ถึงคราวการเมืองกัมพูชา ผลัดใบ: จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

การเมืองเพื่อนบ้านกัมพูชากำลังจะมีการถ่ายโอนอำนาจกันอย่างน่าสนใจ

ข่าวหลายกระแสรายงานตรงกันว่านายกรัฐมนตรีฮุน เซน กำลังตัดสินใจว่าจะส่งบังเหียนทางการเมืองให้กับลูกชายคนโต หลังจากปกครองประเทศมายาวนานเกือบ 40 ปี

พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลประกาศเมื่อเดือนมีนาคมว่า ฮุน มาเนต บุตรชายคนโตของนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการกองทัพกัมพูชาจะลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งระดับชาติในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

เพราะนั่นคือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ทายาทการเมืองคนนี้ขึ้นมารั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญคือวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาเพราะวันนั้นฮุน มาเนตได้พักการปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพเพื่อขยับสู่บทบาททางการเมืองอย่างชัดเจนเป็นทางการเสียที

ฮุนเซนเคยบอกไว้ว่าฮุน มาเนตในวัย 45 ปีซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากเวสต์พอยต์ จะยังไม่ขึ้นเป็นผู้นำทางการเมืองของประเทศจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2571 หรืออีก 5 ปีจากนี้ไป

แต่ด้วยสุขภาพของฮุนเซนที่ทรุดโทรมลงและสภาพทางการเมืองที่ดูเหมือนจะกำลังเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่าน จึงดูเหมือนจะมีการปรับแผนสืบทอดตำแหน่งอย่างกระทันหัน

เพื่อให้ฮุน มาเนตสามารถขึ้นบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เร็วขึ้น

ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ด้วยซ้ำไป

แต่การจะให้ฮุน มาเน็ตขึ้นมาคนเดียวไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการสร้างฐานอำนาจต่อเนื่อง

จึงจำเป็นต้องให้ลูกหลานของชนชั้นนำในพรรค CPP ขึ้นมาเป็นแผง

เป็นการผลัดใบครั้งใหญ่ทางการเมืองสำหรับกัมพูชา

แน่นอนว่านักวิจารณ์ระบบการเมืองอย่างนี้ย่อมจะมองว่านี้เป็นการเมืองของครอบครัวภายใต้ระบบอุปถัมภ์และการรักษาอำนาจภายใน “ตระกูลฮุน” อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทำให้เกิดข่าวหลายกระแสว่าหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้ หากฮุน มาเนตขึ้นเป็นนายกฯ ก็จะมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่ อายุน้อยที่จะเป็นทีมเดียวกับลูกชายของฮุนเซน

คนรอบ ๆ ตัว หรือ “องครักษ์” เก่าของฮุน เซน หลายคนเป็นเพื่อนกันตั้งแต่วันแรกๆ ของการสร้างกัมพูชาหลังการสลายของเขมรแดง จะลงสมัครรับเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคมนี้

มีความเป็นไปได้สูงว่าถ้ามาเนตขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็ควรตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่

และให้คนรุ่นเก่าไปเล่นบทบาทในสภานิติบัญญัติแห่งชาติแทน

ฮุน เซนเคยพูดไว้เมื่อปีก่อนว่าเขาเห็นด้วยว่าคนวัย 70 ขึ้นควรจะออกจากคณะรัฐมนตรี

ตอนนั้น เขาบอกว่าได้เตรียม “คณะรัฐมนตรีเงา” เพื่อรองรับความเป็นผู้นำของลูกชายแล้ว

สำหรับฮุน เซน แล้ว การตั้งลูกหลานของคู่ปรับเก่าให้เข้ามาอยู่ในแวดวงการเมืองอาจจะเป็นการลดแรงกดดันและความเป็นศัตรูทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง

สองมือขวาของฮุน เซนที่ต้องเตรียมแผนรองรับการผลัดใบครั้งใหญ่คือ เตีย บัญ รัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งดูแลกองทัพและซาร์ เค็ง รัฐมนตรีมหาดไทย ซึ่งควบคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แต่ทั้งสองก็มีลูกชายที่พร้อมจะรับช่วงต่อเช่นกัน

มีสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐมนตรีทั้งสองต้องการให้บุตรชายซึ่งอยู่ในวัย 40 ปีและมีตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาลอยู่แล้ว สืบทอดตำแหน่งต่อไป

แต่คู่แค้นของฮุน เซนคือผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกเนรเทศไปอยู่ฝรั่งเศสคือ สม รังสีมีความเห็นว่าฮุน เซนคงจะพยายามกอดอำนาจของกระทรวงที่ทรงอิทธฺพลเหล่านั้นเอาไว้เป็นของตนที่จะส่งไม้ต่อให้ลูกชาย

อย่างไรเสียก็คงจะต้องการให้ฮุน มาเนตควบคุมตำรวจ

แต่ในระยะสั้น เขาก็อาจจะยอมให้ทายาทของมือขวาสองสามคนมีตำแหน่งที่มีอำนาจในการบริหารอย่างเป็นรูปธรรมบ้าง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าฮุน มาเนตต้องการจะคุมกองทัพเอง

เขาเคยให้ความเห็นว่า “หน้าที่ของกองกำลังทหารคือการปกป้องหัวหน้ารัฐบาล”

ฮุน เซนเองก็เคยยืนยันว่าอำนาจตัดสินใจสูงสุดเหนือกองทัพต้องอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี

ฮุน มาเนตได้รับการเลื่อนขั้นในกองทัพอย่างรวดเร็ว

เขามียศเป็นนายพลสี่ดาวในช่วงก่อนที่จะโอนย้ายตัวเองเข้าสู่การเมืองพลเรือน

ส่วนทายาทคนอื่น ๆ ของฮุน เซนก็ได้สร้างสมกลุ่มก้อนที่มีอิทธิพลในแวดวงต่าง

ฮุน มานิธ น้องชายได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกในเดือนมีนาคม

และฮุน เมนี สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งและเป็นผู้นำกลุ่มเยาวชนของพรรค CPP มีบทบาทที่ได้รับการสนับสนุนเท่าๆ กันจากพี่ชาย

ฮุน มานา และ ฮุน มาลี บุตรสาวของฮุน เซน บริหารอาณาจักรธุรกิจ

นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ถูกฮุน เซนจับเข้าคุกกำลังได้รับความกรุณาเป็นพิเศษจากฮุน เซนเพื่อลดระดับของความเป็นศัตรูจากฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาตลอด

แต่สมาชิกนักเคลื่อนไหวที่เป็นกลุ่มฝ่ายค้านที่แข็งแกร่งที่สุดที่เหลืออยู่อย่าง Candlelight Party ก็ยังถูกไล่ล่าและทุบตีด้วยท่อนเหล็กโดยชายที่ไม่ปรากฏชื่อ

อีกทั้งยังถูกรถ SUV พุ่งชนในอุบัติเหตุที่น่าสงสัยว่าเป็นแผนทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้ามของรัฐบาล

ไม่แต่เท่านั้น นักการเมืองฝ่ายค้านที่มาจากการเลือกตั้งหลายคนและอีกกว่าสิบคนที่น่าจะเป็นศัตรูทางการเมืองถูกจับขังในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ล่าสุด พรรค Candlelight ก็ถูก กกต. เขมรสั่งถอนสิทธิ์การสมัครรับเลือกตั้งเพราะ “ส่งเอกสารลงทะเบียนช้าเกินไป”

ก่อนหน้านั้น ศาลสั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ในปี 2560 ทำให้พรรค CPP ได้ที่นั่งในสภาทั้งหมด 125 ที่นั่งในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งล่าสุดของประเทศในปี 2561

การเมืองกัมพูชากำลังเข้าสู่ฉากใหม่ที่มีตัวละครเป็นทายาทของผู้กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จมาหลายสิบปี

เป็นอีกตัวอย่างของสมาชิกอาเซียนที่มีระบบการเมืองแบบ “รวมศูนย์อำนาจ” ที่ยังไม่เปิดกว้างให้กับประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย