นอยู่กับการปราบปรามกลุ่มกบฏและไล่ล่าผู้เห็นต่าง ทำให้รัฐบาลไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่การขัดขวางการค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมายเท่าที่ควร

แถมยังมีข้อสงสัยว่ากลุ่มผู้มีอำนาจทางทหารบางกลุ่มอาจมีส่วนพัวพันกับเรื่องยาเสพติดด้วยซ้ำไป

ในช่วง 10 เดือนจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565  การจับกุมฝิ่นโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมียอดรวมเพียง 1 ตัน

ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของระดับในปี 2564

ทั้งๆ ที่การปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การยึดเฮโรอีนก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จาก 2 ตันเป็น 1.2 ตันในช่วงเวลาเดียวกัน

UNODC แจ้งว่า การผลิตฝิ่นที่เพิ่มขึ้นครั้งล่าสุดในเมียนมาได้รับความช่วยเหลือจากวิชาการและเทคโนโยลี การทำไร่ที่ซับซ้อนมากขึ้นในพื้นที่ห่างไกลและยากจนทางตอนเหนือ

รวมถึงการใช้ระบบชลประทานและไร่ขนาดใหญ่ที่มีการจัดการอย่างดี

อีกทั้งยังมีกองทัพสหรัฐว้า ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ซึ่งถูกระบุโดยสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด ได้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการส่งมอบปุ๋ยและสร้างระบบชลประทานให้อีกด้วย

ความพยายามบังคับใช้กฎหมายก็หยุดชะงักเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน โครงการสำคัญของสหประชาชาติที่สนับสนุนเกษตรกรให้เปลี่ยนจากการปลูกฝิ่นเป็นพืชที่ถูกกฎหมาย เช่น กาแฟ ก็ได้รับผลกระทบจากความไม่มั่นคงในประเทศเช่นกัน

UNODC เรียกร้องให้มีการตอบสนองในระดับภูมิภาคต่อการฟื้นคืนชีพการปลูกฝิ่นในเมียนมา

“ผลกระทบต่อภูมิภาคนี้รุนแรงมาก และเพื่อนบ้านของประเทศจำเป็นต้องประเมินและจัดการกับสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา” รายงานเสนอ

และยืนยันว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจจะต้อง “พิจารณาตัวเลือกที่ยากบางอย่าง"

อันหมายถึง มาตรการที่อาจจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของรัฐบาลหรือบางหน่วยงานนัก

แต่ก็จำเป็นต้องทำ หากต้องการจะหยุดยั้งแนวโน้มการขยายตัวการปลูกฝิ่นอย่างจริงจัง

ประเทศไทยเราอยู่ในเส้นทางการผลิต, การค้า และการขนส่งยาเสพติดจากสามเหลี่ยมทองคำโดยตรง

จำเป็นจะต้องแสดงให้คนไทยและชาวโลกได้เห็นว่าเราจริงจังกับการปราบปรามยาเสพติด

พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงทั้งหลายควรจะต้องแสดงความเห็น และเสนอทางออกต่ออันตรายจากสามเหลี่ยมทองคำรอบใหม่นี้ให้ชัดเจนด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำไมยูเครนเรียกร้องอยากได้ขีปนาวุธ Taurus ของเยอรมนี?

ทำไมขีปนาวุธระบบ Taurus ของเยอรมนีจึงได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวาง...โดยเฉพาะที่ยูเครนขอให้ส่งไปให้เพื่อรบกับรัสเซียเป็นพิเศษ?

เมื่อจีนกับอเมริกาทำ สงคราม TikTok!

สงคราม TikTok ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเดือดขึ้นมาอย่างรุนแรงเมื่อสภาผู้แทนราษฎรที่วอชิงตันลงมติด้วยคะแนนท่วมท้นที่จะแบน apps อันโด่งดังระดับโลก

คดีปราบฉ้อฉลเอกชนระดับชาติ ที่เวียดนามดังเปรี้ยงปร้าง!

จีนกับเวียดนามมีแนวทางตรงกันอย่างหนึ่งในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นั่นคือการปราบคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมือง, ราชการและแม้ในภาคเอกชน