ผมติดตามการ “ซักฟอก” นายโจว ซื่อ ชิว (Shou Zi Chew) ซีอีโอของ TikTok โดย ส.ส. มะกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยความด้วยความสนใจ
เป็นความสนใจว่านักการเมืองสหรัฐฯจะ “บี้” นักธุรกิจวัย 40 ชาวสิงคโปร์คนนี้หาญกล้าเข้า “ถ้ำเสือ” ได้อย่างไร
อีกทั้งคำถามของนักการเมืองสหรัฐฯนั้นแหลมคมเพียงใด
ผมสรุปได้ว่าบรรดา ส.ส. สหรัฐฯที่ปักหลักซักถามนายชิวนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้ทำการบ้านอะไรมาก่อน
ที่ชัดเจนคือ ส.ส. ทั้งฝั่งเดโมแครตและรีพับบลิกันถือว่าจะต้องเหยียบ TikTok ให้แบนเพราะเป็น “กระแส”
แต่ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องการใช้ apps นี้อะไรมากมาย
ส่วนใหญ่ต้องการจะฟาดฟันจีนโดยใช้การซักถามครั้งนี้เป็นเครื่องมือเพื่อหาเสียงให้กับตนมากกว่า
นักวิเคราะห์บางคนที่ติดตามฟังการถามตอบกว่า 5 ชั่วโมงที่ดุเด็ดเผ็ดมันนั้นบอกว่ามีคำถามไร้สาระมากมาย
และนักการเมืองมะกันส่วนใหญ่ที่ตั้งคำถามนั้นล้วนแล้วแต่ “หิวแสง” ทั้งนั้น
คำว่า “หิวแสง” ผมแปลจากคำเดิมที่ฝรั่งเรียกว่า grandstanding ซึ่งหมายความถึงการแสดงออกที่ต้องการจะเรียกร้องความสนใจมากกว่าการที่จะสะท้อนถึงความรู้ของผู้ตั้งคำถาม
ซีอีโอของ TikTok คนนี้กลายเป็น “เหยื่ออันโอชะ” ของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่รุมซักถามเขา เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว
โดยส่วนใหญ่แสดงความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติและเนื้อหาที่เป็นภัยต่อเยาวชน
ที่อเมริกา มีคนใช้ TikTok ประจำประมาณ 150 ล้านคน
รัฐบาลสหรัฐฯ, แคนนาดาและยุโรปตะวันตกกำลังจ้องจะแบนการใช้ TikTok เพราะเชื่อว่ามีการส่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการให้กับรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีน
บริษัทแม่ ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ถูกตั้งข้อแม้ให้ขายหุ้นทิ้งเสีย หรือไม่ก็อาจจะถูกแบนในประเทศตะวันตกหลายชาติ
พูดง่าย ๆ ก็คือ TikTok กำลังกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งด้านการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับอเมริกาอีกเรื่องหนึ่งที่ร้อนแรง
ไม่เพียงแต่ในแง่ของการแข่งขันแย่งตลาดเท่านั้น
แต่นักการเมือง, กองทัพและทำเนียบขาวต่างก็เชื่อว่าเจ้า apps นี้เป็นภัยต่อความมั่นคง, ศีลธรรมและเศรษฐกิจต่ออเมริกา
คำถามจากเหล่าบรรดา ส.ส. มะกันมีประเด็นตั้งแต่การควบคุมดูแลเนื้อหาในติ๊กต๊อกว่าละเมิดศีลธรรมและความถูกต้องอย่างไรหรือไม่
แต่มีการซักถามถึงแผนการเก็บรักษาข้อมูลผู้ใช้ในอเมริกาไม่ให้ถูกส่งไปให้กับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงของจีน
ตลอดจนข้อกล่าวหาว่ามีการสอดแนมผู้สื่อข่าวหลายคน
หนึ่งในแกนสำคัญของผู้ซักถามคือส.ส.แคธี แม็คมอร์ริส รอดเจอร์ส ประธานคณะคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการพาณิชย์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน
เธอแถลงว่า “ชาวอเมริกันต้องการทราบความจริงเกี่ยวกับภัยคุกคามของ TikTok ต่อความมั่นคงแห่งชาติและความปลอดภัยส่วนตัว”
เธออ้างว่า TikTok ตกอยู่ในกระบวนการควบคุม ตรวจสอบและจัดการ (โดยกลไกของบริษัท) มากขึ้นทุกที
นายชิว ซีอีโอ TikTok พยายามที่จะตอบแต่ก็ถูกสกัดด้วยการยืนยันจากผู้ถามว่า
“ไม่ต้องตอบยาว ขอให้บอกเพียง Yes หรือ No”
แม้ว่าหลายคำถามนั้นไม่อาจจะตอบเพียง “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” เท่านั้น
เขายืนยันกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า TikTok ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของผู้ใช้
และปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าแอปฯ นี้ “ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ” ของสหรัฐฯหรือประเทศตะวันตก
นายชิวย้ำว่าทางบริษัทมีแผนปกป้องข้อมูลส่วนตัวของสมาชิกด้วยการนำข้อมูลนั้นไปเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ที่มีบริษัทซอฟต์แวร์ออราเคิล (Oracle) เป็นเจ้าของและผู้ดูแล
อีกประโยคหนึ่งที่เขาพยายามจะเน้นคือ “Bytedance” ไม่ใช่ตัวแทนของรัฐบาลจีนหรือประเทศใด”
แต่ดูเหมือน ส.ส. มะกันส่วนใหญ่ไม่มีใครเชื่อ...และไม่ยอมเชื่อ...เพราะเป้าหมายคือการ “ขยี้” ฝ่ายบริหารของบริษัทจีนแห่งนี้
แต่ TikTok ก็ดิ้นสุดฤทธิ์เหมือนกัน
มีข่าวว่าทางบริษัทได้ส่งผู้ใช้ TikTok ที่มีชื่อเสียงหลายสิบคนไปยังรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อช่วยล็อบบี้ไม่ให้มีการแบนการใช้ apps นี้ในอเมริกา
คนที่นั่นสังเกตว่าในช่วงหลัง TikTok ออกรณรงค์โฆษณาทั่วกรุงวอชิงตันเพื่อย้ำถึงความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
และยืนยันว่าการใช้ apps นี้ไม่ได้เป็นภัยต่อเยาวชน
ตลอดเวลาที่ผ่านมา Bytedance ถูกมองว่ามีความสนิทแนบชิดกับรัฐบาลปักกิ่ง
ทำให้เกิดข้อกังขาว่าข้อมูลของผู้ใช้ในอเมริกาอาจตกอยู่ในมือของรัฐบาลจีนได้
และ TikTok อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของผู้นำจีนหรือแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยซ้ำไป
ไม่ว่าผู้ใช้บริการในอเมริกาหรือชาติอื่นจะตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม
การเชื่อมโยงความเป็นจีนของ Bytedance นั้นเริ่มตั้งแต่ ก่อตั้งขึ้นโดยนักธุรกิจจีนที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2012
แต่พอธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและขยายตลาดไปทั่วโลกจนมีคนใช้บริการเกือบ 1 พันล้าน ทางบริษัทจึงพยายามแสดงตนว่าไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกับรัฐบาลจีนโดย
อ้างว่า 60% ของผู้ถือหุ้นเป็นสถาบันลงทุนระหว่างประเทศ
หนึ่งในกรรมาธิการที่ซักถามกล่าวหาว่า TikTok แสวงผลกำไรโดยไม่สนใจต่อปัญหาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของชาวอเมริกัน
ว่าแล้วก็แสดงวิดีโอชิ้นหนึ่งในติ๊กต๊อกที่สนับสนุนให้ผู้ใช้ทำร้ายผู้อื่นและฆ่าตัวตาย
ซีอีโอ TikTok บอกว่าบริษัทมีทีมงานดูแลเนื้อหาถึงประมาณ 40,000 คนที่มีหน้าที่คอยตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นภัย และยังมีระบบ Algorithm ที่คอยตรวจสอบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม
คำถามต่อมาก็คือว่าถ้ารัฐบาลสหรัฐฯจะแบน TikTok จริง จะมีวิธีทำอย่างไร
ทางหนึ่งก็อาจจะบังคับให้ Apple และ Google ถอดแอปฯ TikTok ออกจากแอปสโตร์
อีกทางหนึ่งคือบล็อกการเข้าถึงเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลของ TikTok
หรือไม่ก็อาจยึดโดเมนเนม
อีกวิธีหนึ่งคือบังคับให้บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น Comcast และ Verizon เป็นผู้กรองหรือสกัดข้อมูลของ TikTok
แต่คนในวงการก็บอกว่ามีวิธีเลี่ยงอยู่ดี
นั่นคือการใช้เทคโนโลยี VPN (Virtual Private
Network) ที่ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ใช้คนนั้นอยู่ในประเทศอื่น
ทำให้รอดจากการไม่ถูกปิดกั้นการใช้ apps
ที่เริ่มมาแล้วก็คือบางประเทศ (รวมถึงสหรัฐฯลนิวซีแลนด์)
สั่งห้ามติดตั้ง apps TikTok ในอุปกรณ์สื่อสารของหน่วยงานรัฐบาลและกองทัพ
แต่นั่นก็คือการสั่งการเฉพาะกลุ่มที่รัฐบาลมีอำนาจสั่งเท่านั้น
ยังไม่อาจจะใช้กับประชาชนทั่วไปได้
มีคนกังวลว่าจีนอาจใช้มาตรการตอบโต้ได้เหมือนกัน
Microsoft, Tesla, Apple และธุรกิจมะกันอื่น ๆ ที่เข้าไปลงทุนในจีนอาจตกเป็นเป้าของการแก้แค้นของทางการจีนก็ได้
พรุ่งนี้จะเล่าให้ฟังว่าหนุ่มสิงคโปร์ที่เป็นซีอีโอ TikTok และกล้ามาเผชิญหน้ากับเสือสิงห์การเมืองของสหรัฐฯนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คิสซิงเจอร์ในวัย 100 เสนอวิธี หลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 (2)
เมื่อวานเขียนถึงแนวทางวิเคราะห์ความเสี่ยงของสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีนในความเห็นของเฮนรี คิสซิงเจอร์, อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงหลายสมัยของสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะฉลองวันเกิดที่ 100 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเขาย้ำว่าไต้หวันจะเป็นจุดทดสอบที่สำคัญว่าจะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างสองยักษ์ใหญ่หรือไม่
คิสซิงเจอร์ (ในวัย 100 ปี) เสนอวิธี หลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 (1)
เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตนักการเมืองชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทในสงครามและความขัดแย้งระดับโลก อายุครบ 100 ปี เมื่อวันเสาร์ (27 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา
ผู้นำภูมิภาคถามหาบทบาท อาเซียนในวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์
ผู้นำเอเชียหลายท่าน รวมทั้งคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ไปร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลกเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
เวียดนามรักษาดุลถ่วงระหว่าง จีนกับสหรัฐฯ อย่างไร?
ผมเขียนเรื่องจีน-สหรัฐฯ และอาเซียนมาหลายวัน วันนี้ส่องกล้องดูความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับเวียดนามที่กำลังเข้าสู่จุดที่น่าสนใจยิ่ง
วาทะปะฉะดะระหว่าง รมต. จีนกับทูตมะกัน
ที่ผมเขียนถึงเรื่องจีนกับสหรัฐฯบ่อย ๆ ในช่วงนี้เพราะการเผชิญหน้าของสองยักษ์ระดับโลกจะเป็นปัจจัยตัดสินอนาคตของ “ระเบียบโลก” อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
จีนกับอาเซียนเร่งข้อตกลง ‘กติกามารยาท’ ทะเลจีนใต้
ข่าวล่าสุดบอกว่าจีนกำลังพยายามจะปิดเกมการเจรจาร่างกฎกติกามารยาทกับอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้