จีนเตือนสหรัฐฯอย่าใช้‘นโยบาย กินรวบ’ ในนโยบายต่างประเทศ

การทูตจีนหลังจากสี จิ้นผิงรับตำแหน่งเบอร์หนึ่งของจีนอีก 5 ปี (เป็นอย่างน้อย) จะมีความแข็งกร้าวขึ้นเพียงใดย่อมอยู่ทีการตอบสนองจากฝ่ายสหรัฐฯ

แต่วอชิงตันก็ดูเหมือนจะยิ่งมีทีท่าที่ดุดันเพิ่มขึ้นอีก

จึงไม่ต้องแปลกใจหากสถานการณ์โลกที่กำลังย่ำแย่เพราะสงครามยูเครนและความขัดแย้งที่เกาหลีเหนือ, ตะวันออกกลาง, ทะเลจีนใต้และจุดร้อนอื่น ๆ จะเสื่อมทรุดลงไปอีกระดับหนึ่งในเร็ว ๆ นี้

เพราะยักษ์ใหญ่คำรามใส่กันหนักขึ้น

ในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ฉิน กังตอบคำถามหลายประเด็นที่โยงกับความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ

เช่นประเด็น “บอลลูนสอดแนม”

เขาชี้แจงว่าเรื่องนี้เป็นเหตุสุดวิสัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมโดยแท้ ซึ่งเขาย้ำว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดเจนมาก

ฉิน กังบอกว่าแม้แต่ฝ่ายสหรัฐฯเองก็ยอมรับว่าเหตุการณ์นี้ไม่ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามใดๆ

แต่สหรัฐฯ กลับละเมิดเจตนารมณ์ของกฎหมายระหว่างประเทศและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ โดยมีการโยนความผิดให้คนอื่นและตอบสนองเกินกว่าเหตุ มีการใช้กำลังในทางที่ผิดและถือโอกาสสร้างสถานการณ์ ซึ่งเป็นการสร้างวิกฤตทางการทูตทั้งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้”

ในฐานะที่เคยเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯก่อนจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ เขาย้ำว่าสหรัฐฯมีการรับรู้และเข้าใจสถานภาพของประเทศจีนคลาดเคลื่อนไปมาก

“เพราะสหรัฐฯมองจีนเป็นคู่ต่อสู้หลักและเป็นความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุด”

ฉิน กังบอกว่าอย่างนี้ถือว่าวอชิงตัน “ติดกระดุมเม็ดแรกผิด”

มีผลทำให้นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนออกห่างจากแนวทางของเหตุผลและความเหมาะสมโดยสิ้นเชิง

เขาย้อนความว่าสหรัฐฯเคยอ้างเสมอว่าจะ “เอาชนะจีนด้วยการแข่งขัน” ไม่แสวงหาความขัดแย้ง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว “การแข่งขัน” ของสหรัฐฯในที่นี้ คือการสกัดและปราบปรามจีนอย่างรอบด้าน

ซึ่งเป็นเกมรวม Zero-sum Game หรือ “เกมที่มีผลลัพธ์สุดท้ายเป็นศูนย์”

แปลว่าฝ่ายชนะต้องกินรวบ ฝ่ายแพ้เสียหายหมด

เป็นการสู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย

“ฝ่ายสหรัฐอเมริกาอ้างเสมอว่าต้องปฏิบัติตามกฎ แต่ในทางปฏิบัติ กลับทำเหมือนนักกีฬาที่วิ่งอยู่ในลู่ แทนที่จะตั้งใจวิ่งเพื่อสถิติที่ดีที่สุดของตนเอง แต่กลับคิดทำให้อีกฝ่ายสะดุดล้มตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งคิดให้อีกฝั่งไปแข่งในพาราลิมปิกเกมส์ได้ซ้ำไป...”

จีนถือว่าวิธีเช่นนี้ไม่ใช่การแข่งขันที่เป็นธรรม แต่เป็นการเผชิญหน้าที่มุ่งร้ายต่อกัน ถือว่าผิดกติกา

สิ่งที่สหรัฐฯอ้างว่าเป็น “การสร้างราวกั้น” (guardrails) และ “ไม่เผชิญหน้า” นั้น แท้จริงแล้วหมายความว่าจีนจะไม่ตอบโต้เมื่อถูกกระทำ

ซึ่งฉิน กังบอกว่า “เป็นไปไม่ได้”

โดยย้ำว่าหากสหรัฐฯ ไม่เหยียบเบรกและยังคงพุ่งไปผิดทางเช่นนี้ ไม่ว่าราวกั้นจำนวนเท่าใดก็ไม่สามารถหยุดรถคันนี้ไม่ให้หลุดถนนและพลิกคว่ำได้

และย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

แล้วใครหละจะแบกรับผลร้ายที่ตามมา?

ปักกิ่งมองว่าการแข่งขันแบบนี้เป็นการแข่งขันที่ใช้ผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนของทั้งสองประเทศและแม้กระทั่งอนาคตของมนุษยชาติเป็นเดิมพัน

ซึ่งจีนย่อมต้องคัดค้านอย่างเต็มที่

ฉิน กังบอกว่าสหรัฐอเมริกามีความภาคภูมิใจที่ตนเองจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

“แต่สหรัฐฯก็ต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับการพัฒนาขึ้นของประเทศอื่นๆ ด้วย”

นั่นย่อมหมายรวมถึงจีนที่ถือว่าตนก็มีสิทธิ์ที่จะเติบโตในเส้นทางของตนเช่นกัน

เขาบอกว่าการสกัดและการปราบปรามจะไม่ทำให้สหรัฐฯ ยิ่งใหญ่ขึ้น และยิ่งไม่อาจขัดขวางการฟื้นฟูความรุ่งเรืองของจีนได้

วาทะของฉิน กังมีการใช้คำเปรียบเปรยและสุภาษิตจีนเข้ามาผสมผสานอย่างต่อเนื่อง

เขาบอกว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ชี้ให้เห็นว่า การจัดการความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯอย่างเหมาะสมนั้นมีผลอย่างมากต่ออนาคตและชะตากรรมของโลก

“ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไม่ใช่คำถามแบบปรนัยว่าจะทำได้ดีหรือไม่ แต่เป็นคำถามอัตนัยที่ต้องตอบว่าให้ได้ว่าจะทำอย่างไรดี”

ฉิน กังย้ำว่าจีนจะปฏิบัติตามข้อเสนอของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงว่าด้วยหลักการของการเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (win-win)

เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯที่ดีและมั่นคง เรายังหวังว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะรับฟังเสียงของประชาชนทั้งสองประเทศอย่างตั้งใจ

และพยายามขจัดความกังวลทางยุทธศาสตร์ด้าน “ภัยคุกคามที่มากเกินไป”

อีกทั้งต้องละทิ้งแนวคิดสงครามเย็นแบบเกมผลรวมเป็นศูนย์

และต้องปฏิเสธการทำร้ายอย่างไร้เหตุผลต่อ “การเมืองที่ถูกต้อง” 

จีนต้องการเห็นสหรัฐฯรักษาคำมั่นสัญญา หันหน้าเข้าหาประเทศจีน

และร่วมกันแสวงหาเส้นทางที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศและนำความสุขมาสูงโลกใบนี้

แต่ในเมื่อคำว่า “ชนะ” และ “แพ้” ถูกกำหนดโดยคนละขั้ว คำว่า win-win” ก็ย่อมมีความหมายที่แตกต่างกันไปหากมองจากปักกิ่งและวอชิงตัน

ฝ่ายหนึ่งเห็นเป็น win-win

อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะมองเป็น lose-lose ก็ได้

ดังนั้นเราจึงกำลังเข้าสู่ภาวะที่น่ากังวลสำหรับเสถียรภาพของโลกเพราะยักษ์ใหญ่กำลังจะแย่งกันเป็นผู้เขียนกฎกติการะหว่างประเทศ

ในเมื่อมหาอำนาจหนึ่งพยายามจะเบียดอีกมหาอำนาจหนึ่งให้ตกขอบไป ความตึงเครียดก็ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

และเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยืนยันต่อต้านการที่จะถูก “ปิดล้อม, สกัดกั้นและกดทับ” นั่นก็ย่อมหมายถึงการมีแรงต้านกลับมาอย่างดุเดือด

โลกจึงกำลังตกอยู่ในภาวะของความสั่นสะเทือนที่มีดีกรีของความรุนแรงหนักหน่วงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน

เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา