ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ทำท่าจะร้อนขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่จีนกับอาเซียนได้พยายามร่าง “กฎกติกามารยาท” หรือ Code of Conduct เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันมาหลายปี
แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ล่าสุด ฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าจีนปฏิบัติการสกัดกั้นการเดินเรือของตนในเขตที่เป็นข้อพิพาทระหว่างสองประเทศ ฟิลิปปินส์อ้างว่าทหารจีนได้ยิงแสงเลเซอร์ใส่ลูกเรือ ขณะทำภารกิจส่งเสบียงไปยังสันดอนที่มีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้
โดยแสงเลเซอร์ที่ว่านี้ทำให้ลูกเรือของเรือยามฝั่งฟิลิปปินส์ "มองไม่เห็นชั่วคราว” ต้องล่าถอยออกไป
เรือลำนี้กำลังมุ่งหน้าไปยังเรือของกองทัพเรือที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งมะนิลาใช้มานานหลายปีเพื่อเรียกร้อง Second Thomas Shoal
ในอดีตเคยมีกรณีที่จีนถูกกล่าวหาว่าใช้ปืนฉีดน้ำและไซเรนเพื่อขับไล่คนของประเทศอื่นที่อ้างสิทธิเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้เช่นกัน
เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ แต่เพิ่งมาเป็นข่าวหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น
ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นการ “ละเมิดอธิปไตยของฟิลิปปินส์อย่างชัดเจน" ในน่านน้ำที่มะนิลาเรียกว่า ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก
เป็นคำแถลงจากหน่วยลาดตระเวนชายฝั่งของฟิลิปปินส์ที่เรียกว่า Philippine Coast Guard (PCG)
PCG กล่าวหาว่า นอกจากการกะพริบแสงเลเซอร์ 2 ครั้งแล้ว เรือจีนยังทำการ "หลบหลีกอย่างอันตราย" ประมาณ 150 หลา (137 ม.) จากกราบขวาของเรือฟิลิปปินส์
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ พยายามจะประคองความสัมพันธ์ทั้งกับจีนและสหรัฐฯ โดยไปเยือนจีนหลังจากรับตำแหน่ง และเปิดประตูให้สหรัฐฯ เข้าถึงฐานทัพทหารเพิ่มเติมอีกสี่แห่ง
เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เรือของกองทัพเรือจีนลำหนึ่งได้ฉายแสงสีฟ้าและไฟกะพริบใส่เรือลากของหน่วยยามชายฝั่งฟิลิปปินส์
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 6 เดือนหลังจากออสเตรเลียกล่าวหาจีนว่า "ฉายแสงเลเซอร์ระดับทางการทหาร” ไปยังเครื่องบินรบลำหนึ่งของตน บริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือของออสเตรเลีย
พอเกิดเรื่องล่าสุด สหรัฐฯ ออกมาประกาศจะยืนเคียงข้างและปกป้องฟิลิปปินส์
เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกการกระทำของจีนว่า “ยั่วยุและไม่ปลอดภัย” และกล่าวว่าเป็นการแทรกแซง “การดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย” ของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้
ศาลระหว่างประเทศตัดสินในปี 2016 ว่าจีนไม่มีสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท
แต่จีนไม่ยอมรับคำตัดสินนั้น
ในกรณีล่าสุดนั้น ปักกิ่งกล่าวหาว่าเรือของฟิลิปปินส์ล่วงล้ำเข้าไปในน่านน้ำของสันดอน ซึ่งเรียกว่าแนวปะการังเรไน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากปักกิ่ง
ประเด็นความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์จึงเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาอีกครั้ง
ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขากลัวว่าฟิลิปปินส์อาจถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน เพราะความใกล้เคียงของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
มาร์กอสบอกว่า "เมื่อพิจารณาที่ตั้งของประเทศฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในบริบทความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน เราจะเห็นว่าเพียงแค่ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเรา หากเกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่นั้นจริงๆ...มันยากมากที่จะจินตนาการถึงสถานการณ์ที่ฟิลิปปินส์จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด”
ในการให้สัมภาษณ์ Nikkei Asia ระหว่างการเยือนญี่ปุ่น 5 วัน ผู้นำฟิลิปปินส์บอกว่า
“เราจะถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งเพราะใครก็ตาม…ไม่ว่าฝ่ายไหนเป็นต้นเหตุ เราก็คงถูกลากเข้าไปในความขัดแย้งจนได้”
มาร์กอสชี้ให้เห็นว่า จังหวัดอิโลคอสนอร์เต ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ อยู่ห่างจากเมืองเกาสงทางตอนใต้ของไต้หวันเพียง 40 นาที
“เรารู้สึกว่าเราอยู่ในแนวหน้าของความขัดแย้งอย่างมาก”
ในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง เขาบอกว่าความปลอดภัยและสวัสดิการของชาวฟิลิปปินส์ 150,000 คนในไต้หวันจะมีความสำคัญเป็นอันดับแรก
“เมื่อพูดถึงการตอบโต้ทางทหาร นั่นขึ้นอยู่กับว่ามันจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร” มาร์กอสกล่าว
เขายืนยันว่า นโยบายต่างประเทศของฟิลิปปินส์มุ่งมั่นเพื่อสันติภาพและกำหนดโดยผลประโยชน์ของชาติ
“เราจึงต้องดูว่าอะไรดีสำหรับฟิลิปปินส์”
เขาเสริมว่า "การเป็นศูนย์กลางของเอเชีย และอนาคตของภูมิภาคนี้ถูกกำหนดโดยผู้ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ ไม่ใช่โดยกองกำลังภายนอกอื่นใด"
แต่ก็ย้ำว่า ความขัดแย้งควรได้รับการแก้ไขทางการทูตมากกว่าการทหาร
“ผมเชื่ออย่างจริงใจว่าไม่มีใครอยากทำสงคราม... แต่เราจะพยายามเสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความยับยั้งชั่งใจ” มาร์กอสกล่าว
เพราะความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องกระชับความสัมพันธ์ด้านการป้องกันกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรสนธิสัญญาเดียวของมะนิลา และกับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ทางเหนือของไต้หวัน
มาร์กอสและนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ตกลงที่จะหาวิธีเสริมความสัมพันธ์ด้านการป้องกันประเทศร่วมกัน
มะนิลามีข้อตกลงการส่งกำลังทหารกับวอชิงตัน ในขณะที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมประจำปีในฐานะผู้สังเกตการณ์
“อุณหภูมิในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เราจึงต้องรอบคอบมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเรากำลังปกป้องดินแดนอธิปไตยของเราอย่างเหมาะสม” มาร์กอสกล่าว
เมื่อไม่นานก่อนหน้านั้น มาร์กอสได้อนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ เข้าถึงฐานทัพของฟิลิปปินส์เพิ่มอีก 4 แห่ง นั่นเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายจากยุคของอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ที่ถอยห่างจากสหรัฐฯ และหล่อหลอมความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับจีน
มาร์กอสกล่าวว่า ฟิลิปปินส์ต้องการให้ชาวประมงฟิลิปปินส์สามารถหาปลาในพื้นที่ประมงดั้งเดิมของพวกเขาได้
"นี่ไม่ใช่ขั้นตอนที่ยิ่งใหญ่หวือหวาอะไร เราไม่ต้องการยั่วยุ แต่...เรารู้สึกว่ามันจะช่วยให้แน่ใจว่า มีเส้นทางเดินเรือที่ปลอดภัยในทะเลจีนใต้ และยิ่งกว่านั้น เรากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องอาณาเขตทางทะเลของเรา" เขากล่าว
แต่ผู้นำฟิลิปปินส์ก็พยายามจะรักษาการถ่วงดุลระหว่างยักษ์ใหญ่อย่างระมัดระวัง
เดือนก่อนมาร์กอสไปเยือนปักกิ่งและพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
มีการลงนามในข้อตกลงที่สร้างมูลค่าการลงทุน 22,800 ล้านดอลลาร์
ถามว่า เขาไม่กลัวว่าข้อตกลงด้านความมั่นคงใหม่ของมะนิลาที่ทำกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับจีนหรือ
มาร์กอสย้ำว่า เรื่องสำคัญคือการรักษาเส้นทางผ่านที่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่องผ่านทะเลจีนใต้
เพราะเส้นทางนี้มีมูลค่าการค้าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์วิ่งผ่านทุกปี
"เศรษฐกิจของเราหลายแห่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจญี่ปุ่น รวมถึงจีนด้วย”
และตอกย้ำว่า "นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับพวกเราทุกคนในภูมิภาคนี้"
จะว่าไปแล้ว นี่คือบททดสอบสำคัญสำหรับผู้นำอาเซียนทุกประเทศ ว่าจะสามารถรักษาระยะห่างอันเหมาะควรระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้มากน้อยเพียงใด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว