สงครามยูเครนครบ 1 ปีวันนี้!

วันนี้ครบรอบ 1 ปีหลังจากประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียสั่งทหารบุกเข้ายูเครน

พรุ่งนี้เริ่มปีที่สองของสงครามที่ทำท่าจะยืดเยื้อเพราะทั้งสองฝ่ายต่างยังเสริมเติมทหารและอาวุธเข้าสู่สมรภูมิรบอย่างร้อนแรง

เพราะไม่มีใครคิดว่าตัวเองกำลังอยู่จุดที่กำลังจะพ่ายแพ้

แต่ในจังหวะที่ครบ 1 ปีแห่ง “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของรัสเซียนี้เองที่สหรัฐฯ กำลังบอกผู้นำยูเครนเซเลนสกีว่านี่เป็น “ช่วงเวลาวิกฤตที่จะอาจเปลี่ยนวิถีของสงคราม” ได้

นั่นหมายความว่าเป็นจังหวะที่ “กำหนดชะตากรรม” แห่งสงคราม

ขณะที่ประเทศตะวันตกทุ่มอาวุธและความช่วยเหลือให้ยูเครนอย่างเต็มพิกัด

แต่ปูตินก็ไม่ยอมถอยง่าย ๆ

มอสโกส่งสัญญาณว่าจะมีการระดมทหารอีกครั้งใหญ่อีกครั้ง อาจมีจำนวน 300,000-500,000 คน

และคราวนี้สงครามจะต้องเบ็ดเสร็จ

เป้าหมายอาจรวมถึงการยึดเมืองหลวงคือกรุงเคียฟให้สำเร็จจึงจะถือว่า “ภารกิจลุล่วง”

ด้านสหรัฐฯนั้น แม้จะรับปากว่าจะสนับสนุนยูเครนในการสู้รบ “นานตราบเท่าที่จำเป็น” แต่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯก็ส่งสัญญาณว่าชุดความช่วยเหลือล่าสุดจากสภาคองเกรสและพันธมิตรของอเมริกาเป็น “โอกาสที่ดีที่สุด” ของยูเครนที่จะพลิกทิศทางของสงครามอย่างมีนัยสำคัญ

แต่นักการเมืองพรรครีพับลิกันบางคนก็เริ่มจะบอกว่าจะถอนการสนับสนุนหากยูเครนยังไม่สามารถดูแลตัวเองด้วยความช่วยเหลือที่ส่งมอบไปให้ในหนึ่งปีที่ผ่านมา

นักการเมืองของสหรัฐฯกลุ่มนี้ต้องการให้ยุโรปเองดูแลยูเครนต่อจากนี้ไปหากอเมริกายังต้องจัดงบประมาณทางทหารอีกจำนวนมากในอนาคตอันใกล้

ส.ส. และ ส.ว. พรรครีพับบลิกันตั้งข้อสังเกตว่าสภาคองเกรสเปิดไฟเขียวให้ยูเครนเป็นงบประมาณมากกว่าที่ทำเนียบขาวร้องขอด้วยซ้ำไป

บางคนในทำเนียบขาวบอกว่าอเมริกาจะต้องส่งสัญญาณให้เซเลนสกีและผู้นำยูเครนคนอื่น ๆ ว่าวอชิงตังไม่สามารถจะส่งความช่วยเหลือให้ยูเครนได้ตลอดไป

จวบถึงวันนั้น ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ของอเมริกายังมีจุดยืนต่อยูเครนตรงกันในประเด็นที่จะต้องระงับยับยั้งการรุกรานของรัสเซีย

แต่แกนนำของรีพับบลิกันย้ำเตือนว่าสหรัฐฯมิอาจจะออก “เช็คเปล่า” ให้ยูเครนโดยไม่มีกำหนดหรือเพดาน

เพราะประชาชนคนอเมริกันผู้เสียภาษีย่อมต้องการรู้ว่าความช่วยเหลือเช่นว่านี้มีขีดจำกัดไว้ตรงไหน

นั่นคือคำถามว่าสงครามจะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าใด

และต้นทุนสงครามจะสูงต่อไปอีกเพียงใด

รวมถึงคำถามว่าการฟื้นฟูประเทศยูเครนจะมาในรูปใด และอเมริกาจะชักชวนประเทศอื่นมาร่วมในการควักกระเป๋าเพื่อเป้าหมายนี้อย่างไร

หลายเดือนที่ผ่านมาการสู้รบในยูเครนตกอยู่ในภาวะชะงักงันของทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะในสมรภูมิทางภาคตะวันออกของยูเครน

ไม่มีฝ่ายใดถือไพ่เหนือกว่ากัน

นักวางแผนของสหรัฐฯ เชื่อว่า “ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” จะมาถึงในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ นั่นหมายถึงเดือนมีนาคมอันเป็นจุดสิ้นสุดของฤดูหนาว

จังหวะนี้คือเวลาที่คาดว่ารัสเซียจะเปิดฉากรุกใหญ่ครั้งใหม่

และยูเครนก็ปักหลักตั้งแนวรุกเพื่อทวงคืนดินแดนที่เสียไป

เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของช่วงเวลานี้สำหรับสหรัฐฯ จึงเห็นรองประธานาธิบดีกมาลา แฮร์ริสกับรัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลินเกน และรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ Alejandro Mayorkas ยกพวกไปร่วมการประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงที่สำคัญในเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

และประธานาธิบดีไบเดนบินเข้าโปแลนด์เมื่อวานนี้

เป็นการจับจังหวะที่ไบเดนไปยืนอยู่ใกล้สนามรบยูเครนเพื่อกล่าวสุนทรพจน์และจัดให้มีการประชุมในโอกาสครบรอบปีแรกของสงคราม

ในขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวยังทำงานร่วมกับสภาคองเกรสเพื่ออนุมัติงบประมาณช่วยเหลือโดยตรงอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 320,000 ล้านบาท) แก่ยูเครน

และคาดว่าจะประกาศชุดความช่วยเหลือทางทหารชุดใหญ่อีกชุดในสัปดาห์นี้

อีกทั้งยังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อเครมลินในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯก็ยืนยันว่าจะต้องมีการบอกกล่าวถึง “สภาวะวิกฤต” ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าให้ผู้นำยูเครนได้รับทราบและนำไปปฏิบัติ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไบเดนที่ได้รับหน้าที่ปิดประตูคุยอย่างเปิดอกกับรัฐบาลยูเครนรวมถึงรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ Jon Finer รองเลขาธิการแห่งรัฐ Wendy Sherman และปลัดกระทรวงกลาโหม Colin Kahl

ทีมงานนี้ไปเยือนยูเครนเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อแลกเปลี่ยนกับระดับนำของยูเครนแล้วทั้งสิ้น

วิลเลียม เจ. เบิร์นส์ ผู้อำนวยการซีไอเอเดินไปยูเครนก่อนเจ้าหน้าที่เหล่านั้นหนึ่งสัปดาห์

โดยมีภารกิจหลักคือบรรยายสรุปให้ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ว่าด้วยความคาดหวังของสหรัฐฯเกี่ยวกับสิ่งที่รัสเซียกำลังวางแผนทางทหารในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

และเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ยูเครนจะฉกฉวยจังหวะเวลานี้ช่วงชิงความได้เปรียบอย่างเด็ดขาดจากรัสเซียในทุกแนวรบ

แต่ไบเดนและทีมรอบตัวของเขาก็ต้องแสดงภาพของความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับยูเครนเพื่อกระชับความร่วมมือของพันธมิตรตะวันตกในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้

โดยเฉพาะในช่วงครบรอบ 1 ปีของสงคราม

โดยหวังว่าจะส่งสัญญาณถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียว่าการสนับสนุนยูเครนไม่ได้ลดลงแต่ประการใด

แต่นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่าทั้งรัสเซียและยูเครนไม่น่าจะคว้าความได้เปรียบทางทหารอย่างเด็ดขาดในอนาคตอันใกล้นี้

ขณะที่เซเลนสกีล็อบบี้อย่างเปิดเผยที่จะให้ประเทศตะวันตกส่งอาวุธหนักมาให้ เช่น รถถัง, ขีปนาวุธพิสัยไกลและเครื่องบินรบ แต่ก็มีการเจรจาเบื้องหลังอย่างเงียบๆ โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ให้ชาติตะวันตกอื่นร่วมสมทบด้วยอย่างแข็งขัน

เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีแต่สหรัฐฯเท่านั้นที่ยืนตระหง่านสนับสนุนยูเครน

เกมนี้ต้องเป็นภาพการประสานมืออย่างเหนียวแน่นของยุโรปด้วยจึงจะได้ผลทั้งทางด้านปฏิบัติและขวัญกำลังใจ

(พรุ่งนี้: เริ่มปีที่ 2 ของสงครามยูเครน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว