นายกฯมาเลเซียอันวาร์ อิบราฮิมมาเยือนไทยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา...มีข้อเสนอเรื่องพม่าที่ขึงขังร้อนแรงที่สุดในบรรดาผู้นำอาเซียน
แปลความได้ว่าผู้นำมาเลเซียคนใหม่กำลังเสนอว่าอาเซียนอาจจะต้องระงับสมาชิกภาพของพม่าเป็นการชั่วคราว...จนกว่าจะมีความคืบหน้าเรื่อง “ฉันทนามติ 5 ข้อ” หรือไม่?
ถ้าจะตีความให้ร้อนแรงกว่านั้นก็ต้องบอกว่าอันวาร์แนะนำว่าสำหรับอาเซียนตอนนี้ “นิ้วไหนเป็นนิ้วร้ายต้องตัดออกไป”
อันวาร์ใช้ประโยคที่ชัดเจนและร้อนแรงพอสมควรว่า
“We should carve Mynamar out for now. And I don’t think the Myanmar issue should frustrate our hopes.
“It would be ideal if we could have a strong consensus in delivering a strong message on the Myanmar issue.
“You have every right to have your own domestic policies and priorities but the rogue countries at this time should not continue with these discriminatory policies, marginalizing of their people, or intimidating or worse perpetuating violence against their own people…”
ชัดเจนว่าอันวาร์กำลังบอกว่าอาเซียนอาจจะต้อง “ตัดเมียนมาออกไปก่อน” เพื่อไม่ให้ดับความหวังขององค์กร
และจะเป็นเรื่องที่ดีมากหากอาเซียนสามารถมี “ฉันทามติ” หรือความเป็นเอกภาพในการส่งสารที่ชัดเจนออกมาในเรื่องพม่า
นั่นเท่ากับยอมรับว่าทุกวันนี้สมาชิกอาเซียนทั้งปวงยังไม่สามารถที่จะมี “จุดยืนร่วม” ที่ชัดเจนและเข้มแข็งแกร่งเกี่ยวกับพม่าได้
อันวาร์ยืนยันว่าประเทศไทยในฐานะเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับพม่าที่สุดจะต้องเพิ่มบทบาทในเรื่องนี้
เขาขอให้ไทยมีบทบาทมากขึ้นในการนำความมั่นคงมาสู่พม่า ในขณะที่ความพยายามทางการทูตเพื่อนำมาซึ่งสันติภาพในประเทศยังไม่ประสบผลทางบวกที่จับต้องได้
อันวาร์ไม่ได้พูด แต่วงการทูตและนักวิชาการในไทยเองและต่างประเทศก็ได้ส่งเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับการที่รัฐบาลไทยชุดนี้รักษาความสัมพันธ์ที่เป็นปกติกับรัฐบาลทหารของเมียนมามาตลอด
อันวาร์ระบุถึงความโหดร้ายที่ประชาชนคนพม่าได้รับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน
อีกตอนหนึ่งของคำกล่าวของนายกฯมาเลเซียนั้นบอกว่า
“เราทำอะไรได้น้อยมากนอกจากสานต่อสิ่งที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลทหารพม่า”
เป็นที่รู้กันว่ามาเลเซียก็ต้องรับผู้ลี้ภัยกว่า 2 แสนคนจากพม่า ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมหลายพันคน ซึ่งถูกกดขี่ข่มเหงอย่างหนักในเมียน
ไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น ชาวโรฮิงญาเกือบหนึ่งล้านคนอาศัยอยู่ในค่ายใกล้ชายแดนบังกลาเทศกับเมียนมา หลังจากหลบหนีการปราบปรามของทหารอย่างโหดเหี้ยมในปี 2560
อันวาร์กล่าวว่าผู้ลี้ภัยเกือบ 200,000 คนที่ประเทศของเขาให้ที่อยู่นั้นเป็นภาระหนักอึ้ง
จนถึงขณะนี้อาเซียนยังไม่ประสบความสำเร็จในการใช้วิถีทางการทูตเพื่อแก้วิกฤตพม่า
อันวาร์กล่าวว่าอาเซียนต้องการ "การกระทำที่สอดคล้องกันและร่วมมือกัน"
ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดฯเรียกร้องให้ประเทศอาเซียนแสดง
”ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ในการดำเนินการตามข้อตกลงสันติภาพ
อันวาร์กล่าวว่าเมียนมาร์มี “สิทธิทุกประการ” ที่จะมีนโยบายและลำดับความสำคัญภายในประเทศของตนเอง
“แต่ไม่มีประเทศใดในยุคนี้ที่ไม่ควรดำเนินนโยบายแบบเลือกปฏิบัติ ทำให้คนเป็นชายขอบ หรือข่มขู่ หรือแย่กว่านั้นคือใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของคุณเอง”
เขาย้ำว่าอาเซียน “จะต้องส่งเสริม แนะนำกลไกใหม่ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าความโหดร้ายที่กระทำต่อประชาชนของพวกเขาจะต้องยุติลง”
อันวาร์กล่าวอาเซียน “ควรกล้าหาญพอที่จะพยายามแก้ไขปัญหานี้” เพราะไม่ควรทนต่อการกระทำเช่นนี้ การทารุณกรรมและเนื่องจากวิกฤตดังกล่าวทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องแสวงหาความปลอดภัยในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงบังกลาเทศ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
แน่นอนว่าเมื่อมีข้อเสนอให้ระงับสมาชิกภาพของพม่าในอาเซียนเพื่อกดดันให้พม่าต้องทำตามฉันทามติ 5 ข้อก็อาจจะมีบางประเทศในอาเซียนเองที่หวั่นว่าการกระทำเช่นนั้นอาจจะยิ่ง “โดดเดี่ยว” พม่าหนักขึ้น
และอาจจะทำให้พม่าปิดประตูตาย ไม่ยอมเจรจากับอาเซียน อันจะนำไปสู่การที่กองทัพพม่าอาจะปราบปรามประชาชนหนักขึ้นไปอีกก็เป็นได้
กลุ่มประเทศอาเซียนที่สนับสนุนแนวทาง “นิ่มนวล” เช่นไทย, ลาว, กัมพูชาและเวียดนามเห็นต่างกับกลุ่มสมาชิกอาเซียนในภาคทะเลเช่นอินโดฯ, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์และบรูไน
ห้าประเทศหลังนี้คิดว่าอาเซียนได้ยอมรัฐบาลทหารพม่ามายาวนานพอแล้ว ได้เวลาที่จะต้องกดดันพม่าให้มากขึ้นเพราะหาไม่แล้วอาเซียนก็จะถูกมองเป็น “เสือกระดาษ”
ประเทศตะวันตกหลายแห่งได้เพิ่มแรงกดดันมายังอาเซียนให้เพิ่มมาตรการลงโทษพม่ามากขึ้นเพราะที่ผ่านมา 2 ปีได้พิสูจน์แล้วว่าวิธีการน้าวโน้มและการทูตแบบนิ่มนวลนั้นไม่ได้ทำให้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายยอมผ่อนปรนการปราบปรามประชาชนของตนแต่ประการใดเลย
พอนายกฯอันวาร์มา “ทิ้งระเบิด” เรื่องพม่าที่กรุงเทพฯเมื่อวันศุกร์ ก็คงจะทำให้ประธานหมุนเวียนอาเซียนปีนี้คืออินโดนีเซียต้องทำหน้าที่ประสานให้อาเซียนมานั่งพูดคุยกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง
เพื่อแสวงหาแนวทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพต่อการแก้ปัญหาพม่าแต่ก็ต้องประคองไม่ให้อาเซียนปริแตกจนกลายเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่เป็นอยู่
ประเด็นพม่าจึงกลายเป็น “เผือกร้อน” ที่ท้าทายความสามารถของผู้นำอาเซียนทั้งหมดในการหาทางออกต่อวิกฤตพม่าอย่างเข้มข้นและได้ผล
จะใช้ “ไม้แข็ง” หรือ “ไม้นวม” หรือผสมผสานแนวทางแข็งกร้าวกับน้าวโน้มอย่างไรเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังพิสูจน์ถึงความสามารถของอาเซียนในยุคที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์กับร้อนแรงจริง ๆ
เพราะวิกฤตสำหรับอาเซียนไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องพม่า หากยังมีเรื่องไต้หวัน, คาบสมุทรเกาลี, ทะเลจีนใต้, และสงครามยูเครนที่ยังคุกรุ่นและพร้อมที่จะปะทุขึ้นได้ตลอดเวลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว