ซัดกันตรงๆ ในสภาฯ

ไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย

วันที่ ๑๕-๑๖ กุมภาพันธ์นี้ สภาผู้แทนราษฎร จะเปิดอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๒ ที่เรียกติดปากว่า ซักฟอกรัฐบาลแบบไม่ลงมติ

บรรดาเซียนอยู่รูเดิมพันกันแล้ว 

จะมีการอภิปราย หรือไม่มี

ถือเป็นโค้งหักศอกก่อนโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง  รัฐบาลจะยอมให้ฝ่ายค้านใช้เวทีนี้ถล่มหรือไม่

หรือรัฐบาลจะฉวยเอาเวทีนี้ แถลงผลงาน

ออกได้ทั้ง ๒ หน้าครับ

วานนี้ (๑๓ ก.พ.) นายกฯ ลุงตู่ ยังยืนยันไม่มีการล็อบบี้หนีประชุมสภา เพื่อให้ล่มก่อนเปิดอภิปราย

"...ข่าวมาจากไหนผมไม่รู้ แต่เห็นทุกคนยืนยันว่ายินดีไปร่วม และผมก็ยินดีเข้าไปตอบแค่นั้นเอง มันจะเกิดไม่เกิดก็ดูก็แล้วกันว่าทำไมไม่เกิด และไม่เกิดเพราะอะไร ผมชี้แจงได้หมด

การอภิปรายครั้งนี้เข้าใจว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เคยอภิปรายมาบ้างแล้ว ใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องตำรวจบ้างอะไรบ้างก็ชี้แจงไป เพราะทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เราต้องอยู่ด้วยกระบวนการยุติธรรม

ไม่ใช่ว่าคิดเองเออเอง ไอ้นี่ผิดไอ้นี่ถูกมันไม่ได้ ต้องเอากฎหมายมาดู ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์หมดในกระบวนการยุติธรรมใช่หรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะมีทนาย มีศาลไว้ทำไม ถ้าเขาสู้ได้ก็สู้ไป ถ้าสู้ไม่ได้ก็ติดคุกก็เท่านั้น มันต้องอยู่กันด้วยแบบนี้...”

ถ้าฟังตามนี้ "ลุงตู่" อยู่ในห้องประชุมสภาแน่นอน

แต่คนอื่นไม่รู้

มาทำความเข้าใจการซักฟอกแบบไม่ลงคะแนนกันก่อนครับ

รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ บัญญัติว่า

...สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้...

ก็หมายความว่าการอภิปรายตามมาตรานี้จะเป็นการสอบถามข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

และฝ่ายค้านสามารถเสนอแนะได้

แล้วจะถามกันเรื่้องอะไร? 

เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ฝ่ายค้านยื่นญัตติเปิดอภิปราย โหมโรงภายใต้ยุทธการ “กระชากหน้ากากคนดี”

เนื้อหาการอภิปรายที่ปรากฏในญัตติคือ การบริหารงานราชการแผ่นดินที่บกพร่อง ไม่ได้ทำตามคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

กว้าง...ครอบจักรวาล

แต่ที่ฝ่ายค้านปล่อยข่าวคือ...

จะเล่นงานหลาน "ลุงตู่"

จะซักฟอก "ตู้ห่าว" ใครเข้าไปพัวพันบ้าง โดนหมด

จะแฉเรื่องพนันออนไลน์ "มาเก๊า ๘๘๘"

จะซักฟอกตำรวจ เพราะ "ลุงตู่" เป็นคนดูแลโดยตรง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก รัฐบาลโดนมาแทบทุกปี รัฐบาลก่อนหน้าก็ไม่รอด

ยิ่งลักษณ์, อภิสิทธิ์ โดนหมด

แต่เพราะไม่มีการลงมติ การอภิปรายแทบทุกครั้งจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร             

เป็นเวทีฝึกงานของ ส.ส.หน้าใหม่ และเป็นเวทีหาเสียงของ ส.ส.รุ่นเก่า

ครั้งนี้ต่างออกไป เพราะใกล้เลือกตั้ง

การอภิปรายที่เป็นการโจมตีรัฐบาล อาจส่งผลต่อการเลือกตั้ง ฉะนั้นมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะล้มเวทีอภิปรายนี้

ขณะนี้พูดกันหนาหูว่า รัฐบาลมีแผนทำสภาล่ม เพื่อให้การซักฟอก เดินต่อไม่ได้

เครื่องมือหลักคือ "องค์ประชุม"

องค์ประชุมหมายถึงอะไร                              

 รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๐ บัญญัติว่า "การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในกรณีการพิจารณาระเบียบวาระกระทู้ สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาจะกําหนดองค์ประชุมไว้ในข้อบังคับเป็นอย่างอื่นก็ได้"

ถ้าไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ล่ม

ญัตติซักฟอกแบบไม่ลงมติ หรือการอภิปรายตาม ม. ๑๕๒ นี้ก็เช่นกัน ถ้าองค์ประชุมไม่ครบก็อดอภิปราย

วันก่อน "วิษณุ เครืองาม" ชี้โพรงว่า ถ้าสภาล่มตอนอภิปราย ก็ถือว่าจบการอภิปรายก็แค่นั้น

แม้จะล่มในการอภิปรายวันแรกก็ถือว่าจบ

เว้นเสียว่ามีการพูดคุยเลื่อนประชุมเป็นในวันรุ่งขึ้นเสียก่อนที่จะนับองค์ประชุม กรณีนี้อาจได้ซักฟอกต่อในวันถัดไป คือวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์

แต่หากในวันที่ ๑๕ และ ๑๖ กุมภาพันธ์ เริ่มต้นด้วยการนับองค์ประชุม โดยที่ยังไม่มีการอภิปราย และผลการนับ ไม่ครบองค์ประชุม ก็เท่ากับฝ่ายค้านแพ้เทคนิคอลน็อกเอาต์ (ทีเคโอ) ตั้งแต่ยังไม่เริ่มยกแรก

หากรัฐบาลเล่นเกมนี้ มีทั้งได้ทั้งเสีย

ที่ได้แน่ๆ คือ ฝ่ายค้านอด หลอกด่าฟรีๆ ไม่ได้

ข้อเสียหนีไม่พ้นเรื่องกลัวถูกแฉ ทำให้ประชาชนคาใจ  และคิดว่าเรื่องที่ฝ่ายค้านจะนำมาพูดนั้นเป็นเรื่องจริง 

 ฉะนั้นเดินหน้าลุย ซัดกันตรงๆ ในสภาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ที่ฝ่ายค้านขู่จะแฉเรื่องหลานนายกฯ เอาเข้าจริงถือว่าไกลตัว      

ถ้าจะลากไส้กันเรื่องพวกนี้ ฝั่งรัฐบาลขุด "ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ" มาถล่มในสภาดูจะใกล้พรรคเพื่อไทยมากกว่า

เพราะโกงชัดเจน ศาลพิพากษาไปแล้ว

เอาข้อมูลที่ "จตุพร พรหมพันธุ์" แฉ มาประจานต่ออีกรอบ ก็น่าจะทำให้สมุนทักษิณวิ่งพล่านในสภาไม่เป็นอันซักฟอกรัฐบาลก็ได้

ขณะที่กรณีหลานนายกฯ เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง ยังไม่มีข้อยุติในกระบวนการยุติธรรมด้วยซ้ำ

น้ำหนักโกงจึงต่างกันมาก

เรื่อง "ตู้ห่าว" แฉไปแฉมาระวังโดนทุกพรรค แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยเอง

กรณี ตำรวจ ก็เช่นกัน อย่าลืมว่าสมัยทักษิณเป็นนายกฯ คือจุดเริ่มต้นของ "รัฐตำรวจ"

เข้าทำนองเอ็งชั่วข้าเลวทั้งนั้น!         

ฉะนั้นไม่มีอะไรต้องกลัว รัฐบาลผ่านการซักฟอกแบบลงมติมาแล้วหลายครั้ง และรอดทุกครั้ง 

ใช้กลไกสภาให้เป็นประโยชน์

ตอกย้ำเรื่องคนโกงที่ติดคุก และที่หนีไป ให้ประชาชนได้เห็นซ้ำอีก

เพราะมันคือความจริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทลายทุนผูกขาด

ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ

นายกฯ ฝึกงาน

ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)

ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'

วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ

ง่ายๆ แค่เลิกโกง

อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ