ไทยกระทบด้วยเมื่อ EU ออกกฎหมายควบคุมทำลายป่า

เรื่องสิ่งแวดล้อมระดับโลกไม่ได้ห่างไกลจากชีวิตของคนไทยอีกต่อไปจริงๆ

ล่าสุด สหภาพยุโรปออกกฎหมายฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า Regulation on Deforestation-Free Products ที่จะมีผลต่อเกษตรกรไทยที่ผลิตสินค้า 7 ประเภท ได้แก่

ไม้, วัว, โกโก้, กาแฟ, ปาล์มน้ำมัน, ถั่วเหลืองและยางพารา

โดยกำหนดให้บริษัทในสหภาพยุโรปที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้ต้องตรวจสอบย้อนหลังกลับตลอดกระบวนการผลิตสินค้าว่าไม่มีความเกี่ยวโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรม

เขาเรียกกระบวนการนี้ว่า Mandatory Due Diligence

นั่นแปลว่ารัฐบาลและเอกชนไทยกับเกษตรกรของเราจะต้องตั้งหลักเพื่อเร่งรัดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องของเราต้องเตรียมพร้อมกับกฎกติกาใหม่ของโลกที่กำลังจะมีความเข้มข้นมากขึ้นกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน

ไม่ใช่แค่เรื่องการประชุมระดับโลกที่เราเคยคิดว่าคงไม่เกี่ยวอะไรกับชาวบ้านของเรา

ที่ไหนได้ มาตรการชุดล่าสุดนี้จะมีผลกระทบต่ออาชีพของเกษตรกรและรายได้จากการส่งออก

รวมถึงภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเวทีสากลว่าด้วยการมีช่วยร่วมในกระบวนการต่อสู้กับโลกร้อนและการทำลายป่าอีกด้วย

ข่าวเมื่อเร็วๆ นี้แจ้งว่า รัฐสภาสหภาพยุโรปได้รับรองกฎหมายใหม่เพื่อต่อสู้กับการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกแล้ว

สาเหตุหลักมาจากข้อมูลทางการของอียูที่ว่าพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าสหภาพยุโรปสูญเสียไปจากการตัดไม้ทำลายป่าระหว่างปี พ.ศ.1990 ถึง 2020 โดยการบริโภคของสหภาพยุโรป

กฎหมายฉบับใหม่นี้เขียนเป็นหลักการว่า เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

จึงต้องมีการบังคับให้บริษัทต่างๆ ต้องแน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ขายในสหภาพยุโรปไม่ได้นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในส่วนต่างๆ ของโลกใบนี้

ไม่มีการระบุประเทศหรือยี่ห้อสินค้าตัวไหนเป็นการเฉพาะ แต่กติกาใหม่กำหนดว่าบริษัทต่างๆ จะได้รับอนุญาตให้ขายผลิตภัณฑ์ในสหภาพยุโรปได้ก็ต่อเมื่อซัพพลายเออร์ของผลิตภัณฑ์ได้ออกเอกสารที่เรียกว่า "การตรวจสอบสถานะ" เพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ได้มาจากที่ดินที่ถูกทำลายหรือได้นำต่อความเสื่อมโทรมของป่า

รวมถึงป่าปฐมภูมิที่ปลูกทดแทนไม่ได้ หลังวันที่ 31 ธันวาคม 2020

รัฐสภาอียูระบุว่า บริษัทต่างๆ จะต้องตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศผู้ผลิต รวมถึงสิทธิมนุษยชน และสิทธิของชาวพื้นเมืองของแต่ละชุมชนด้วย

สินค้าที่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายนี้คือ วัว โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหรือเลี้ยงด้วยหรือผลิตโดยใช้สินค้าเหล่านี้ เช่น เครื่องหนัง ช็อกโกแลต และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ที่มีนัยสำคัญเพิ่มเติมคือ กฎหมายฉบับนี้ยังได้ให้คำนิยามที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับความเสื่อมโทรมของป่า

ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนป่าปฐมภูมิหรือป่าที่งอกใหม่ตามธรรมชาติเป็นป่าปลูกหรือที่ดินป่าไม้อื่นๆ

ในทางปฏิบัตินั้น จะมีการจัดประเภทของประเทศหรือบางส่วนของประเทศนั้นๆ ว่ามีความเสี่ยงต่ำ มาตรฐาน หรือสูง (low, standard, or high risks)

โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ และ “การประเมินที่โปร่งใส” ภายใน 18 เดือนนับจากวันที่กฎข้อบังคับนี้มีผลบังคับใช้

ผลิตภัณฑ์จากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบสถานะที่ง่ายขึ้น

สัดส่วนการตรวจสอบดำเนินการกับผู้ประกอบการตามระดับความเสี่ยงของประเทศ: 9% สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงสูง 3% สำหรับความเสี่ยงมาตรฐาน และ 1% สำหรับความเสี่ยงต่ำ

เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของสหภาพยุโรปจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องซึ่งบริษัทจัดหาให้ เช่น พิกัดทางภูมิศาสตร์ (geolocation) และดำเนินการตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือตรวจสอบดาวเทียมและการวิเคราะห์ดีเอ็นเอเพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์มาจากที่ใด

บทลงโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตามจะต้องเป็นไปตามสัดส่วนและผลทางด้านการห้ามปราม

และค่าปรับสูงสุดจะต้องเป็นอย่างน้อย 4% ของมูลค่าการซื้อขายรวมประจำปีในสหภาพยุโรปของผู้ดำเนินการหรือผู้ค้าที่ไม่ปฏิบัติตาม

กฎหมายใหม่นี้ได้รับการรับรองด้วยคะแนนเสียง 552 ต่อ 44 และงดออกเสียง 43 เสียง

หลังจากการลงคะแนนเสียง ผู้รายงาน Christophe Hansen (EPP, LU) กล่าวว่า "จนถึงวันนี้ ชั้นวางของในซูเปอร์มาร์เก็ตของเรามักจะเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่ปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่านของป่าที่ถูกไฟไหม้และระบบนิเวศที่ถูกทำลายอย่างถาวร ซึ่งได้ทำลายวิถีชีวิตของคนพื้นเมือง บ่อยครั้งที่สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยที่ผู้บริโภคไม่ทราบ"

"เราจึงรู้สึกโล่งใจที่ตอนนี้ผู้บริโภคชาวยุโรปสามารถวางใจได้ว่าพวกเขาจะไม่มีส่วนร่วมในการตัดไม้ทำลายป่าโดยไม่เจตนาอีกต่อไปเมื่อพวกเขากินช็อกโกแลตแท่งหรือเพลิดเพลินกับกาแฟที่ชื่นชอบ"

"กฎหมายใหม่นี้ไม่เพียงแต่เป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังควรทลายข้อขัดขวางไม่ให้เรากระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่มีค่านิยมและความมุ่งมั่นที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับเรา"

ความเคลื่อนไหวของสภาอียูเรื่องนี้มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ นั่นคือ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประมาณการว่าพื้นที่ป่า 420 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 4.2 ล้านตารางกิโลเมตร) ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าสหภาพยุโรป ถูกเปลี่ยนจากป่าไปใช้ทางการเกษตรระหว่างปี 1990-2020

การบริโภคของสหภาพยุโรปคิดเป็นประมาณ 10% ของการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก น้ำมันปาล์มและถั่วเหลืองมีสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3

ในเดือนตุลาคม 2020 รัฐสภาใช้สิทธิพิเศษในสนธิสัญญาเพื่อขอให้คณะกรรมาธิการออกกฎหมายเพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกที่ขับเคลื่อนโดยสหภาพยุโรป

ข้อตกลงกับประเทศในสหภาพยุโรปเกี่ยวกับกฎหมายใหม่บรรลุผลในวันที่ 6 ธันวาคม เมื่อปีที่แล้ว

คำถามใหญ่สำหรับประเทศไทยก็คือ ถ้าเราทำตามกติกาใหม่นี้ไม่ได้ ผู้นำเข้าสินค้าไทย 7 ประเภทนี้ (และมีใช้วัสดุที่เกี่ยวโยงกัน) ก็จะถูกกีดกันไม่ให้เข้าตลาดอียู

หรือผู้นำเข้าเหล่านั้นอาจจะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นที่พร้อมจะทำตามกติกาชุดใหม่นี้มากกว่าไทยเรา

ใครมาเป็นรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งต้องมีคำตอบครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อนาคตประเทศไทย ที่ยังเต็มไปด้วยอุปสรรค!

พอมองว่ารัฐบาลเศรษฐา 1/1 จะต้องวางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจอย่างไรก็ต้องฟังความเห็นของผู้ที่ช่วยกันคิดว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างจึงจะกระชากประเทศชาติจาก “กับดัก” รายได้ปานกลางที่เราติดอยู่ยาวนาน

เวียดนามกวาดล้างโกงกิน ระดับนำร่วงคนที่ 3 ในปีเดียว

เวียดนามเขย่าระดับสูงอย่างต่อเนื่อง...เป็นการยืนยันว่าจะต้อง “ชำระสะสาง” ให้สามารถจะบอกประชาชนและชาวโลกว่ายึดมั่นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างจริงจัง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด