ใครคือ‘มือมืด’ ที่กระพือ ความรุนแรงในยูเครน?

จีนกับสงครามยูเครนเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการแสดงจุดยืนของรัฐมนตรีต่างประเทศฉิน กังในสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นจังหวะที่เขามีโอกาสตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯจากวอชิงตันว่าปักกิ่งกำลังพิจารณาจะส่งอาวุธร้ายแรงให้รัสเซียไปทำสงครามในยูเครน

ขณะที่จีนเพิ่งเสนอ “แผนสันติภาพ” 12 ข้อเพื่อให้มีการหยุดยิงอันจะนำไปสู่การเจรจาให้โลกกลับไปสู่ภาวะปกติ

ฉิน กังบอกว่าวิกฤตยูเครนเป็น “โศกนาฏกรรมที่สามารถหลีกเลี่ยงได้”

เขาบอกว่าการที่เหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดนี้นั้นถือเป็นบทเรียนที่เจ็บปวด ซึ่งทุกฝ่ายควรค่าแก่การไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง

ว่าแล้วเขาก็วิเคราะห์ให้ฟังว่าวิกฤตการณ์ยูเครนมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบันที่ซับซ้อน

โดยพื้นฐานแล้ว ความรุนแรงที่ยูเครนนั้นเป็นเป็นการประทุครั้งใหญ่ของความขัดแย้งในธรรมาภิบาลความมั่นคงของยุโรป

“เรามักจะตัดสินข้อดีข้อเสียของเรื่องราวแบ่งแยกจากกัน เช่นระหว่างสันติภาพกับสงคราม เราเลือกสันติภาพ ระหว่างการเจรจาและการคว่ำบาตร เราเลือกการเจรจา ระหว่างการลดอุณหภูมิกับการเพิ่มอุณหภูมิ เราเลือกลดอุณหภูมิ...”

แต่ฉิน กังยืนยันว่าจีนไม่ใช่ทั้งผู้ก่อเรื่องหรือผู้มีส่วนร่วมในวิกฤตนี้

และย้ำว่าจีนไม่ได้จัดหาอาวุธให้กับฝ่ายใดในความขัดแย้งนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมจึงโทษจีนหรือแม้แต่ออกมาตรการคว่ำบาตรและข่มขู่จีน

“เราจะไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้อย่างเด็ดขาด”

เขาบอกว่าจีนได้เผยแพร่เอกสาร “จุดยืนจีนต่อทางออกทางของวิกฤตยูเครน” ซึ่งได้เสนอแผนการสันติภาพ 12 ข้อ

อาทิเช่น การเคารพอำนาจอธิปไตยของทุกประเทศ การละทิ้งความคิดแบบสงครามเย็น การหยุดยิง และเริ่มการเจรจาสันติภาพเป็นต้น ซึ่งแกนหลักของข้อเสนอคือการส่งเสริมให้มีการเจรจาสันติภาพ

แต่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนบอกว่าน่าเสียดายที่ความพยายามในการส่งเสริมการเจรจาสันติภาพถูกบ่อนทำลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เหมือนมี “มือมืด” ที่คอยผลักดันให้ความขัดแย้งเพิ่มระดับขึ้น  โดยพยายามใช้วิกฤตยูเครนเพื่อการสมคบคิดอย่างใดอย่างหนึ่งทางภูมิรัฐศาสตร์

เขาบอกว่าถึงวันนี้วิกฤตยูเครนดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

มีทั้งความพยายามในการหยุดยิง การฟื้นฟูสันติภาพและกลับสู่แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเมือง

มีทั้งความพยายามในการเติมเชื้อไฟ ขยายวิกฤตและลากความขัดแย้งสู่ห้วงลึกที่ไม่อาจควบคุมได้ ถึงที่สุดแล้ว

แต่จีนเชื่อว่าการเผชิญหน้า การคว่ำบาตร และการกดดัน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

สิ่งสำคัญตอนนี้คือความใจเย็น ความมีเหตุผล และการเจรจา ควรมีการเริ่มต้นกระบวนการเจรจาสันติภาพโดยเร็วที่สุด และควรเคารพข้อกังวลด้านความมั่นคงที่สมเหตุสมผลของทุกฝ่าย เพื่อแสวงหากลยุทธ์ในการบรรลุเสถียรภาพระยะยาวของยุโรป

ฉิน กังเสริมว่าโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย เกิดอะไรขึ้นกับโลก เราควรทำอย่างไร มนุษยชาติได้เดินทางมาถึงทางแยกของประวัติศาสตร์อีกครั้ง

เขาอ้างประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่ได้ชี้ให้เห็นแนวทางที่ถูกต้องของธรรมาภิบาลโลกจากมุมมองของโลก ประวัติศาสตร์ และมนุษยชาติ

ฉิน กังบอกว่าในช่วงสิบปีของยุคใหม่สี จิ้นผิงได้เสนอข้อริเริ่มและข้อเสนอที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ การร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

               ค่านิยมร่วมกันของมวลมนุษย์

ข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก

และข้อริเริ่มความมั่นคงระดับโลก

หัวใจหลักของแนวคิดเหล่านี้คือทุกประเทศต่างพึ่งพาอาศัยกัน มวลมนุษย์ล้วนมีโชคชะตาร่วมกัน ประชาคมระหว่างประเทศควรสามัคคีและร่วมมือกัน

ความสามัคคีและความร่วมมือสามารถเอาชนะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้

สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ และสามารถแก้ไขการขาดดุลในสันติภาพ การพัฒนา ความมั่นคง และธรรมาภิบาลได้

อีกทั้งสามารถสร้างโลกที่มีสันติภาพอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงทั่วไป มีความรุ่งเรืองร่วมกัน มีการเปิดกว้างและไม่แบ่งแยก และมีความสะอาดสวยงามได้

แต่เขาก็ยอมรับว่าเส้นทางสู่ธรรมาภิบาลระดับโลกนั้นไม่ได้ราบรื่นเสมอไป

แล้วก็ยกเอาคำกล่าวชาวจีนโบราณว่า “โลกจะสงบถ้าผู้คนรักใคร่ปรองดองกัน ถ้าผู้คนเกลียดกันจะเกิดความวุ่นวาย”

และมีอีกคำกล่าวหนึ่งว่า “การปฏิบัติที่ยึดประโยชน์ส่วนตนจะเกิดความวุ่นวาย การปฏิบัติที่ยึดกฎระเบียบจะเกิดธรรมาภิบาล”

และเสริมด้วยการอ้างถึงภูมิปัญญาของคนโบราณว่าการสร้างธรรมาภิบาลของโลกต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศที่สะท้อนอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ

ต้องรักษาความยุติธรรม ต่อต้านความเป็นเจ้าโลกและการมุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตน

ต้องคงไว้ซึ่งความสมัครสมานสามัคคี ไม่สร้างความแตกแยกและการเผชิญหน้า

ในเมื่อประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ของโลก และมีส่วนร่วมในการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกมากกว่าร้อยละ 70  ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาควรมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และประเทศกำลังพัฒนาควรมีสิทธิ์มีเสียงในกิจการโลกมากขึ้น

ฟังคำให้สัมภาษณ์ร่ายยาวอย่างนี้แล้วจะบอกว่าฉิน กังสอนมวยสหรัฐฯก็ได้

เขาบอกว่าในวิถีแห่งศีลธรรม-จรรยา โลกนี้ล้วนเป็นของส่วนรวม

จีนจะยึดมั่นในความคำนึงถึงโลกอยู่เสมอ มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการธรรมาภิบาลโลก และสร้างคุณูปการมากขึ้นเพื่อสันติภาพและการพัฒนาของโลกและความก้าวหน้าของมนุษย์

ถือว่าวันนี้จีนกำลังจะรุกหนักทางด้านต่างประเทศ, ความมั่นคงและเศรษฐกิจ

และสี จิ้นผิงกับฉิน กังใช้โอกาสของการประชุมใหญ่ของสภาประชาชนและสภาที่ปรึกษาประชาชนเปิดฉากโยนระเบิดกลับไปใส่วอชิงตัน

เปิดฉากการทูตร้อนแรงสำหรับปีนี้อย่างดุเดือดเต็มที่

เราควรจะเตรียมการสำหรับการปะทุของ “สงครามเย็น” รอบใหม่ให้จงหนัก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด