ฤา ‘สงครามเย็น’ จีน-มะกัน จะฟื้นกลับมาหลอกหลอนโลกอีก?

มีคำถามหลังจากถ้อยแถลงดุเดือดจากผู้นำจีนในช่วงการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาประชาชนในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า

เกิด “สงครามเย็นรอบใหม่” ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แล้วใช่หรือไม่?

เพราะท่าทีของปักกิ่งในวันที่สี จิ้นผิง ได้รับไฟเขียวผ่านตลอดให้เป็นผู้นำหมายเลขหนึ่งของจีนอีกหนึ่งสมัยนั้น มีความแข็งกร้าวและดุดันกว่าหลายปีที่ผ่านมา

สี จิ้นผิง ชี้นิ้วไปที่สหรัฐฯ ว่าเป็นแกนหลักที่ชักชวนประเทศตะวันตกที่มุ่งจะ “สกัดกั้น, ปิดล้อมและกดทับ” จีนทุกวิถีทาง

แต่จีนจะไม่มีวันยอมถอยให้กับวิธีการที่กดขี่ข่มเหงจีนเป็นอันขาด

พอรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ฉิน กัง ขึ้นแถลงข่าวครั้งแรกยาวเกือบ 2 ชั่วโมง เขาก็ไม่ลังเลที่จะซัดสหรัฐฯ และโลกตะวันตกต่ออย่างร้อนแรง

ใช้คำว่า “มือที่สาม” ที่พยายามจะแทรกแซงกิจการภายในของจีน

ตอกย้ำถึงการที่สหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีนผ่านไต้หวัน

โต้วอชิงตันกลับกรณี “บอลลูนสอดแนม”             

และกล่าวหาว่าสหรัฐฯ ส่งอาวุธเข้าไปในสมรภูมิยูเครน แต่กลับใส่ร้ายว่าจีนจะแอบส่งอาวุธให้รัสเซีย

และยังเรียกร้องให้ประเทศอาเซียนไม่ตกเป็นเหยื่อของการแข่งขันของมหาอำนาจในภูมิภาคนี้

ในการแถลงข่าวนอกรอบ "การประชุมสองสภา" ประจำปีของจีน คำถามที่ถูกยกให้กับฉิน กัง ดูเหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณถึงท่าทีของความรู้สึกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน

คำถามเหมือนจะเป็นการบอกว่า ขณะที่เศรษฐกิจของจีนเผชิญกับแรงกดดันจากโควิดน้อยลง ประเทศในภูมิภาคต่างพบว่าเป็นการยากที่จะพึ่งพาสหรัฐฯ ในการรับประกันความมั่นคง

และอาจจะต้องพึ่งพาจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า

ฉิน กัง สวมวิญญาณของนักการทูตปะฉะดะ

ด้วยการบอกว่าสมาชิกอาเซียนควรหลบหลีกการแข่งขันชิงอำนาจระหว่างประเทศใหญ่ๆ

โดยบอกว่าผู้นำของประเทศในภูมิภาคอาเซียนไม่ควรเป็นตัวแทนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

และยังเจาะตรงไปที่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific) ของสหรัฐฯ ว่าเป็นความพยายามที่จะจัดตั้ง “กลุ่มผูกขาด” ที่ทำลายผลประโยชน์ของประเทศในภูมิภาค

และยังมุ่งจะตั้ง “กลุ่มนาโตในเอเชีย” เพื่อสกัดจีนอีกด้วย

แต่ฉิน กัง ยืนยันว่าจีนไม่กลัว และความพยายามใดๆ ที่จะปิดล้อมจีนจะต้องประสบกับความล้มเหลว

นักการทูตหลายสำนักเริ่มจะตั้งข้อสังเกตถึงความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน

บางคนมองว่านี่เป็นระยะเริ่มต้นของสงครามเย็นครั้งใหม่แล้ว

ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จีนเติบใหญ่ในเวทีระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และเพิ่มดีกรีของความกล้าแสดงออกมากขึ้น

อีกทั้งยังมีท่าทีที่ผ่อนปรนกับตะวันตกน้อยลง

ขณะเดียวกันฝ่ายบริหารของอเมริกาชุดต่อๆ มาไม่ว่าจะภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือโจ ไบเดน คนปัจจุบันก็แสดงท่าทีที่เผชิญหน้ากันมากขึ้น

ยิ่งจีนแสดงความมั่นใจในสถานภาพสากลของตัวเองมากขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องหวาดหวั่นมากขึ้นเพียงนั้น

เพราะสัจธรรมแห่งประวัติศาสตร์โลกย้ำเสมอว่า

เบอร์หนึ่งจะต้องคอยสกัดไม่ให้เบอร์สองแซงหน้าเป็นอันขาด

วงจรแห่งความเป็นปฏิปักษ์ที่เลวร้ายระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง ก็หมุนวนลงต่ำเตี้ยลงไปเรื่อยๆ

วอชิงตันวางมาตรการคว่ำบาตรและกีดกันทางการค้าต่อปักกิ่งมากขึ้นตามลำดับ

โดยได้รับแรงกระตุ้นจากการสนับสนุนจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ในรัฐสภา

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันต่างก็มีจุดยืนหนุนไต้หวัน และระแวงหวั่นเกรงจีนแผ่นดินใหญ่คล้ายๆ กัน

กรณีล่าสุดเช่นประเด็นเรื่อง “บอลลูนสอดแนม” เหนือสหรัฐฯ นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สร้างความร้าวฉานไปได้หลายมิติ

ถึงขั้นที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเตือนในการแถลงข่าววันนั้นว่า หากสหรัฐฯ ไม่เลิกดำเนินนโยบายเรื่องนี้ให้สมเหตุสมผลก็จะเกิด "หายนะตามมา"

จุดยืนของอาเซียนในภาวะของการแข่งขันระหว่างสองยักษ์ใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเกาะติดเป็นอย่างยิ่ง

เพราะจะมีผลต่อประเทศไทยเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

ในปี 2021 อาเซียนได้ออกเอกสาร “Outlook on the Indo-Pacific” ที่ตอกย้ำถึงมุมมองต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับภูมิภาค

จีนหวังจะให้อาเซียน “อ่านทะลุแผนร้าย” ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคนี้

แต่จีนก็คงจะอึดอัดพอสมควรที่เนื้อหาของสมุดปกขาวอาเซียนเล่มนี้ไม่ได้ออกมาตอบโต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ อย่างที่ปักกิ่งอยากเห็น

และจีนก็คงจะเริ่มมองไปที่อาเซียนบางประเทศที่พยายามจะ “ถ่วงดุล” แห่งอำนาจของตนกับสหรัฐฯ

และบางประเทศก็ทำท่าจะเอื้อต่อความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะปักหมุดทางทหารในอาเซียนมากขึ้นกว่าเดิมอีก

ตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ “Bongbong” มาร์กอส จูเนียร์ของฟิลิปปินส์ เดินทางเยือนจีนและได้รับคำมั่นสัญญาการลงทุนมูลค่า 22,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่ผ่านมาไม่นานก็มีการประกาศว่าฟิลิปปินส์จะขยายการเข้าถึงฐานทัพของสหรัฐฯ สี่แห่ง

โดยสามแห่งหันหน้าไปทางเหนือสู่ไต้หวัน และหนึ่งแห่ง ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีในทะเลจีนใต้

จีนมีสุภาษิตโบราณว่า “คนเราไม่ควรกัดมือที่ป้อนอาหารให้ตน”

ความหมายคือใครช่วยเราอย่างใดอย่างหนึ่งก็อย่าได้ไปทรยศเขาด้วยการไปทำให้สิ่งที่อาจจะทำให้ผู้ช่วยเหลือนั้นต้องรู้สึกระแวงสงสัย

และผลที่ตามมาก็คือความไม่ไว้วางใจในระดับที่เพิ่มขึ้นระหว่างปักกิ่งกับมะนิลา

เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีรายงานการรุกล้ำระหว่างเรือจีนและเรือฟิลิปปินส์ในดินแดนพิพาททะเลจีนใต้บ่อยครั้งมากขึ้น

หรืออาจจะเป็นได้ได้ว่าจีนเกิดเห็นความจำเป็นที่ต้องเตือนเพื่อนบ้านในภูมิภาคไม่ให้เข้าข้างสหรัฐฯ ในการเผชิญหน้าที่รุนแรงขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจ

คำถามใหญ่สำหรับเราก็คืออาเซียนกำลังจะถูกผลักดันให้เลือกข้างหรือไม่      

จุดยืนทางการของอาเซียนคือจะพยายามรักษาดุลแห่งอำนาจระหว่างมหาอำนาจ และจะไม่โอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง

แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะแม้ในบรรดาสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองก็มีผลประโยชน์ที่ผูกโยงกับจีนและสหรัฐฯ ในระดับที่ต่างกันอย่างชัดเจน

อาเซียนบอกได้เพียงว่าจะพยายามรักษานโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจนออกนอกหน้า

คือไม่แสดงตนว่าอยู่ฝ่ายไหน “ในเชิงรุก”

แต่ใน “เชิงตั้งรับ” แล้ว สมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศก็มีลีลาท่าทีของตนที่แตกต่างกันไป

อยู่ที่การชั่งตวงวัดผลประโยชน์ของตนในแต่ละภาคส่วนและแต่ละจังหวะ

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาเซียนจะต้องเริ่มคิดอย่างจริงจังแล้วว่า “สงครามเย็น” ระหว่างสองยักษ์ใหญ่นี้กำลังแสดงตนขึ้นมาอย่างชัดเจน

อย่างน้อยก็ชัดกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังปี 1991 อันเป็นปีที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย

ปีที่นักวิชาการตะวันตกบางคนประกาศว่าปีนั้นคือการ “สิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (The end of history)

แต่เอาเข้าจริงๆ วันนี้ “ประวัติศาสตร์ไม่เคยสิ้นสุด”

และปีศาจแห่งความเลวร้ายของการเผชิญหน้าย่อมสามารถคืนชีพกลับมาหลอกหลอนมนุษยชาติได้อีกแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย