หวาดเสียว...
วานนี้ (๑๔ กุมภาพันธ์) นายหัวชวน บอกว่า หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถคุมองค์ประชุมสภาผู้แทนฯ ได้
รัฐบาลก็คุมไม่ได้
องค์ประชุมจึงไม่ค่อยมีความแน่นอน
จึงทำให้เกิดมีความรู้สึกว่าการประชุมในวันที่ ๑๕-๑๖ กุมภาพันธ์นี้ องค์ประชุมจะพร้อมหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้
ขนาดประธานสภาผู้แทนฯ ยังให้คำตอบไม่ได้ ก็ต้องไปดูที่หน้างานแล้วล่ะครับ
ล่ม ไม่ล่ม
ทำไมต้องมีองค์ประชุม สำคัญอย่างไร แค่ไหน
องค์ประชุม เป็นเงื่อนไขในการกำหนดจำนวนต่ำสุดของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมและสามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้
ถ้าไม่ครบก็ประชุมไม่ได้
องค์ประชุมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยสาระสำคัญของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๒๖ บัญญัติเกี่ยวกับองค์ประชุมของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๖/๒๕๕๑ มีความอันเป็นสาระสำคัญว่า
...การกำหนดจำนวนของสมาชิกสภาที่มีจำนวนมากเพียงพอที่จะมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแสดงเจตนาในลักษณะของมติที่ประชุมในการพิจารณาร่างกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการประชุมสภาที่ใช้อยู่ในนานาประเทศ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่างๆ ที่ใช้บังคับตลอดมา ล้วนมีบทบัญญัติว่าด้วยองค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญจึงจะเป็นองค์ประชุม
การที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับกำหนดจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ประกอบกันเป็นองค์ประชุมไว้ ก็เพื่อให้การประชุมพิจารณาเรื่องต่างๆ ของสภาเป็นไปด้วยความรอบคอบ และมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวกับการตรากฎหมายนั้น กฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมมีผลใช้บังคับกับประชาชนทุกคนในประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบในการพิจารณาทุกวาระ และเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดองค์ประชุมไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาย่อมมีความหมายว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการประชุมวุฒิสภาที่มีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม
จะถือว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยองค์กรสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่ได้
และหากมีการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภาที่ไม่ครบองค์ประชุม จะถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ได้...
นั่นคือความสำคัญขององค์ประชุม
เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติ
แต่ระยะหลังมานี้ การใช้อำนาจนิติบัญญัติ ถูกนำมาเป็นเกมการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านมากขึ้นจนมีนัยสำคัญ
ศรัทธา เสื่อมลง!
นิสัยบางอย่างเป็นแล้วแก้ยาก
มีคนบอกว่า ใกล้เลือกตั้งก็แบบนี้แหละ ส.ส.หวงพื้นที่ รอสภาสมัยหน้าเดี๋ยวก็ดีเอง
มันก็ใช่ใกล้เลือกตั้ง ส.ส.เลือกไปหาเสียงมากกว่าประชุมสภา
แต่ที่ผ่านมาองค์ประชุมถูกนำมาเป็นเกม เล่นกันเองในพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ตรงนี้จะอธิบายกันอย่างไร
ถ้าบอกว่าเพื่อความได้เปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น กรณีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง แบบนี้ฉิบหายครับ
ต่อไปจะไม่มีคำว่ากฎหมายรัฐบาล
แต่จะเป็นกฎหมายพรรคร่วมรัฐบาลแทน
หากคุยกันไม่รู้เรื่องก็กระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล
ต่างคนต่างโหวตรัฐบาลพัง!
ครับ...ในภาพรวมมีการนำองค์ประชุมสภาไปเล่นเกมต่อรองการเมืองในหลากหลายรูปแบบ
และการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ ก็เช่นกัน
อาจได้เห็นการนับองค์ประชุมเพื่อปิดเกม
อย่าคิดว่าเฉพาะฝั่งรัฐบาลเป็นคนขอนับ ฝ่ายค้านก็อาจขอนับองค์ประชุมให้จบๆ ไปเช่นกัน
หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยปรากฏเป็นข่าวมาก่อน และฝ่ายที่ถูกโจมตีไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้
กรณีอาจมีการขอนับองค์ประชุม ซึ่งแน่นอนว่านับเมื่อไหร่มีโอกาสล่มเมื่อนั้น
แต่โดยทั่วไปแล้วการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ ฝ่ายค้านมักไม่มีหลักฐานเด็ดที่จะถล่มรัฐบาล
โอกาสนำข้อมูลที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนมาอภิปรายจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในศึกซักฟอกรัฐบาลแบบลงมติ บ่อยครั้งฝ่ายค้านนำข้อมูลตัดแปะจากสื่อมวลชนมาอภิปรายด้วยซ้ำ
ฉะนั้นเป็นเวทีให้ ส.ส.ใหม่ฝึกลับฝีปากเสียมากกว่า
เพียงแต่ครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งกว่า ๓ เดือนหลังจากนี้
จึงพิเศษกว่าหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
เมื่อเป้าหมายอยู่ที่การเลือกตั้งสิ่งที่จะเห็นจากการอภิปราย อาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนคาดหวัง
อาจไม่เห็นการซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะแก้ปัญหาสักเท่าไหร่
แต่จะเห็น ส.ส.เน้นอภิปรายปัญหาในพื้นที่เลือกตั้งของตนเองแทน
จะเรียกว่า ซูเปอร์กระทู้ถามก็ได้
แน่นอนครับมีเรื่องโจมตีรัฐบาลแน่ๆ เช่น มาเก๊า ๘๘๘, ตู้ห่าว แต่ก็หยิกเล็บเจ็บเนื้อ โดนลูกหลงกันทั่วหน้าทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
เรื่องตำรวจ ก็อย่างที่เคยเขียนถึง "ทักษิณ" คือผู้สร้างรัฐตำรวจ
ฉะนั้น การอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๕๒ วันที่ ๑๕-๑๖ กุมภาพันธ์ คือการหาเสียงของฝ่ายค้านและรัฐบาล
ฝ่ายค้านด่ารัฐบาลเพื่อดิสเครดิตได้ทุุกเรื่อง
ส่วนรัฐบาลประกาศผลงานได้ทุกชิ้น
อยู่ที่ใครพูดเก่งกว่ากัน
และประชาชนเชื่อใครมากกว่ากัน
เดินหน้าสู่สนามเลือกตั้งครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทลายทุนผูกขาด
ชื่นใจ... ชื่นใจในความรวยของเศรษฐีไทยครับ วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นไทยติดต่อกันปีนี้เป็นปีที่ ๓๑ แล้วครับ
นายกฯ ฝึกงาน
ขยี้ตาสิบที... แถลงผลงานในรอบ ๓ เดือนแน่นะ "อิ๊งค์" ไปดูอีกทีกับการแถลงข่าววานนี้ (๑๒ ธันวาคม)
ชะตากรรม 'นายกฯ ชินวัตร'
วันนี้ (๑๒ ธันวาคม) นายกฯ อิ๊งค์ แถลงผลงาน อยากรู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง เชิญเฝ้าหน้าจอสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที หรือช่อง ๑๑ นั่นแหละครับ
ในวันที่ 'ส้ม' โหยหาเพื่อน
ไอ้เสือถอย! ไปไม่ถึงสุดซอยครับ "หัวเขียง" ยอมเลี้ยวกลับเสียก่อน
ง่ายๆ แค่เลิกโกง
อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ
'อุ๊งอิ๊ง' แถลงผลงาน
ล้างตารอไว้นะครับ นายกฯ แพทองธาร นัดไว้แล้ววันที่ ๑๒ ธันวาคม มีข่าวใหญ่