ข่าวบอกว่าสี จิ้นผิงจะไปสัมผัสมือกับปูตินที่มอสโกด้วยตนเอง...และขณะเดียวกันวอชิงตันกับปักกิ่งก็กำลังตระเตรียมให้โจ ไบเดนกับสี จิ้นผิงได้ประชุมสุดยอดกับอีกรอบหนึ่งในปีนี้
ผมอยากเห็นทั้งสามท่านนัดเจอพร้อมหน้ากันเพื่อหาทางยุติสงครามยูเครน
มากกว่าที่แยกกันเจอเพื่อจะเพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองค่ายยักษ์บนเวทีระหว่างประเทศ
แต่พอเกิดเรื่อง “บอลลูน” จีนขึ้นมา ผมก็ชักไม่แน่ใจว่าไบเดนกับสี จิ้นผิงจะต้องเลื่อนการพบปะกันไปอีกนานเท่าไหร่ บรรยากาศระหว่างสองยักษ์นี้จึงจะกลับมาสู้ภาวะ “ตึงเครียดปกติ”
เพราะผมเชื่อว่าสี จิ้นผิงน่าจะมีบทบาทเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” ให้ทั้งรัสเซีย, สหรัฐฯ, ยุโรปและยูเครนเข้าสู่โหมดการของการเจรจาเพื่อให้สงครามจบลงเมื่อครบรอบ 1 ปี ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้
แทนที่จะมีการคาดการณ์ว่าต่างฝ่ายต่างกำลังเตรียมการที่จะทำสงครามยืดเยื้อกันต่อไปอีก
กระทรวงต่างประเทศรัสเซียออกข่าวว่าสี จิ้นผิงของจีนจะเยือนมอสโคว แต่ผมยังรอให้มีคำยืนยันจากปักกิ่ง
เพราะหากผู้นำจีนไปรัสเซียจริง ช่วงเวลานี้ก็จะใกล้ครบรอบ 1 ปีของสงครามยูเครน
เป็นจังหวะเวลาที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินอาจจะอยากให้เกิดขึ้นเพื่อส่งสัญญาณว่าได้รับการสนับสนุนจากจีนใน “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” อย่างเต็มที่
แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าสี จิ้นผิงเองอยากจะให้ถูกมองว่าการไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการในจังหวะนี้เป็นการประทับตราเปิดทางโล่งให้รัสเซียลุยต่อไปในยูเครน
แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศรัสเซียดูเหมือนจะยืนยันการเยือนมอสโกของผู้นำเผด็จการจีน สี จิ้นผิงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยเรียกการปรากฏตัวของสี จิ้นผิงในมอสโกว่าเป็น “เหตุการณ์สำคัญในวาระทวิภาคีสำหรับปี 2566”
โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศจีนที่ถูกถามเกี่ยวกับคำแถลงจากคู่ความในมอสโกในวันต่อมาปฏิเสธที่จะยืนยันการเยือนดังกล่าว
แต่เธอเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทางการค้าและการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศ
ไม่ต้องสงสัยว่าสีและกับปูตินเป็น “สหาย” กันมายาวนาน
แต่เป็น “สหาย” ด้านเศรษฐกิจ, การเมืองและสังคมเป็นหลัก
เพราะผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกเป็น “สหายร่วมรบ” ในกรณียูเครนได้หรือไม่
เพราะสี จิ้นผิงพยายามจะ “รักษาระยะห่าง” กับเรื่องสงครามมาตลอด
สีกับปูตินพูดคุยผ่านวิดีโอคอลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคมปีที่แล้ว
ปูตินถือโอกาสนั้นเชิญสี จิ้นผิงไปเยือนมอสโกอย่างเป็นทางการในฤดูใบไม้ผลิซึ่งก็จะตกราวเดือนมีนาคม-เมษายนของปีนี้
นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด สี จิ้นผิงไม่ยอมออกจากปักกิ่ง เมื่อปลายปี 2019
และเริ่มออกนอกประเทศในเดือนกันยายน โดยไปเยือนคาซัคสถานและอุซเบกิสถานที่อยู่ใกล้กัน
มีโอกาสพบปะกับปูตินตัวเป็น ๆ ที่ Shanghai Cooperation การประชุมองค์การ (SCO) ที่อุซเบกิสถานในฐานะเจ้าภาพ
“ในปีนี้ รัสเซียและจีนจะร่วมมือกันยกระดับและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างรัฐบาลทั้งสอง อย่างที่ทุกท่านได้รับทราบแล้ว ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียได้เชิญผู้นำจีน สี จิ้นผิง เยือนอย่างเป็นทางการในฤดูใบไม้ผลินี้” กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุในแถลงการณ์อ้างจากสำนักข่าวรัสเซีย Tass
“เราดำเนินการต่อจากความเข้าใจที่ว่านี่จะเป็นเหตุการณ์สำคัญในวาระทวิภาคีในปี 2566”
กระทรวงต่างประเทศรัสเซียไม่ได้ระบุว่า สี จิ้นผิงได้ตอบรับคำเชิญของปูติน
“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศของเราสามารถประสานแนวทางนโยบายต่างประเทศของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของโลก” กระทรวงการต่างประเทศอ้าง
โดยไม่ได้กล่าวอ้างถึงการรุกรานอย่างต่อเนื่องของรัสเซียในยูเครนเพื่อนบ้าน
“ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรของเรา เราได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับความพยายามของสหรัฐฯ เพื่อบรรลุการครอบงำโลกโดยการส่งเสริมแนวคิดของระเบียบที่อิงตามกฎ” แถลงการณ์สรุป
กระทรวงต่างประเทศรัสเซียยังเน้นย้ำถึงสถานะของจีนในฐานะหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย “สถานะที่ยาวนานมากว่าทศวรรษ”
และสำทับว่ารัฐบาลของปูตินกำลังหาทางเพิ่มปริมาณการค้าจีน-รัสเซียเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2566
รัสเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จีนขาดดุลการค้าด้วย
เป็นการค้าระหว่างสองประเทศที่พิ่มขึ้นสามเท่าในปี 2565 เพราะปักกิ่งเพิ่มการใช้จ่ายด้านน้ำมันดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะที่ปักกิ่งพยายามรักษา “ความเป็นกลาง” ในกรณีการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่ก็ประกาศต่อต้านการที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียอันเป็นผลมาจากการทำสงคราม
ในระหว่างการพูดคุยกับปูตินในเดือนธันวาคม สีระบุว่าจีนยังคง “มีจุดยืนที่เป็นกลาง” ต่อสงครามยูเครน
แต่ไม่เคยออกมากล่าวติติงรัสเซียกรณีส่งทหารเข้ายึดครองดินแดนของยูเครน
จุดยืนของจีนเช่นนี้ไม่ได้หยุดยั้งประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนที่พยายามเข้าหาปักกิ่งให้น้าวโน้มรัสเซียให้ยุติการรุกราน
“ผมขอพูดตรงๆ ว่าผมคุยกับ [ประธานาธิบดี] สี จิ้นผิง เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว” เซเลนสกีกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ South China Morning Post ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา
“ตั้งแต่เริ่มการรุกรานครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เราได้ขอการพูดคุยอย่างเป็นทางการ แต่เรา (ยังไม่ได้) สนทนาใดๆ กับจีน แม้ว่าผมเชื่อว่าการได้สนทนากับท่านผู้นำจีนจะเป็นประโยชน์ก็ตาม”
ในการสัมภาษณ์เดียวกันนั้น เซเลนสกีได้เชิญ "ธุรกิจจีน" ให้มาช่วยก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูส่วนที่ถูกทำลายของยูเครนขึ้นใหม่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง
ยูเครนยังคงรักษาความสัมพันธ์ฉันมิตรกับจีน แม้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะสนับสนุนทางการเงินแก่รัสเซียก็ตาม
ยูเครนเป็นสมาชิกของโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่จีนช่วยประเทศต่าง ๆ สร้างถนน, ทางรถไฟและท่าเรือเพื่อการเชื่อมต่อทางด้านการขนส่งและ logistics ระดับโลก
ระหว่างการประชุม World Economic Forum เมื่อเดือนที่แล้วที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง Olena Zelenska ภริยาของเซเลนสกีได้ฝากจดหมายส่วนตัวจากเซเลนสกีถึงสี จิ้นผิงผ่านถึงสมาชิกคณะผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่งานนี้ด้วย
“เป็นการแสดงท่าทีทางบวกและเป็นคำเชิญท่านให้ช่วยกระบวนการเจรจา และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการตอบรับคำเชิญนี้” เซเลนสกีกล่าว
ขณะเดียวกันข่าวอีกด้านหนึ่งแจ้งว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีน กำลังเตรียมจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสองมหาอำนาจอีกครั้งในปีนี้
โจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯได้พบปะหารือตัวต่อตัวกับสี จิ้นผิงมาแล้ว ที่การประชุมสุดยอด G-20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ปีนี้ อินเดียจะเป็นเจ้าภาพการประชุม G-20 ที่กรุงนิวเดลี ในช่วง 9-10 กันยายน
และสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจAOEC ที่นครซานฟรานซิสโก ในเดือนพฤศจิกายนนี้
แต่ถ้าใครจัดให้มีการประชุมสุดยอดสามเส้าระหว่างปูติน-สี-ไบเดนได้เพื่อประชุมสันติภาพระดับโลก ก็จะเป็นโอกาสที่ให้ “3 ผู้ยิ่งใหญ่” ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันิติภาพได้เลย!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Open AI GPT-4 จะ ทำให้ใครตกงานบ้าง?
ถ้า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่ผู้คนเริ่มพูดถึง Chat-GPT รุ่นปรับปรุงใหม่ คนอาชีพอะไรจะตกงานบ้าง?
ศาลอาญาโลกจะจับปูตินได้หรือไม่?
มีคำถามว่าเมื่อศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ฐานก่ออาชญากรรมสงครามแล้ว, ในทางปฏิบัติศาลนานาชาติแห่งนี้จะสามารถเอาตัวปูตินมาขึ้นศาลได้หรือไม่
เมื่อมะกัน-อังกฤษ-ออสซี่ เสริมกำลัง แถวบ้านเราก็เริ่มกังวล
ทันทีที่อเมริกา, อังกฤษ และออสเตรเลีย ประกาศแผนร่วมมือสร้างกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลียภายใต้ AUKUS มาเลเซียก็ออกแถลงการณ์ส่งสัญญาณเตือนภัยทันที
เมื่อจีนผงาดขึ้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพตะวันออกกลาง
ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไปเล่นบทผู้แสวงหาสันติภาพที่มอสโกอยู่ขณะนี้ ก็ต้องหันไปดูบทบาทจีนที่ทำให้อิหร่านกับซาอุดีอาระเบียกลับมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้เป็นตัวอย่างชัดเจน
ที่มอสโก: สี จิ้นผิงจะ ชวนปูตินคุยอะไร?
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง บินถึงมอสโกเมื่อวานนี้...เตรียมจะคุยกับ “สหายรัก” วลาดิเมียร์ ปูตินในภาวะโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด
สี จิ้นผิง เยือนมอสโกวันนี้ขณะ ศาลโลกออกหมายจับปูติน!
วันนี้สงครามยูเครนเข้าสู่วันที่ 390 มีเรื่องร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่ล้วนแล้วแต่ส่งสัญญาณไปในทางที่สร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในระดับโลก