การมาเยือนไทยของ นายกฯอันวาร์ อิบราฮิมในฐานะนายกรัฐมนตรีมีแง่มุมของบุคลิกและสาระแห่งการแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ
สื่อมวลชนไทยมีความคุ้นเคยกับอันวาร์ไม่น้อยเพราะมีการสัมภาษณ์แลกเปลี่ยนกันมาหลายสิบปีนับตั้งแต่เขาเริ่มเล่นการเมืองในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดและจุดยืนด้านเสรีนิยมและประชาธิปไตย
พออันวาร์เจอะเจอคนข่าวก็ทักทายตามประสาของคนหยอกล้อกันได้
อีกทั้งแม้ในการแถลงข่าวร่วมกับนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ไม่วายหยอดอารมณ์ขันเหมือนกัน
คุณเทพชัย หย่องแห่ง ThaiPBS ไปพบปะกับอันวาร์วันที่เขาให้สัมภาษณ์ และเขียนเล่าถึงบรรยากาศแลกเปลี่ยนกันวันนั้นว่า
“พวกคุณคงไม่เชื่อว่าจะมีวันนี้ใช่มั๊ย” นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมถามผม ทันทีเราพบกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
กว่า 20 ปีที่อันวาร์ต้องอยู่ในห้วงเวลาที่มืดมนทางการเมืองที่ไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะหลุดพ้นออกมาได้จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของมาเลเซีย...
“เราเคยสัมภาษณ์อันวาร์หลายครั้งในยุคที่อันวาร์ยังต้องดิ้นรนทางการเมืองจนต้องติดคุกติดตะรางอยู่หลายปี...
“นี่เป็นครั้งแรกที่พูดคุยกันในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี สองประเด็นสำคัญที่อันวาร์คุยกับในการสัมภาษณ์พิเศษ...”
อันดับแรกคือการแสดงความมุ่งมั่นที่จะช่วยประเทศไทยคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ เมื่อเดือนที่แล้วอันวาร์ได้แต่งตั้งอดีตผู้บัญชาการกองทัพมาเลเซียมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขในภาคใต้คนใหม่ ซึ่งเป็นคนที่อันวาร์เชื่อมั่นว่ามีความเข้าใจปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี
คุณเทพชัยบอกว่าประเด็นที่สองคืออันวาร์เรียกร้องให้อาเซียนช่วยกันหาหนทางใหม่ในการคลี่คลายความรุนแรงในเมียนมา เพราะอันวาร์เชื่อ “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียน และแนวปฏิบัติที่เรียกกันว่า constructive engagement ของอาเซียนไม่ได้ผลอะไรมากนัก
“นี่ถือได้ว่าเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมากของผู้นำมาเลเซียที่พยายามบอกว่าตัวเองเป็นเพียง “น้องใหม่ (junior)” ในหมู่ผู้นำอาเซียน...
“ผมบอกกับอันวาร์ว่าผมไม่เคยลืมสิ่งที่ท่านเคยบอกผมไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งเมื่อผมถามว่าอะไรเป็นบทเรียนทางการเมืองที่มีความหมายที่สุดของท่าน...
“อันวาร์ตอบผมว่า คุณต้องไม่อยู่ในตำแหน่งเบอร์สองนานเกินไป เพราะเบอร์หนึ่งจะระแวงคุณเสมอ และเบอร์สามก็พร้อมจะแทงคุณข้างหลังตลอดเวลา...
“ผมถามอันวาร์ว่าตอนนี้ท่านก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งแล้ว บทเรียนควรจะเป็นอะไร คำตอบของท่านเป็นสิ่งที่นักการเมืองไทยควรจะฟังไว้...
“อันวาร์ตอบว่า “ทำหน้าที่คุณให้ดี และทำทุกอย่างที่คุณสัญญาไว้กับประชาชน (you deliver)”
ข้อความนี้มีความหมายสำคัญมาก
เพราะอันวาร์กำลังบอกว่าเมื่อคุณขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งทางการเมืองของประเทศแล้ว ต้องลืมเรื่องการแก่งแย่งทางการเมืองและการดิ้นรนเพื่อจะอยู่ในอำนาจต่อไปนาน ๆ
ที่สำคัญที่สุดเมื่อคุณเป็นผู้นำของประเทศแล้วก็คือคุณต้องทำตามคำมั่นสัญญา
และ “ส่งมอบ” (deliver) ผลงานที่คุณรับปากเอาไว้ตอนหาเสียง
เพราะคุณเป็นคนอาสามาทำงานให้กับประชาชน เมื่อคุณได้โอกาสที่คุณร้องขอแล้ว คุณจะต้อง deliver ให้ได้
ไม่ใช่หาข้อแก้ตัวว่าทำไมจึงทำไม่ได้ตามที่คุณสัญญา แต่ต้องหาคำอธิบายให้ได้ว่าคุณจะทำอย่างไรจึงจะฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงเพื่อที่จะสามารถทำให้คำมั่นสัญญาของคุณมีคามศักดิ์สิทธิ์และสร้างศรัทธากับประชาชนให้จงได้
ในแง่ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำไทยกับในฐานะเจ้าภาพและอาคันตุกะคนสำคัญจากเพื่อนบ้านทางใต้นั้นการต้อนรับขับสู้ก็เป็นไปในอย่างค่อนข้างอบอุ่นและเป็นกันเอง
รายงานจากทำเนียบรัฐบาลบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา ให้การต้อนรับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และภริยา ในการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 9-10 ก.พ.66 ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีพิธีต้อนรับตรวจแถวกองทหารเกียรติยศด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะลงนามในสมุดเยี่ยม และ เดินชมของที่ระลึกภายในห้องสีงาช้าง
จากนั้นผู้นำทั้งสองประชุมหารือทวิภาคีที่ตึกภักดีบดินทร์ ซึ่งมีหัวข้อหลัก ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะ 5 จังหวัดภาคใต้ของไทย กับ 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย
รวมถึงประเด็นการเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และด้านคมนาคมขนส่ง และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพระหว่างกัน
เช่น อุตสาหกรรมยางพารา อาหารฮาลาล พลังงาน และในมิติใหม่ ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีสีเขียว
จากนั้น สองผู้นำร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่
1.บันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย
- บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย
- บันทึกความตกลงเกี่ยวกับข้อเสนอในการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. (MDEC )และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA
ในการแถลงข่าวร่วมกัน ณ ตึกสันติไมตรีนั้นนายกฯประยุทธ์ กล่าวว่า เราเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด
“ดินแดนเราใกล้กัน หากเราแข็งแรงทั้งคู่ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การอยู่ร่วมกันก็สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ”
ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีการร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด
นายกฯไทยบอกว่าหวังว่าการพบปะกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จะเป็นการเริ่มต้นและกรุยทางให้มีการพบปะหารือระหว่างไทยกับมาเลเซียในทุกระดับให้มากยิ่งขึ้นอย่างใกล้ชิด ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แก้ไขในสิ่งที่เป็นอุปสรรค และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองฝ่ายให้ก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนมาเลเซีย
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับว่า “ต้องรอเป็นปีถึงจะได้ไปเยือน” ทำให้นายอันวาร์ ตอบกลับว่า
“ไม่ต้องรอ มันไกลเกินไป เป็นเดือนเป็นปี ถ้ามีโอกาสมาได้ เพราะผมก็มาทุกปีอยู่แล้ว แม้แต่ช่วงโควิดก็เดินทางเข้ามา”
คำตอบของนายกฯอันวาร์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับยิ้มกว้าง พร้อมกับกล่าวว่า
“ไทยกับมาเลเซียเปรียบเป็นแผ่นดินทองและเป็นครอบครัวเดียวกัน”
เป็นความจริงที่ว่าอันวาร์มักจะแวะเวียนมาเยี่ยมไทยเป็นประจำทั้งในฐานะนักการเมือง, นักวิชาการและนักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองและภูมิภาค
ผู้นำไทยในระดับต่าง ๆ ก็ควรจะต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านให้ครบทุกมิติเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว