อินโดฯจะส่งนายทหาร ไปคุยกับมิน อ่อง หล่าย

พออินโดนีเซียรับไม้ต่อจากกัมพูชามาเป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนปีนี้ก็ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาเมียนมาใหม่ เพราะที่ผ่านมาสองปี, นายกฯฮุนเซนแห่งกัมพูชาพยายามเกือบทุกวิถีทางแล้วก็ไร้ผล

พม่ายังเป็น “เด็กเกเร” ของอาเซียน ไม่มีความคืบหน้าเรื่อง “ฉันทามติ 5 ข้อ” แม้แต่ข้อเดียว

มิหนำซ้ำ วันครบรอบ 2 ปีของรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่ายังประกาศขยายประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ไปอีก 6 เดือน

ทำให้มีการตีความว่านั่นอาจจะหมายความว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่พลเอกมิน อ่อง หล่ายได้สัญญาเอาไว้ว่าจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนั้นอาจจะต้องเลื่อนออกไปอีก

โดยอ้าง “ความไม่แน่นอนในสถานการณ์ความมั่นคงของประเทศ”

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดหรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โจโกวี” ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์เมื่อวันครบรอบ 2 ปีของการยึดอำนาจจากฝ่ายทหารจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีว่าเขากำลังคิดจะส่งนายทหารอาวุโสอินโดฯไปพม่าเพื่อทำภารกิจสำคัญ

นั่นคือให้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเหล่าบรรดานายพลของพม่าว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากระบบบทหารมาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย

เรื่องนี้แกบอกว่าอินโดนีเซียมีประสบการณ์มาก่อน และสามารถทำให้การเปลี่ยนผ่านจาก “เผด็จการทหาร” มาเป็น “ประชาธิปไตย” ค่อนข้างประสบความสำเร็จ

ดังนั้น อินโดนีเซียหวังว่าถ้าพลเอกมิน อ่อง หล่ายได้นั่งคุยแลกเปลี่ยนกับนายพลอินโดฯที่มีประสบการณ์ด้านการ “ปฏิรูปการเมือง” ก็น่าจะได้ประโยชน์

เป็นวิธีคิดที่น่าสนใจ แต่จะได้ผลหรือไม่อย่างไรยังไม่มีใครบอกได้

เพราะพอได้อ่านข่าวนี้ผมก็คิดต่อทันที่ว่ามิน อ่อง หล่ายจะยอมพบกับนาพลอินโดฯเกษียณอายุหรือเปล่า

และหากจะพบกัน บทสนทนาจะไปในทิศทางไหน

ผมก็จะไม่แปลกใจเลยหากว่ามิน อ่อง หล่ายจะกล่าวขอบคุณโจโกวีตั้งแต่ต้นว่าขอบคุณให้ความปรารถนาดีต่อพม่า แต่คงจะไม่ค่อยมีประโยชน์อะไร

มิน อ่อง หล่าย คงอ้างว่าสถานการณ์ของพม่ากับของอินโดฯและประเทศอื่น ๆ มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรมและเศรษฐกิจมาก

ดังนั้น พม่าอาจจะไม่สามารถเอารูปแบบของอินโดฯมาใช้ได้แต่อย่างไร

แต่ก็ไม่แน่ โจโกวีอาจจะสามารถน้าวโน้มนายพลพม่าให้หาทางลงอย่างมีศักดิ์ศรีแบบเดียวกับที่กองทัพอินโดฯสามารถเอาตัวเองออกจากวงจรอุบาทว์ทางการเมืองและการทหารได้โดยไม่เสียหาย

และกลับกู้ชื่อเสียงและสถานภาพของกองทัพให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในฐานะเป็น “ทหารอาชีพ” ที่กลับเข้ากรมกองและทำหน้าที่ป้องปกรักษาความมั่นคงของชาติอย่างน่าชื่นชมและชอบธรรม

โจโกวีบอกว่า “นี่เป็นเรื่องของแนวทาง อินโดนีเซียเรามีประสบการณ์ที่มีหลายส่วนคล้าย ๆ กับเมียนมา”

"ประสบการณ์นี้จะบอกได้ว่าเราผ่านอดีตมาอย่างไร และจะสร้างประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนนั้น กองทัพจะต้องทำอะไร และส่วนอื่น ๆ ของสังคมจะต้องทำอย่างไรด้วย" โจโกวีบอก

วันนี้ถือได้ว่าอินโดนีเซียถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

เคยถูกปกครองโดยผู้นำทางทหารอย่างนายพลซูฮาร์โตมานานกว่า 30 ปี

ก่อนที่เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งท่ามกลางการประท้วงครั้งใหญ่และวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2541 อันเป็นจังหวะเดียวกับที่ประเทศไทยเราเผชิญกับ “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

ส่วนกองทัพพม่าที่นำโดยนายพลเนวินเข้ายึดอำนาจในปี 2505 ซึ่งนำไปสู่การโดดเดี่ยวประเทศและปราบปรามผู้เห็นต่างมานานหลายทศวรรษ จนกระทั่งมีการเปิดประเทศ ยอมให้ประชาชนเลือกผู้แทนของตนอย่างกว้างขวางอย่างเป็นทางการในปี 2554

แต่การทดลองกับประชาธิปไตย ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งที่พรรค NLD ที่นำโดยออง ซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพได้ยุติลงและเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เมื่อกองทัพขับไล่รัฐบาลของซูจี บังคับใช้กฎทหารที่เข้มงวดอีกครั้ง

และปราบปรามการประท้วงอย่างหนักหน่วงและรุนแรง

เมื่อเมียนมาถูกตะวันตกประณามและคว่ำบาตรอีกครั้ง อาเซียนได้จัดทำแผน 5 ประการที่เรียกว่า “ฉันทามติ 5 ข้อ” ได้แก่ การยุติความรุนแรง การเจรจา ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการเยือนของทูตอาเซียนทุกด้าน

แต่บรรดานายพลของเมียนมายังคงดื้อรั้น ไม่ยอมนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังแม้แต่เรื่องเดียว

แม้นายกฯฮุนเซนของกัมพูชาซึ่งเป็นประธานอาเซียนเมื่อปีที่แล้วพยายามจะแสดงตนเข้าใจนายพลมิน อ่อง หล่ายแต่ก็ไม่สามารถกดดันให้ผู้นำทหารพม่ายอมทำตามมติของอาเซียนได้แต่อย่างใด

โจโกวีใช้จังหวะครบรอบสองปีของการรัฐประหารของเมียนมายืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำให้แผนการของอาเซียนเกิดขึ้นในความเป็นจริงให้ได้

และตอกย้ำว่าอาเซียนจะ "ไม่ตกเป็นตัวประกัน" ต่อความขัดแย้งในเมียนมา

ที่ผมคิดว่าเป็นคำมั่นสัญญาที่มีความเด็ดขาดและชัดเจนก็คือประโยคที่เขาย้ำว่าหากไม่มีความคืบหน้า ก็จะ "ดำเนินการอย่างเด็ดขาด"

แม้จะไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะทำอะไรเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติก็ตาม

โจโกวีย้ำว่าเขาในฐานะประธานอาเซียนปีนี้จะทำให้อาเซียนเป็น 'ศูนย์กลางแห่งการเติบโต'

นั่นหมายถึงการต้องแก้ปัญหาคาราคาซังเกี่ยวกับพม่าอย่างชัดเจน

เขาไม่ได้ปิดประตูที่จะไปเยือนพม่าด้วยตนเองหากจำเป็นแต่ยอมรับว่าการเจรจาน่าจะ "ง่ายขึ้น" ระหว่างเจ้าหน้าที่ที่มาจากภูมิหลังเดียวกัน

หมายความว่านายทหารคุยกับนายทหารก็น่าจะพูดเปิดอกกันได้ดีกว่า

โจโกวีไม่เปิดเผยว่าจะส่งนายทหารคนไหนไปหามิน อ่อง หล่ายแต่ย้ำว่าจะส่งไปให้ "เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

แต่ก็บอกใบ้ว่านายทหารอินโดฯที่จะรับภารกิจนี้จะเป็นบุคคลที่เกี่ยวกับการปฏิรูปของอินโดนีเซีย

เป็นที่รู้กันว่าเหล่าบรรดาสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศนั้นมีความเห็นแตกต่างกันว่าด้วยการจัดการกับปัญหาเมียนมา

สมาชิกบางกลุ่ม เช่น ไทย ต้องการใช้วิธีนิ่มนวล พยายามหว่านล้อมโดยไม่กดดันอย่างเปิดเผยมากเกินไป

เช่นไทยมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงเทพฯที่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศรัฐบาลทหารพม่ามาเมื่อเดือนธันวาคม

แต่ก็ถูกสมาชิกครึ่งหนึ่งของอาเซียนขอตัวไม่มาร่วมสังฆกรรมกับรัฐมนตรีจากพม่า

สมาชิกอาเซียนอื่นๆ ดูเหมือนจะผิดหวังมากขึ้นกับกองทัพเมียนมา

และได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะคงคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ระดับสูงเข้าร่วมการประชุมอาเซียนเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจของอาเซียนต่อรัฐบาลทหารพม่าที่ไม่ให้ความร่วมมือกับอาเซียนในภาพรวม

ในฐานะประธานกลุ่ม G-20 เมื่อปีที่แล้ว อินโดนีเซียวางตำแหน่งตัวเองเป็นสะพานเชื่อมทางการทูตในวิกฤตระหว่างรัสเซียและยูเครน และจัดการเพื่อให้ได้แถลงการณ์ร่วมในการประชุมสุดยอดผู้นำที่บาหลีเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

เขายอมรับหน้าชื่นตาบานว่า "สถานการณ์ไม่ง่าย"

ผมจะคอยดูว่าเมื่อโจโกวีส่งนายทหารไปจับเข่าคุยกับมิน อ่อง หล่าย จะเกิดความเข้าใจมากกว่าส่งนักการทูตอาเซียนไปหรือเปล่า

นี่คือคือความท้าทายใหม่สำหรับอาเซียนอีกรอบหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Open AI GPT-4 จะ ทำให้ใครตกงานบ้าง?

ถ้า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่ผู้คนเริ่มพูดถึง Chat-GPT รุ่นปรับปรุงใหม่ คนอาชีพอะไรจะตกงานบ้าง?

ศาลอาญาโลกจะจับปูตินได้หรือไม่?

มีคำถามว่าเมื่อศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ฐานก่ออาชญากรรมสงครามแล้ว, ในทางปฏิบัติศาลนานาชาติแห่งนี้จะสามารถเอาตัวปูตินมาขึ้นศาลได้หรือไม่

เมื่อมะกัน-อังกฤษ-ออสซี่ เสริมกำลัง แถวบ้านเราก็เริ่มกังวล

ทันทีที่อเมริกา, อังกฤษ และออสเตรเลีย ประกาศแผนร่วมมือสร้างกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลียภายใต้ AUKUS มาเลเซียก็ออกแถลงการณ์ส่งสัญญาณเตือนภัยทันที

เมื่อจีนผงาดขึ้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพตะวันออกกลาง

ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไปเล่นบทผู้แสวงหาสันติภาพที่มอสโกอยู่ขณะนี้ ก็ต้องหันไปดูบทบาทจีนที่ทำให้อิหร่านกับซาอุดีอาระเบียกลับมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้เป็นตัวอย่างชัดเจน

สี จิ้นผิง เยือนมอสโกวันนี้ขณะ ศาลโลกออกหมายจับปูติน!

วันนี้สงครามยูเครนเข้าสู่วันที่ 390 มีเรื่องร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่ล้วนแล้วแต่ส่งสัญญาณไปในทางที่สร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในระดับโลก