ตัวชี้วัดเศรษฐกิจล้วนไปทางลบ... ท้าทายฝีมือ ครม. เศรษฐา 1/1

ตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจไทยที่โผล่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาล้วนเป็นข่าวชวนคิดและกังวล

เริ่มด้วยข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ว่าการส่งออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาลดลงกว่า 10%

ตามมาด้วยการแถลงข่าวของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่าสภาพเศรษฐกิจเราปีนี้น่าจะซบเซากว่าที่คิด จึงปรับลดพยากรณ์อัตราโตจากเดิม 2.8% เมื่อเดือนมกราคมเป็น 2.4%

สาเหตุเป็นเพราะการส่งออกหดตัว ภัยแล้งมีผลกระทบต่อพลผลิตสินค้าเกษตร

ในวันเดียวกันก็มีข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ว่าสหรัฐฯยังคงถูกจัดอยู่ใน 20 ประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Watch List) ตามมาตรา 301 พิเศษของกฎหมายการค้าสหรัฐฯปี 67

ซ้ำเติมด้วยข่าวว่าทางมหาวิทยาลัยหอการค้าได้สำรวจตลาดแล้วพบว่าพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่จะต้องขึ้นราคาสินค้าอีกประมาณ 15% หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท

อีกทั้งเป็นเพราะค่าวัตถุดิบแพงขึ้นเพราะความร้อนและค่าน้ำค่าไฟก็ขยับขึ้นเช่นกัน

อีกด้านหนึ่งเงินบาทอ่อนยวบ ธนาคารแห่งประเทศไทยยอมรับว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลล่าร์อ่อนลงไป 7.8% ตั้งแต่ต้นปี

เป็นแนวโน้มเดียวกับอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย, อินโดนีเซียหรือญี่ปุ่นบางประเทศก็ต้องเอาเงินเข้าไปแทรกแซงเพื่อไม่ให้เกิดการอ่อนเกินไป

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังยืนยันว่าการลดดอกเบี้ยนโยบายอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจโตช้า

แต่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทยให้ช่วยลดดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบาง

ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองเกือบจะทันที

แต่ก็คงจะช่วยได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะการลดเพียง 0.25% จากอัตรา MMR เพียง 6 เดือนก็คงจะเป็นเพียง “ยาแก้ปวด” ชั่วคราวเท่านั้น

เพราะเอาเข้าจริง ๆ การจะแก้ปัญหาหนี้สินจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือการทำให้คนเปราะบางมีรายได้เพิ่มขึ้นจากมาตรการหลายเรื่องที่ต้องทำพร้อมกัน

และไม่ได้มุ่งแต่เฉพาะการแจกเงินหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถแจกได้จริงในไตรมาสที่สี่ของปีหรือไม่

หรือถ้ามีแหล่งเงินจริง (หากกรณี ธกส. ไม่มีประเด็นกฎหมาย) ก็ยังมีคำถามในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรจึงจะราบรื่น และการขึ้นเงินกับการจับจ่ายใช้สอยจะมีความสะดวกและไม่มีมิจฉาชีพมาสร้างปัญหาตามมา

ขณะที่นายกฯเศรษฐา ทวีสินยังเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ย ผู้ว่าการ ธปท.ก็ยืนยันผ่านการให้สัมภาษณ์ CNBC ว่าธนาคารกลางจะดำเนินการอย่างเป็นอิสระ

และจะไม่อยู่ภายใต้แรงกดดันจาก ‘การเมือง’ 

เพราะในความเห็นของดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิแล้วสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบซบเซานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยมากนัก

“รอดูผลที่ออกมาดีกว่า(The proof is in the pudding) ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวกับรายการ Street Signs Asia ของ CNBC

แม้จะมี “เสียงเรียกร้อง” ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ ธปท. ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร “หากไม่ได้เป็นเพราะเราดำเนินการอย่างเป็นอิสระ” ผู้ว่าการธปท.กล่าว

“ผมคิดว่ากรอบธรรมาภิบาล(governance framework )นั้นค่อนข้างชัดเจน … การตัดสินใจที่เกิดขึ้นบ่งชี้ว่าอยู่บนพื้นฐานของ (สิ่งที่เรา) รู้สึกว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ มากกว่าการคำนึงถึงการพยายามผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมืองหรืออื่นๆ”

เหตุผลหนึ่งที่แบ็งก์ชาติแสดงความกังวลหากลดดอกเบี้ยก่อนเวลาที่เหมาะสมปรากฏในรายงานการประชุมเดือนเมษายน คณะกรรมการนโยบายการเงิน 

ที่ได้ “แสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging)

“หนี้ที่อยู่ในระดับสูงอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากหนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตหรือการสะสมความมั่งคั่ง” รายงานระบุ

ธปท. ย้ำดอกเบี้ยระดับปัจจุบันเป็นระบบที่คล่องตัวและสามารถรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า

ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า เป็น “การสร้างสมดุลที่ยาก” สำหรับธนาคารกลาง เนื่องจากพยายามดูแลการฟื้นตัวที่อ่อนแอของเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงิน

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า นอกจากการส่งออกที่ซบเซาแล้ว ยังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐจากพ.ร.บ.งบประมาณที่ล่าช้า 

การที่พ.ร.บ.งบประมาณยังไม่ได้ประกาศใช้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนและไตรมาสแรกของปี 2567 มีผลกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.8%

“หากดูที่สาเหตุที่ทำให้การเติบโตซบเซา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยมากนัก” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการธปท. ย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเป็น “ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัว” และสอดคล้องกับการพยายามที่จะ “การลดหนี้ลงเป็นลำดับ คือการดำเนินการที่สมดุลระหว่างการไม่เพิ่มภาระหนี้ให้กับครัวเรือนมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ส่งเสริมให้คนก่อหนี้ใหม่มากเกินไป”

แบ็งก์ชาติได้พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัว 2.6% ในปี 2567 และ 3.0% ในปี 2568

ก่อนหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะออกมาปรับลดตัวเลขนี้เหลือ 2.4%

ธปท. ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว

ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา “เราก็มีเงินเฟ้ออีกครั้ง โดยค่อยๆ เพิ่มขึ้นและกลับเข้าสู่ช่วงเป้าหมายของเรา ในช่วง 1% ถึง 3%” ภายในสิ้นปีนี้ ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการธปท.กล่าวอีกว่า อุปสรรคเชิงโครงสร้างทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไม่แน่นอน จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพ เนื่องจากประเทศเผชิญกับความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรจากการที่ “กำลังแรงงานที่หดตัว”

อีกทั้งเป็นต้องมี “การมุ่งเน้นที่การลงทุนภาครัฐให้มากขึ้น มากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น” 

“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญมาก คือ การให้ความสำคัญกับการยกเลิกกฎระเบียบมากขึ้น” รวมถึง “ความง่ายในการประกอบธุรกิจ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

เท่ากับเป็นการยืนยันว่าการจะทำให้ศักยภาพการโตของเศรษฐกิจไทยขยับขึ้นนั้นต้องไม่ใช่เฉพาะมาตรการกระตุ้นระยะสั้นเท่านั้น

หากแต่จะต้องมีการปรับโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

นั่นคือการเพิ่มทักษะของคนทำงาน, การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อผลิตสินค้าที่ตลาดโลกต้องการ, และการปฏิรูปการศึกษา, ปราบคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง

-และหลีกเลี่ยงวิธีคิดแบบ quick wins เพียงเพื่อจะได้รับความนิยมจากฐานเสียงแต่ไม่ตอบโจทย์จริง ๆ ของประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใครคุม ครม.เศรษฐกิจ?

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน บอกว่าจะเรียกประชุม “คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ” วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคมนี้

ความสูญเสียผู้นำฉับพลัน เป็นช็อกครั้งใหญ่ของอิหร่าน

เป็นข่าวที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจไม่น้อยทีเดียวเมื่อประธานาธิบดีอิหร่าน เอบราฮิม ไรซี เสียชีวิตในอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะสำหรับผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี

สถานการณ์สู้รบพม่าเปลี่ยน ดันให้หลายชาติปรับท่าที

สถานการณ์ในเมียนมามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จึงน่าสนใจว่า นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะทำอย่างไรกับคณะกรรมการพิเศษที่ตั้งขึ้นเพื่อติดตามและกำกับทิศทางของเรื่องร้อนนี้

สี จิ้นผิงกอดปูติน: ส่งสัญญาณ ‘นี่คือระเบียบโลกใหม่ที่มี 2 ขั้ว’

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “สองสหาย” แห่ง “ระเบียบโลกใหม่” ต้องการจะบอกชาวโลกว่ายุคสมัยแห่งการมีโลกที่สหรัฐฯและตะวันตกเป็นผู้กำหนด ทิศทางการเมืองระหว่างประเทศนั้นกำลังสิ้นสุดลง