เหตุการณ์บอลลูนจีน : เรื่องเครียดผสมตลกร้าย

พอเกิดเหตุการณ์เรื่องสหรัฐฯ ส่งเครื่องบินรบไอพ่นไปยิงทำลายบอลลูนยักษ์ของจีนกลางอากาศเมื่อวันก่อน ก็กลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมือง...และการล้อเลียนระหว่างกันอย่างกว้างขวาง

กลายเป็น “ตลกร้าย” ที่คนทั้งโลกทั้งเครียดทั้งขำไปพร้อมๆ กัน

คนจีนเข้าไปแสดงความเห็นใน social media อย่างคึกคัก...ส่วนใหญ่ออกมาทำนองตำหนิสหรัฐฯ ว่าแตกตื่นเกินเหตุ

ฝั่งคนอเมริกันเองก็มีความเห็นแบ่งแยกเป็นทั้งที่ฟาดฟันจีนอย่างดุเดือด และที่เห็นพ้องกับคนจีนที่เห็นว่าอเมริกาทำ “เกินเหตุ”

กิริยากับปฏิกิริยาไม่ได้สัดส่วนกันอะไรทำนองนั้น

การ์ตูนในโซเชียลมีเดียจีนสองรูปของสื่อทางการจีนบอกให้รู้ว่าทางการจีนมองว่าวอชิงตันพยายามจะทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่เพื่อใส่ร้ายจีน

การ์ตูนบอกว่าอเมริกันปั๊มลูกโป่งให้ใหญ่ขึ้นตามที่ตนต้องการเพื่อจะสร้างภาพว่าจีนเป็นภัยคุกคามของตนอย่างไร

ทั้งๆ ที่เป็นการสูบลมเข้าไปเอง ตัวลูกโป่งเองไม่ได้เป็นภัยกับคนอื่นแต่ประการใด

อีกภาพหนึ่งเป็นสำนวนจีนที่มีความหมายในแง่ของ “กระต่ายตื่นตูม”

แปลตรงตัวได้ความว่า “แค่ได้ยินเสียงง้างของธนู นกก็ตัวสั่นระริกๆ” ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะยิงมาที่ตัวเองหรือไม่แต่อย่างไร

สื่อทางการจีนบอกว่าสหรัฐฯ เป็นถึง “อินทรี” ควรจะต้องมีความเก่งกล้าสามารถไม่ตกตื่นง่ายๆ

แต่ในกรณีนี้กลับทำตัวเป็นนกน้อยขี้ตกใจไปได้

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาในโซเชียลมีเดียจีน กรณีนี้ถูกเรียกเป็น “เหตุการณ์บอลลูนจีน 2023” ลุกลามใหญ่โต เต็มไปด้วยคอมเมนต์ที่ร้อนแรง, ขำขัน, ประชดประชันเต็มพิกัด

จนตอนนี้เฉพาะหัวเรื่องนี้มีหน้า Wikipedia เป็นของตัวเองแล้ว

เริ่มเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 มีการประกาศว่า "บอลลูนเฝ้าระวัง" ของจีนลอยตัวอยู่สหรัฐอเมริกาตอนเหนือ

ต่อมามีรายงานว่า บอลลูนจีนลูกที่สองลอยอยู่เหนือละตินอเมริกา

ผลที่ตามมาคือ แอนโทนี บลินเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยกเลิกกำหนดการเยือนปักกิ่ง   โดยเรียกบอลลูนของจีนว่า “เป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ”

สื่อจีนบอกว่าบอลลูนนี้ยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “บอลลูนสอดแนมของจีน” (surveillance balloon)

เช้าวันอาทิตย์หลังตี 4 ตามเวลาท้องถิ่นของจีน มีข่าวออกมาว่ากองทัพสหรัฐฯ ได้ยิงบอลลูนของจีนตกนอกชายฝั่งแคโรไลนา หลังจากพื้นที่ชายฝั่งของนอร์ทแคโรไลนาและเซาท์แคโรไลนาถูกปิด เนื่องจากปฏิบัติการด้านความมั่นคงแห่งชาติ

ในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ เจ้าหน้าที่จีนเรียกบอลลูนว่าเป็น "เรือเหาะ" ของพลเรือน ("飞艇")

ที่ใช้สำหรับการตรวจวัดสภาพอากาศและการวิจัยทางอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเบี่ยงเบนไปจากเส้นทางเดิมเนื่องจากลม

เหตุการณ์นี้จึงถูกขนานนามเป็น "เหตุการณ์เรือเหาะของจีน" ("中国飞艇事件") โดยสื่อจีน

ในสื่อสังคมออนไลน์ของจีน ประเด็นนี้เรียกว่า “เหตุการณ์บอลลูน” (“气球事件”) หรือ “ปัญหาบอลลูน” (“气球问题”)

และชาวเน็ตหลายคนคิดว่าเป็นเรื่องของ “การทำประเด็นเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่” (“小题大做”)

นอกจากนี้เพื่อความสนุกสนานและสะใจของคนจีนบางคน บอลลูนยังมีชื่อเล่นว่า “บอลลูนพเนจร” (流浪气球)

เพื่อเทียบเคียงกับภาพยนตร์ที่ทำรายได้ทะลุบ็อกซ์ออฟฟิศของจีนเรื่อง The Wandering Earth II

หนึ่งในแฮชแท็กที่ใช้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้คือ “The Wandering Balloon II” (#流浪气球2#)

หู ซีจิน นักวิจารณ์การเมืองชาวจีน ซึ่งเป็นเจ้าประจำที่โพสต์ความเห็นเชียร์จีนและฟาดฟันตะวันตกขึ้นข้อความว่า ฝ่ายสหรัฐฯ นั้นความจริงก็ตระหนักดีว่าบอลลูนของจีน ซึ่งบังเอิญไป "หลงทาง" นั้นแท้จริงแล้ว "ไม่ก่อให้เกิดอันตราย" แต่อย่างไร

แต่ก็ยังรายงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเจตนาจะใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างเรื่องเล่าต่อต้านจีน

เหตุผลของหู ซีจิน สอดคล้องกับของศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน Li Haidong หลี่ห่ายตง (李海东)  ซึ่งอ้างว่าเรื่องบอลลูนถูกตีกรอบว่าเป็นภัยคุกคามเพื่อให้สหรัฐฯ ได้เปรียบในการเจรจาทวิภาคี

หลังจากมีรายงานข่าวเกี่ยวกับบอลลูนของจีนที่ถูกยิงตก ผู้แสดงความคิดเห็นใน Weibo บางคนพูดติดตลกว่า "บอลลูนเด็กผู้น่าสงสาร" ถูกยิงตกอย่างโหดเหี้ยมโดยที่ไม่มีเวลาแม้แต่จะลอยเล่นอยู่บนท้องฟ้าเลย

อีกบางความเห็นก็บอกว่า “น่าเสียดายจริงๆ” ขณะที่คนอื่นๆ แนะนำว่ามันเป็น “แค่ลูกโป่งที่หลงทาง” เท่านั้น ไม่ควรกลายเป็นเรื่องที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศถึงขั้นนี้เลยถ้าวอชิงตันไม่ปั้นเรื่องให้เลวร้ายเพื่อประโยชน์ของตน

หนึ่งในแฮชแท็กที่ใช้สำหรับการสนทนาออนไลน์เกี่ยวกับบอลลูนที่ถูกยิงตกคือ “บอลลูนพเนจรถูกยิงตก” (#流浪气球被击落#) และ “The 'Wandering Balloon' Gets down by American Military” (#流浪气球被 击落#)

นอกจากนี้ยังมีเรื่องตลกขำขันในโลกออนไลน์มากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้

เช่น คนจีนคิดว่าภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Wandering Earth II เป็นภาพยนตร์ฮิตในปัจจุบัน และพวกเขาไม่คาดคิดว่า 'Wandering Balloon' จะเป็นภาพยนตร์ฮิตในช่วงเวลานั้น

ไม่น่าแปลกใจที่กรณีบอลลูนของจีนทำให้ผู้คนออนไลน์เปรียบเทียบภาพยนตร์ไซไฟ Wandering Earth เพราะหนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา

และก็ยังมีการโยงไปถึงช่วงเทศกาลโคมไฟจีนที่มีการเฉลิมฉลองในวันที่ 15 เดือนแรกของวันตรุษจีน เป็นโอกาสอวยพรให้ทุกคนมีความสุขในปีใหม่

ผู้คนก็โยงเรื่องบูลลูนกับโคมไฟจีนอีกจนได้เช่นกัน

แต่อารมณ์ขันและถ้อยเยาะเย้ยถากถางของคนจีนนั้นก็แฝงไว้ด้วยความหวั่นเกรงเช่นกันว่าเรื่อง “ตลกร้าย” อย่างนี้อาจจะเพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

และแม้กระแสความรู้สึกชาตินิยมในประเทศจีนจะรุนแรงในหมู่ประชาชนคนจีนไม่น้อย แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่กังวลว่าบรรยากาศที่เสื่อมทรุดระหว่างสองประเทศจะมีผลกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังโควิดมากน้อยเพียงใด

กรณี “บอลลูนจีน” จึงไม่ใช่แค่เรื่องหยอกล้อกันให้สนุกสนานหรือวิพากษ์อเมริกาให้สนุกปากเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายมิติที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะลงเอยอย่างไร

โดยที่ทั้งปักกิ่งและวอชิงตันจะไม่เสียฟอร์มมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้เรื่องนี้ผ่านไปเหมือน “ฝันร้าย” เท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำไมยูเครนเรียกร้องอยากได้ขีปนาวุธ Taurus ของเยอรมนี?

ทำไมขีปนาวุธระบบ Taurus ของเยอรมนีจึงได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวาง...โดยเฉพาะที่ยูเครนขอให้ส่งไปให้เพื่อรบกับรัสเซียเป็นพิเศษ?

เมื่อจีนกับอเมริกาทำ สงคราม TikTok!

สงคราม TikTok ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเดือดขึ้นมาอย่างรุนแรงเมื่อสภาผู้แทนราษฎรที่วอชิงตันลงมติด้วยคะแนนท่วมท้นที่จะแบน apps อันโด่งดังระดับโลก

คดีปราบฉ้อฉลเอกชนระดับชาติ ที่เวียดนามดังเปรี้ยงปร้าง!

จีนกับเวียดนามมีแนวทางตรงกันอย่างหนึ่งในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นั่นคือการปราบคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมือง, ราชการและแม้ในภาคเอกชน