หลังกรณีบอลลูนสอดแนม มะกัน-จีนจะปรับท่าทีอย่างไร?

มีคำถามในหมู่นักวิเคราะห์ระหว่างประเทศว่ากรณี “บอลลูนสอดแนม” ที่สหรัฐฯ กับจีนเกิดวาทกรรมกันเมื่อเร็วๆ นี้จะทำให้เกิดความร้าวฉานระหว่างสองยักษ์ใหญ่หนักหนาเพียงใด

มองระยะสั้น ผลกระทบเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องรักษาสถานะของตนเองในเวทีระหว่างประเทศ

อีกทั้งผู้นำปักกิ่งและวอชิงตันต่างก็ต้องทำให้ประชาชนของตนเห็นว่าไม่อาจจะยอมอ่อนข้อต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้

กระแสชาตินิยมเป็นปัจจัยที่สำคัญของการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อให้เกิดผลด้านบวกสำหรับการเมืองในประเทศ

ประเด็นนี้เป็นสัจธรรมของการเมืองระดับโลกมายาวนานแล้ว

แต่ในกรณีสหรัฐฯ กับจีนนั้นต้องมองความสัมพันธ์ระยะกลางและระยะยาวด้วย

เพราะในที่สุดก็ต้องยอมรับว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความจำเป็นที่ต้องจัดการบริหารความขัดแย้งนี้ให้ได้

เพื่อประโยชน์ของตนอีกเช่นกัน

เราจึงจะเห็นความพยายามที่จะให้เรื่องนี้ผ่านไปเหมือนความระหองระแหงเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา

               ไม่ช้าก็เร็ว

เพราะทั้งสองฝ่ายไม่อาจจะยอมให้ปมประเด็นขัดแย้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งลากยาวจนกระทบความสัมพันธ์หลักอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพากัน

หลังเหตุพบบอลลูนสอดแนมของจีนเมื่อต้นเดือนนี้ และรัฐบาลโจ ไบเดน สั่งให้สอยลงมา ปฏิกิริยาแรกระดับรัฐบาลก็คือการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ที่จะเลื่อนการเดินทางเยือนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

แต่ก็ไม่ได้ประกาศยกเลิก

นักวิเคราะห์มองว่าบลิงเคนมีความระมัดระวังทางการทูตพอสมควรในการวิจารณ์จีน

ใช้คำว่า “เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” และ “ไร้ความรับผิดชอบ”

แต่ไม่ถึงขั้นประณามว่าเป็นการจงใจที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงของสหรัฐฯ

แต่ต่อมาก็เกิดความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเมื่อมีสหรัฐฯ ยิงทิ้ง “วัตถุปริศนา” อีกสองครั้งเมื่อวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมา เหนือท้องฟ้ารัฐอะแลสกาและแคนาดา

เพราะทำให้เกิดข้อสงสัยว่าตกลงมี “อากาศยานสอดแนม” ที่มาจากประเทศอื่นรุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าอเมริกาเหนือมากน้อยแค่ไหน

เป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลจีนแจ้งว่ามี “วัตถุปริศนา” เหนือเมืองรื่อจ้าวของจังหวะชานตงของจีนเช่นกัน

โดยที่ปักกิ่งไม่ได้บอกว่าเป็นความพยายามสอดแนมของต่างชาติ

แต่ก็ยืนยันว่าจะยิงทำลายเช่นกัน

ขณะที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่าซากของบอลลูนจีนที่อเมริกายิงตกนั้นจะคืนให้จีนหรือไม่

เพราะสหรัฐฯ อ้างว่าเมื่อถูกยิงตกในดินแดนอเมริกาก็เป็นสิทธิ์ของสหรัฐฯ ที่จะเก็บไว้

ในขณะที่จีนอ้างว่าเมื่อเป็นของจีนก็ต้องส่งคืนมา

รอยร้าวของความสัมพันธ์ของสองประเทศยักษ์เป็นประเด็นที่มีมาต่อเนื่อง

ก่อนหน้าเรื่องบอลลูนสอดแนมก็เกิดวิกฤตของความสัมพันธ์ในระดับสูงเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา

เมื่อ ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น เดินทางเยือนไต้หวันขณะที่ปักกิ่งประท้วงเสียงดังว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน

เดิมเชื่อว่ากันการมาเยือนจีนของรัฐมนตรีบลิงเคนน่าจะเป็นความพยายามครั้งใหม่ที่จะฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศได้อีกครั้ง

แต่พอเกิดเรื่องบอลลูนสอดแนมของจีนก็กลายเป็นอุปสรรคใหม่ขึ้นมาทันที     

เพราะนอกจากจะมีปัญหากับปักกิ่งแล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเองก็ถูกการเมืองภายในกดดันอย่างหนัก

ผู้นำพรรครีพับลิกันออกมาวิพากษ์กองทัพสหรัฐฯ และไบเดน ที่ปล่อยให้บอลลูนจีนลอยผ่านน่านฟ้าอยู่หลายวัน...ลอยล่องจากทิศตะวันตกไปถึงฝั่งตะวันออกของประเทศ โดยไม่จัดการให้จีนเห็นความเด็ดขาดของสหรัฐฯ

กระทรวงต่างประเทศจีนก็ฟาดกลับสหรัฐฯ ด้วยการยืนยันว่า บอลลูนนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องสอดแนม หากแต่เป็นการวิจัยด้านสภาพอากาศของพลเรือนที่พลัดหลงเข้าไปในน่านฟ้าสหรัฐฯ เพราะทิศทางลมที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

แต่ฝ่ายสหรัฐฯ ยังกล่าวหาเพิ่มเติมว่า จีนส่งบอลลูนลักษณะนี้ลอยเหนือ 40-50 ประเทศ

ยิ่งทำให้ปักกิ่งเดือดเพิ่มขึ้นอีก

พอกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ขอต่อสายไปพูดคุยกับทางจีนให้รัฐมนตรีกลาโหมของทั้งสองฝ่ายได้ “เคลียร์” กัน ก็ได้รับการปฏิเสธจากจีน

จอห์น เคอร์บี แห่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการเพิ่มความขัดแย้งกับจีน แต่พยายามเปิดช่องทางการสื่อสารเอาไว้

แต่เมื่อสถานการณ์ยังร้อนอยู่ จึงไม่ใช่เวลาที่รัฐมนตรีบลิงเคนจะไปเยือนจีน

วงการทูตแจ้งว่าจากนี้ไปยังมีอีกหลายเวทีที่เจ้าหน้าที่อเมริกันกับจีนอาจจะพบปะบนเวทีระหว่างประเทศได้...ถ้าทั้งสองฝ่ายพร้อมจะเจอกัน

เช่น การประชุมด้านความมั่นคงที่นครมิวนิก เยอรมนี ช่วง 17-19 กุมภาพันธ์นี้

คาดว่ากรรมการกรมการเมืองกำกับนโยบายต่างประเทศ (และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ) จีน หวัง อี้ และรัฐมนตรีบลิงเคนจะเข้าร่วมประชุมด้วย

แต่ยังไม่ชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายมีกำหนดการหารือกันหรือไม่

อีกเวทีหนึ่งคือการประชุมสุดยอด G-20 ที่อินเดียในเดือนมีนาคมนี้

ขณะเดียวกันก็มีกำหนดการเยือนจีนของรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ แม้จะยังไม่ได้มีการเปิดเผยกำหนดการที่แน่นอน

แต่หากจะให้เป็นรูปธรรมจริงๆ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องเดินทางเยือนจีนเพื่อพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อตอกย้ำว่าช่องทางระดับสูงของสองประเทศยังติดต่อกันได้

อีกด้านหนึ่ง หลังเกิดเหตุบอลลูนจีนไม่กี่วัน สหรัฐฯ ก็เริ่มซ้อมรบในทะเลจีนใต้

ซึ่งก็เป็นการส่งสัญญาณที่ไม่เป็นมิตรนักต่อจีน

การซ้อมรบร่วมครั้งนี้นำโดยกองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้

กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นแจ้งว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz และหน่วยนาวิกโยธินที่ 13 ได้ร่วมซ้อมรบใน “ปฏิบัติการกองกำลังจู่โจม” ในทะเลจีนใต้ “เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคซึ่งสนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพ”

การซ้อมรบดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ไม่ได้แจ้งว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด

วอชิงตันอ้างว่าการซ้อมรบครั้งนี้มีการเตรียมการล่วงหน้ามาก่อน ไม่เกี่ยวกับเรื่องบอลลูนสอดแนมของจีน

แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้ฝ่ายจีนมองความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของฝั่งอเมริกา ว่าเป็นการตอกย้ำถึงท่าทีที่จงใจจะเดินหน้าสร้างความตึงเครียดในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง

โลกคงไม่สงบง่ายๆ ตราบที่มหาอำนาจยังไม่สามารถบริหารความสัมพันธ์ให้เน้นเรื่อง “การแข่งขันที่ต้องไม่กลายเป็นความขัดแย้ง” อย่างที่ทั้งปักกิ่งและวอชิงตันกล่าวย้ำเสมอ

แต่ยังไม่สามารถทำให้เป็นความจริงในทางปฏิบัติได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว