จีนส่งทูตอาวุโสเดินสาย ปูทางยุติสงครามยูเครน

ผมเขียนถึงบทบาทของจีนที่โยงกับรัสเซียในสงครามยูเครนมาสองวัน น่าจะเห็นว่าปักกิ่งต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่เปิดทางเลือกให้ตัวเองที่หลากหลายพอที่จะไม่ถูกผลักให้ติดมุม

สี จิ้นผิง จึงเลือกที่จะเสนอตัวเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพ” เพื่อสลัดออกจากบทที่ถูกกดดันให้ต้อง “เลือกข้าง”

ล่าสุด จีนส่งนักการทูตอาวุโสเดินสายเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับสงครามได้พยายามร่วมกันหา “สูตรสันติภาพทางการเมือง” เพื่อยุติสงคราม

ทูตชั้นนำของจีนคนนี้ได้เริ่มการเยือนยูเครน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ในยุโรปตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา

โดย “ปฏิบัติการพิเศษทางการทูต” ครั้งสำคัญนี้ปักกิ่งระบุว่ามีเป้าหมายเพื่อหารือเกี่ยวกับ "สูตรยุติสงครามด้วยวิถีทางการเมือง" ต่อวิกฤตยูเครน

ทูตจีนคนนี้ชื่อ หลี่ ฮุย ตำแหน่งปัจจุบันคือผู้แทนพิเศษของจีนด้านกิจการเอเชียและอดีตเอกอัครราชทูตประจำรัสเซีย

ดังนั้น จึงเป็นนักการทูตที่คุ้นเคยกับรัสเซียเป็นอย่างดี

อย่างน้อยก็คงจะได้ใจประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย เพราะได้ทูตที่มอสโกรู้จักมักคุ้นมาก่อน

เมื่อปักกิ่งให้มอสโกมีความสบายใจกับตัวบุคคลแล้ว ก็คงจะทำให้บรรยากาศเริ่มต้นเป็นไปทางบวก

ส่วนยูเครนก็คงจะพอใจที่ตัวแทนจีนพร้อมจะมาฟังข้อเสนอของกรุงเคียฟ เพื่อนำไปบอกกล่าวกับฝั่งรัสเซีย

เป็นการปูทางไปสู่โอกาสที่จะเจรจาต่อรองกันได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

แม้ว่าสมรภูมิรบในยูเครนยังเดือดอยู่อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด รัสเซียก็ยังส่งขีปนาวุธและโดรนถล่มโจมตีเป้าหมายในยูเครนอย่างไม่หยุดยั้ง

ต้นสัปดาห์นี้ ปฏิบัติการทางอากาศของรัสเซียต่อยูเครนยังหนักหน่วง และพุ่งเป้าไปที่เมืองหลวงเคียฟโดยตรงในหลายๆ กรณีด้วย

ฝ่ายยูเครนก็ไม่ลดละ กำลังพูดถึง “ปฏิบัติการตอบโต้ครั้งใหญ่” หรือ counter-offensive อาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยชุดล่าสุดจากหลายๆ ประเทศทางตะวันตก

ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนเองก็ตระเวนไปหลายประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร เพื่อระดมความช่วยเหลือทั้งด้านการทหาร, การทูตและเศรษฐกิจอย่างคึกคัก

อีกทั้งยังประกาศว่าขณะนี้ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเจรจากับปูติน

ทำให้การทำงานของทูตพิเศษจีนคนนี้ยิ่งจะเจอกับความท้าทายที่หนักหน่วงขึ้นไปอีกหลายเท่า

ทูตหลี่ ฮุย จะเยือนโปแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ในการเดินสายติดต่อกันหลายวัน

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกข่าวนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดกำหนดการมากพอที่จะรู้ว่าเขาจะพบกับปูตินและเซเลนสกีเมื่อไหร่ อย่างไร

แต่ต้องถือว่าจีนให้ความสำคัญกับภารกิจครั้งนี้ไม่น้อย

เพราะทูตคนนี้เป็นเจ้าหน้าที่จีนที่อาวุโสที่สุดที่เดินทางเยือนยูเครน นับตั้งแต่รัสเซียเปิดศึกในเดือนกุมภาพันธ์ 2565    

ทูตหลี่ ฮุย กับรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย เมดเวเดฟ.

แต่จังหวะของการเดินสายครั้งนี้อาจจะย้อนแย้งกับบรรยากาศในภาคสนามของสงครามที่เกิดขึ้น

เพราะตรงกับจุดเริ่มต้นของการที่ยูเครนเตรียมฏิบัติการตอบโต้ที่เดิมคาดหมายมานาน

เพราะยูเครนต้องการดินแดนที่รัสเซียยึดครองกลับคืนมา

โดยเซเลนสกีอ้างว่าจะไม่โจมตีเป้าหมายในดินแดนของรัสเซีย...เพียงต้องการจะ “ปลดปล่อย” ดินแดนที่รัสเซียเข้ามายึดครองในยูเครนเท่านั้น

แม้ว่าจะมีข่าวเป็นระยะๆ ว่าโดรนจากยูเครนได้เข้าไปโจมตีและก่อวินาศกรรมหลายๆ จุดในดินแดนของรัสเซียก็ตาม

ทูตหลี่ ฮุย มีกำหนดเดินทางเยือนยูเครนเมื่อวันอังคารและพุธ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลยูเครนปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติม           โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า รายละเอียดการเดินทางของทูตคนนี้จะมีการเปิดเผยเมื่อได้จังหวะเวลาที่เหมาะสม

การเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลายสัปดาห์หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน คุยโทรศัพท์กับเซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ในปลายเดือนเมษายน

นั่นคือการพูดคุยครั้งแรกระหว่างผู้นำทั้งสองนับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น

เซเลนสกีเขียนขึ้นทวิตเตอร์แจ้งว่า การสนทนากับผู้นำจีน "ยาวนานและมีความหมาย"

ในขณะที่สี จิ้นผิง บอกว่า จีนจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมสันติภาพ  แม้ว่าข้อเสนอของปักกิ่งในการยุติความขัดแย้งจะได้รับความกังขาจากชาวตะวันตก เพราะความสัมพันธ์ที่ลุ่มลึกระหว่างปักกิ่งกับมอสโก

แต่ผู้นำยุโรปหลายคน รวมทั้งประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส และเออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน หัวหน้าคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เรียกร้องให้สี จิ้นผิง พูดคุยกับเซเลนสกี

และเรียกร้องให้จีนมีบทบาทที่แข็งขันมากขึ้นในการยับยั้งการกระทำของมอสโก

เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนจากยุโรปให้กับผู้นำจีนระหว่างการเยือนเมืองหลวงของจีนตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปักกิ่งได้นำเสนอแผน 12 ประเด็นเพื่อนำไปสู่การยุติทางการเมืองต่อวิกฤตของยูเครน

แต่จังหวะไม่สวยนัก เพราะแผนที่ว่านี้เปิดตัวในวันครบรอบปีแรกของการรุกรานของรัสเซียพอดี

เนื้อหาส่วนใหญ่แล้วเป็นการย้ำถึงแนวปฏิบัติก่อนหน้านี้ของจีนเกี่ยวกับสงคราม

นั่นคือเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะลดความรุนแรงลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเตือนไม่ให้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์

นักวิชาการหลายคนเห็นว่าการไปเยือนยุโรปของทูตหลี่ ฮุย ครั้งนี้ถือเป็นการสร้างโอกาสที่ดีมากในการส่งเสริมการสื่อสารและการหารือกับทุกฝ่าย และทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจปัญหาสำคัญๆ ตรงกัน

ยูเครนประกาศหนักแน่นว่าจะไม่ยอมเสียดินแดนให้กับรัสเซียแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

นั่นรวมถึงคาบสมุทรไครเมียที่รัสเซียผนวกไปเป็นของตนในปี  2557

และตั้งแต่ปีที่แล้ว มอสโกอ้างว่าได้ผนวกดินแดนยูเครนอีก 4 ภูมิภาคมาเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์รัสเซียด้วย

ประเด็นที่ทำให้ยุโรปและตะวันตกคับข้องใจคือ ตลอดช่วงสงคราม จีนได้ละเว้นจากการประณามพันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างมอสโก

ไม่ยอมใช้คำว่า "การรุกราน" แม้จะยืนยันในหลักการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศก็ตาม

ซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของจีนในฐานะ "นายหน้า” ที่มีความน่าไว้วางใจในการทำหน้าที่เป็นกลางได้จริงๆ

แต่ก็เห็นได้ชัดว่าสี จิ้นผิง ไม่ยอมลดละที่จะแสดงความพร้อมที่จะสวมบทบาทของ “ผู้ไกล่เกลี่ย” ที่มีความจริงใจและจริงจัง

จากนี้ไม่นานก็คงจะได้เห็นว่าฝ่ายไหนถูก ฝ่ายไหนผิดกันแน่

เพราะจีนย้ำเสมอว่าปักกิ่ง “ยืนอยู่ข้างที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์เสมอ”!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน

เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

‘คุณป้า’ เยลเลนโปรยยาหอม ผสมน้ำขมให้นายกฯ หลี่ของจีน

คุณป้า “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ไปเมืองจีนค่อนข้างบ่อย จนมีคนนินทาว่าเธอมีความลำเอียงเข้าข้างจีนหรือเปล่า