จีนกับอาเซียนเร่งข้อตกลง ‘กติกามารยาท’ ทะเลจีนใต้

ข่าวล่าสุดบอกว่าจีนกำลังพยายามจะปิดเกมการเจรจาร่างกฎกติกามารยาทกับอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้

หากทำได้ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี เพราะเรื่องนี้คาราคาซังมาหลายปีดีดักและเป็นหนึ่งใน “หนาม” ของความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับหลายประเทศที่มีข้อพิพาทกรณีอ้างสิทธิ์เหนือเกาะแก่งในทะเลที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างมากในย่านนี้

เพราะทะเลจีนใต้กำลังจะกลายเป็นอีกแหล่งของการเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจคือจีนกับสหรัฐฯ

ข่าวที่ว่านี้แจ้งว่าอาเซียนกับปักกิ่งเห็นพ้องต้องกันในการดำเนินขั้นตอนต่อไปในการสรุปร่างที่เรียกว่า Code of Conduct ที่ล่าช้ามายาวนาน

จึงทำให้ยังไม่มีคู่มือสำหรับกำกับและควบคุมพฤติกรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในน่านน้ำที่เป็นกรณีพิพาท

ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนไหวในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนในภาพรวม

ว่ากันว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าการพิจารณาทบทวนร่างข้อตกลงนี้จะพยายามทำให้เสร็จสิ้น 'ภายในสิ้นปีนี้

หลังจากการประชุม “อย่างเป็นทางการ” ครั้งแรกของฝ่ายเจรจาตั้งแต่ปี 2564

บางประเทศรอไม่ได้

เราจึงเห็นข่าวที่ทับซ้อนเข้ามาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าฟิลิปปินส์และเวียดนามจะทำข้อตกลงแยกกันเพื่อในประเด็นนี้เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนกับจีนในเรื่องนี้

เพราะในช่วงหลัง สองประเทศนี้มีเหตุพิพาทกับจีนถี่ขึ้นในทะเลจีนใต้

ถึงขั้นที่บอกว่าจะไม่รอให้ Code of Conduct หรือ CoC ระหว่างจีนกับอาเซียนเสร็จก่อน

เพราะสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องหาหนทางที่จะเร่งให้มีกฎกติกามารยาทที่เป็นสาระสำคัญเร็วกว่าที่เห็นอยู่

จะเรียก CoC นี้ว่า “หลักปฏิบัติ” ก็ได้ หรือจะเรียก “คู่มือ” สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่อาจจะนำไปสู่การยกระดับของความขัดแย้ง

เพราะหวั่นกันว่าหากไม่มีมาตรการที่เหมาะสม วันดีคืนดีก็อาจจะเกิดการปะทะกันด้วยกำลังในน่านนี้ย่านนี้

ซึ่งก็จะเพิ่มความเสี่ยงในอันที่จะนำไปสู่สงครามได้เช่นกัน

กระทรวงต่างประเทศเพิ่งให้ความมั่นใจว่าการพิจารณาร่างข้อตกลงอย่างเป็นทางการครั้งที่สองจะจบในปีนี้

ต่อจากครั้งแรกที่ตกลงกันเมื่อเดือนมิถุนายน 2564

เท่ากับทอดเวลามาเกือบสองปี

ความจริง หากตกลงกันได้เอกสารที่ว่านี้จะผลผูกพันตามกฎหมาย

แล้วหากเป็นไปตามแผนเดิมก็ควรจะมีผลบังคับใช้เมื่อปีที่แล้วโดยมีเป้าหมายคือการช่วยกำกับดูแลพฤติกรรมทางทะเล

ที่มีการเร่งรัดครั้งใหม่ก็มาจากฉันทามติให้ “เร่งการปรึกษาหารือและสรุปร่างครั้งที่สองให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้” ณ ที่ประชุมที่เมืองฮาลองของเวียดนาม

อันเป็นการประชุมครั้งที่ 20 ของเจ้าหน้าที่อาวุโสจากจีนและสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากการเจรจาซึ่งเริ่มเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจคือหนึ่งวันก่อนหน้านั้น กระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ออกข่าวว่ามะนิลาและฮานอยได้ตกลงในการประชุมแยกต่างหากเพื่อให้ข้อสรุปของคู่มือปฏิบัตินี้เพื่อจับเอาใจความสาระหลักมาพิจารณาเสียก่อน

สะท้อนถึงความกังวลของสองประเทศนี้ต่อการมีกรณีขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงบ่อยขึ้นในช่วงหลังนี้

โดยทั้งสองประเทศยืนยีนว่าจะกระชับความร่วมมือในประเด็นทางทะเล

อีกทั้งยังแสดงความกังวลอย่างจริงจังต่อ “กิจกรรมฝ่ายเดียวที่บ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค”

“กิจกรรมฝ่ายเดียว” ที่ว่านี้จะเป็นใครไม่ได้นอกจากจะหมายถึงปักกิ่ง

เป็นที่รู้กันว่าจีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้น่านน้ำส่วนใหญ่

และได้เพิ่มกิจกรรมที่ร้อนแรงขึ้นตามลำดับในการเข้ายึดพื้นที่ในบริเวณที่เป็นข้อพิพาทด้วยการสร้างหรือขยายฐานทัพทหารและเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายในบริเวณที่เป็นปัญหาอยู่

ไม่เพียงแต่ฟิลิปปินส์และเวียดนามเท่านั้นที่มีปัญหากับจีน

ยังมีสมาชิกอาเซียนอย่างมาเลเซียและบรูไนที่ก็อ้างสิทธิ์ทับซ้อนเช่นกัน

อีกทั้งยังมีรายงานการขัดแย้งกันและกระทบกระทั่งเลยไปถึงการปะทะกันในประเด็นเรื่องสิทธิการประมง ตลอดจนการพัฒนาน้ำมันและก๊าซในย่านนั้นด้วย

แต่ความขัดแย้งไม่ได้จำกัดเฉพาะระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียนเท่านั้น

แต่ยังขยายออกไปถึงขั้นการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนด้วย

สหรัฐฯ อ้างว่าทะเลจีนใต้เป็นทางผ่านของการค้าโลกถึงร้อยละ 30 และมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก

กองทัพเรือสหรัฐฯ ดำเนินการปฏิบัติการ "เสรีภาพในการเดินเรือ" เป็นประจำใกล้กับเกาะและแนวปะการังในน่านน้ำที่ควบคุมโดยจีน

ตลอดจนมีการจัดให้มีการฝึกซ้อมทางเรือ ทั้งโดยลำพังและร่วมกับพันธมิตรในระดับที่เพิ่มมากขึ้น

ไม่เพียงแต่เท่านั้น วอชิงตันยังดึงเอาพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสมาชิกของนาโต้เข้ามาในภูมิภาคด้วย

จีนโต้ว่านี่คือความพยายามของตะวันตกที่จะสร้าง “นาโต้แห่งเอเชีย” มาสกัดจีน

ที่เป็นประเด็นทับซ้อนอยู่ก็คือสหรัฐฯ ยังได้กระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับฟิลิปปินส์อีกด้วย

พันธมิตรทั้งสองเพิ่งจัดการซ้อมรบร่วมทางเรือครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

และรัฐบาลสหรัฐฯของโจ ไบเดนเพิ่งบรรลุข้อตกลงกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ของฟิลิปปินส์เพื่อเข้าไปใช้ฐานทัพในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 4 แห่ง

แม้ว่ามาร์กอสจะย้ำว่าฐานทัพสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ไม่ใช่สำหรับ 'การกระทำที่ไม่เหมาะสม' แต่ปักกิ่งก็ไม่เชื่อ

เพราะมีความเชื่อว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดของอเมริกาในฟิลิปปินส์คงหนีไม่พ้นที่จะโยงกับความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับไต้หวันที่กำลังคุกรุ่นอยู่

จีนยืนยันมาตลอดว่าประเทศแถบนี้ควรกีดกัน “อำนาจภายนอก” ไม่ให้มายุ่มย่ามเรื่องของภูมิภาคนี้

ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ นักการทูตระดับสูงของจีนกล่าวว่า จีนและอาเซียนควร “ดำเนินการต่อไปเพื่อให้ความคิดริเริ่มและความเป็นเจ้าของปัญหาทะเลจีนใต้อยู่ในมือของประเทศในภูมิภาคด้วยกันเอง”

เห็นได้ชัดว่าทะเลจีนใต้กำลังกลายเป็น “จุดพร้อมปะทุ” ระหว่างมหาอำนาจ...และระหว่างจีนกับประเทศในแถบนี้หากไม่สามารถหาทางตกลงว่าด้วย “หลักปฏิบัติ” ได้อย่างจริงจัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว