ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง บินถึงมอสโกเมื่อวานนี้...เตรียมจะคุยกับ “สหายรัก” วลาดิเมียร์ ปูตินในภาวะโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด
ที่โลกสนใจการพบปะครั้งนี้เป็นพิเศษเพราะเกิดขึ้นขณะที่สงครามยูเครนเข้าสู่โหมดที่กำลังจะร้อนแรงอันเกิดจากการที่ทั้งรัสเซียและยูเครนเตรียมจะเปิดศึกใหญ่ในฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาถึง
ที่เรียกขานกันว่าเป็น Spring Offensive
เพราะฤดูหนาวกำลังจะสิ้นสุดลง และสงครามที่ลากยาวเกินหนึ่งปีมาแล้วนั้นอยู่ในสภาพชะชักงัน
ไม่มีฝ่ายไหนประกาศชัยชนะได้
แต่สารที่ผู้นำจีนนำมาให้ปูตินนั้นคือการเรียกร้องสันติภาพ ไม่ใช่การมาร่วมวางยุทธศาสตร์สงคราม
ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ปูตินต้องการนักในจังหวะเวลานี้
เพราะถ้าปูตินเลือกได้ การพบปะกันครั้งนี้ควรจะเป็นการจับมือของมหามิตรเพื่อต่อต้านตะวันตกที่จะผนึกกำลังกันทั้งทางการเมือง, การทูตและการทหารเพื่อปิดเกมในยูเครน
แต่สี จิ้นผิง ได้ประกาศกับชาวโลกแล้วว่าเขากำลังจะมาหารือกับปูตินว่าหากจะเปิดการเจรจากับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครนจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
และหากเป็นไปตามข่าวก่อนหน้านี้ สี จิ้นผิงก็คงจะต่อสายคุยกับเซเลนสกีหลังจากเจอปูตินและได้รับทราบ “เงื่อนไข” ของการที่จะเปิดช่องทางการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อนำไปสู่การต่อรองเจรจาทางการทูต
สี จิ้นผิง ได้ปูทางกับยูเครนเอาไว้แล้ว ด้วยการให้รัฐมนตรีต่างประเทศจีนฉิน กังยกหูถึงรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนดมิโทร คูเลบาวันเดียวกับที่จีนออกข่าวเป็นทางการว่าสี จิ้นผิงจะเยือนมอสโก 20-22 มีนาคมนี้
เพื่อให้เกิดภาพของความเป็นผู้ยืนอยู่ตรงกลางของความขัดแย้งในยูเครน
แต่แน่นอนว่าหัวข้อของการพูดจาระหว่างปูตินกับอาคันตุกะคนสำคัญอย่างสี จิ้นผิง จะต้องมีประเด็นอื่น ๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นปึกแผ่นระหว่างปักกิ่งกับมอสโก
จึงมีข่าวล่วงหน้าว่าแถลงการณ์ร่วมของผู้นำทั้งสองจะตอกย้ำถึงการบรรลุถึง “ศักราชใหม่” แห่งความสัมพันธ์ของสองประเทศ
เพื่อตอกย้ำถึง “ความสัมพันธ์ไร้ขีดจำกัด” ที่เคยปรากฏในแถลงการณ์ร่วมกว่า 5,000 คำของทั้งสองคนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ปักกิ่งเมื่อปีที่แล้ว
ตอนนั้น ปูตินบินไปหาสี จิ้นผิง เพื่อร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่จีนเป็นเจ้าภาพ
เป็นการพบปะกันสองสัปดาห์ก่อนที่ปูตินส่งทหารรัสเซียเข้าบุกยูเครน
การเยือนคราวนี้ต้องมีอะไรคืบหน้าจึงจะทำให้ทั้งสองฝ่ายดูดี
ทำเนียบเครมลินออกข่าวมาก่อนแล้วว่าผู้นำทั้งสองจะหารือเกี่ยวกับ "ความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์"
อาจจะฟังดูเป็นศัพท์แสงเก่า ๆ ที่ใช้กันค่อนข้างพร่ำเพรื่อ
แต่ในแวดวงการทูตมหาอำนาจนั้นคำว่า “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมรอบด้าน” ได้กลายเป็นถ้อยแถลงที่ใช้ทั้งฝั่งตะวันตกและรัสเซีย
ภาษาชาวบ้านก็คือ “มีอะไรขอให้บอก!”
แต่น่าสนใจว่าจะมีการออกข่าวตอบโต้ตะวันตกเรื่องจีนกำลังพิจารณาส่งอาวุธให้รัสเซียเพื่อทำศึกในยูเครนหรือไม่
หรือจะออกมาด้วยภาษาสันติภาพเพื่อดึงความสนใจออกจากเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์และสงคราม
หัว ชุนหยิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศเพียงแค่หยอดว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นการเดินทาง "เพื่อมิตรภาพและสันติภาพ"
โฆษกจีนย้ำว่า “บนพื้นฐานของการไม่มีพวกพ้อง ไม่มีการเผชิญหน้า และไม่มีการกำหนดเป้าหมายของบุคคลที่สาม จีนและรัสเซียได้ส่งเสริมประชาธิปไตยให้เพิ่มขึ้นในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
อีกทั้งยังเสริมว่าจีนจะรักษา “จุดยืนที่เป็นกลางและยุติธรรม” ต่อสงครามในยูเครน และ “มีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการส่งเสริมการพูดคุยเพื่อสันติภาพ”
จึงน่าสนใจว่าในแถลงการณ์ร่วมที่จะออกตอนท้ายของการไปเยือนมอสโกนั้น สีกับปูตินจะใช้คำว่า “สันติภาพ” และ “สงคราม” สักกี่ประโยค
แม้ว่าตะวันตกจะบอกปัดข้อเสนอสันติภาพ 12 ข้อของจีนก่อนหน้านี้ แต่เซเลนสกีของยูเครนยังมีความหวัง
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเซเลนสกีบอกว่าเขาต้องการพบสี จิ้นผิงเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอสันติภาพของปักกิ่ง
และยังสำทับว่า “ผมอยากจะเชื่อจริงๆ ว่าจีนจะไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย”
แปลว่าผู้นำยูเครนต้องการจะบอกว่าเขาฟังทั้งฝั่งอเมริกาและจีนเรื่องนี้เพื่อชั่งน้ำหนักของจริง
เพราะก่อนหน้านี้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตั้งข้อกล่าวหาว่าจีนกำลังพิจารณาส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ช่วยรัสเซียทำสงครามในยูเครน
จีนออกมาปฏิเสธ บอกว่าไม่ได้ส่งอาวุธให้กับฝ่ายใดในสงครามยูเครน
รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนบอกว่าเซเลนสกีพร้อมจะพูดคุยกับสี จิ้นผิงทางโทรศัพท์
อเมริกาเองก็ไม่กล้าออกมาต่อต้านคัดค้านการสนทนาระหว่างผู้นำจีนกับยูเครน
โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ บอกว่าจะเป็น "เรื่องดีมากหากทั้งสองคนคุยกัน"
จอห์น เคอร์บีบอกว่าอเมริกาสนับสนุนให้มีการสื่อสารกันอยู่แล้ว
บทสนทนาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนกับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนมีการเรียกร้องจากปักกิ่งให้เริ่มการเจรจาสันติภาพ "โดยเร็วที่สุด"
ฉิน กังบอกคูเลบาว่า ปักกิ่งหวังว่า "ทุกฝ่ายจะรักษาความสงบ ใช้ความอดกลั้น เริ่มการเจรจาสันติภาพโดยเร็วที่สุด และกลับสู่แนวทางยุติทางการเมือง"
คูเลบาแจ้งฝ่ายจีนว่ายูเครนต้องการตอกย้ำถึงความสำคัญของ” หลักการบูรณภาพแห่งดินแดน" และ "สูตรสันติภาพเพื่อยุติการรุกรานและฟื้นฟูสันติภาพในยูเครน" ซึ่งเซเลนสกีได้ยึดเป็นหลักการสำหรับการเจรจาที่จะเกิดขึ้นมาตลอด
สี จิ้นผิงคงตระหนักว่าการจะน้าวโน้มให้ปูตินกับเซเลนสกีมานั่งคุยพร้อมกัน (เหมือนที่จีนวางตัวเป็นคนกลางให้อิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย) นั้นเป็นเรื่องยากเย็นยิ่ง
แต่หากผู้นำจีนสามารถปูทางให้เกิดบรรยากาศแห่งความพร้อมจะเจรจาแม้แต่น้อยนิดก็จะถือได้ว่าเป็น “การก้าวข้ามอุปสรรคอันสำคัญ” หรือ breakthrough ที่มีความหมายเลยทีเดียว
เหมือนที่นักการทูตบางคนในเอเชียวิเคราะห์ไว้
นั่นคือสำหรับสี จิ้นผิงแล้วแม้การพยายามจะเสนอตัวเป็นกาวใจระหว่างมอสโกกับเคียฟจะเป็นเรื่องท้าทายและสุ่มเสี่ยง
แต่สี จิ้นผิงคงประเมินแล้วว่า “จีนไม่เสียอะไรแม้จะไม่มีอะไรคืบหน้า มีแต่จะได้อย่างเดียว...หากแม้ทั้งสองฝ่ายยอมถอยก้าวเล็ก ๆ ก็ถือเป็นความสำเร็จได้”
เพราะจีนก็สามารถจะอ้างว่าตนคือผู้สร้างสันติภาพขณะที่สหรัฐฯยังก้มหน้าก้มตาจะทำสงครามต่อ!
ไม่ต้องสงสัยว่าใครจะดูดีกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คิสซิงเจอร์ในวัย 100 เสนอวิธี หลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 (2)
เมื่อวานเขียนถึงแนวทางวิเคราะห์ความเสี่ยงของสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีนในความเห็นของเฮนรี คิสซิงเจอร์, อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงหลายสมัยของสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะฉลองวันเกิดที่ 100 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเขาย้ำว่าไต้หวันจะเป็นจุดทดสอบที่สำคัญว่าจะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างสองยักษ์ใหญ่หรือไม่
คิสซิงเจอร์ (ในวัย 100 ปี) เสนอวิธี หลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 (1)
เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตนักการเมืองชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทในสงครามและความขัดแย้งระดับโลก อายุครบ 100 ปี เมื่อวันเสาร์ (27 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา
ผู้นำภูมิภาคถามหาบทบาท อาเซียนในวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์
ผู้นำเอเชียหลายท่าน รวมทั้งคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ไปร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลกเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
เวียดนามรักษาดุลถ่วงระหว่าง จีนกับสหรัฐฯ อย่างไร?
ผมเขียนเรื่องจีน-สหรัฐฯ และอาเซียนมาหลายวัน วันนี้ส่องกล้องดูความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับเวียดนามที่กำลังเข้าสู่จุดที่น่าสนใจยิ่ง
วาทะปะฉะดะระหว่าง รมต. จีนกับทูตมะกัน
ที่ผมเขียนถึงเรื่องจีนกับสหรัฐฯบ่อย ๆ ในช่วงนี้เพราะการเผชิญหน้าของสองยักษ์ระดับโลกจะเป็นปัจจัยตัดสินอนาคตของ “ระเบียบโลก” อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
จีนกับอาเซียนเร่งข้อตกลง ‘กติกามารยาท’ ทะเลจีนใต้
ข่าวล่าสุดบอกว่าจีนกำลังพยายามจะปิดเกมการเจรจาร่างกฎกติกามารยาทกับอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้