วาทะปะฉะดะระหว่าง รมต. จีนกับทูตมะกัน

ที่ผมเขียนถึงเรื่องจีนกับสหรัฐฯบ่อย ๆ ในช่วงนี้เพราะการเผชิญหน้าของสองยักษ์ระดับโลกจะเป็นปัจจัยตัดสินอนาคตของ “ระเบียบโลก” อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะยืนยันว่าจะต้องช่วยกัน “บริหารความสัมพันธ์” ให้อยู่ในกรอบของการ “แข่งขัน” และ “ร่วมมือ” เพื่อหลีกเลี่ยง “ความขัดแย้ง”

นั่นคือ Competition กับ Cooperation เพื่อหลีกเลี่ยง Conflict และ Confrontation

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เราก็ยังเห็นทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กันแต่อย่างไร

เช่นล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศจีนออกมาตำหนิทูตสหรัฐฯ เรื่องไต้หวันอีกครั้งอย่างตรงไปตรงมา

เรียกว่า “เปิดหน้าชก” กันเลยทีเดียว

เป็นวิวาทะที่ร้อนแรงที่สุดครั้งหนึ่งระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศจีนกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำปักกิ่ง

ในการพบกันที่ปักกิ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐมนตรี “ฉิน กัง”  ของจีนซัดทูตนิโคลัสเบิร์นส์อย่างตรงไปตรงมา

บอกว่าสหรัฐฯหนุนหลังและให้ท้ายไต้หวัน

นั่นคือ “เส้นแดง” ที่จีนขีดเอาไว้ เตือนวอชิงตันว่าอย่าได้ข้ามมาเป็นอันขาด

เพราะเรื่องอื่น ๆ จีนอาจจะพูดจาต่อรองได้

แต่เรื่องไต้หวัน ปักกิ่งจะไม่มีวันยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว

ฉิน กังพูดตรง ๆ ว่าจีนต้องการให้สหรัฐฯถอยออกจากเรื่องไต้หวันเพื่อเพื่อแลกกับการปรับปรุง “ช่องทางการสื่อสาร” ที่ทำเนียบขาวได้เรียกร้องจากจีน

พูดง่าย ๆ คือจีนกำลังบอกสหรัฐฯว่าถ้าจะให้มีการพูดจากันรู้เรื่องมากขึ้น เงื่อนไขข้อแรกคือสหรัฐฯต้องเลิกยุ่งกับเรื่องไต้หวัน

ซึ่งเป็นเรื่องที่วอชิงตันตอบสนองได้ยาก

วาทะของฉิน กังครั้งนี้ดุเดือดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

เขากล่าวหาว่าสหรัฐฯ ทำตัวเป็น “คนหน้าซื่อใจคด” ที่พยายามสนับสนุนช่องทางการสื่อสารระหว่างประเทศในด้านหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ปัดป้องสิ่งที่จีนมองว่าเป็นเส้นแดงของไต้หวัน

 “เราไม่สามารถมุ่งเน้นที่การสื่อสารในขณะที่จีนถูกกดดัน, ปราบปรามและปิดล้อมอยู่ตลอดเวลา” ฉิน กังบอกทูตอเมริกัน

พร้อมสำทับว่า “คุณไม่สามารถพูดอย่างหนึ่งและทำอีกอย่างหนึ่งได้”

ความเป็นปรปักษ์ที่เพิ่มดีกรีขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสื่อสารระหว่างผู้นำยักษ์

วาทกรรมที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะพยายามไม่แสวงหาความขัดแย้งต่อกันและกันแต่เอาเข้าจริง ๆ จนถึงวันนี้ก็ยังมีปัญหาในการ “แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ต่อกัน

หรือความจริงก็คือทั้งสองมิได้มีความประสงค์จะคืนดีกันเลยแม้แต่น้อย?

กองทหารสหรัฐฯ และจีนยังมีกิจกรรมปฏิบัติการที่เบียดเสียดกันอยู่ในทะเลจีนใต้และในน่านน้ำรอบๆ ไต้หวัน

ปัญหาจริง ๆ ก็คือการขาดช่องทางที่เชื่อถือได้ในการสื่อสารกันและกันในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือวิกฤต

นั่นได้กลายเป็นความกังวลสูงสุดสำหรับเจ้าหน้าที่อเมริกันที่เกี่ยวข้องกับการปิดช่องว่างแห่งความสัมพันธ์ต่อกัน

ทูตสหรัฐฯประจำจีนเคยพูดไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า

 “มุมมองของเราคือเราต้องการช่องทางการสื่อสารที่ดีกว่าที่มีอยู่ระหว่างสองรัฐบาลและต้องเป็นช่องทางที่ลึกกว่าเดิมด้วย..เพราะเราพร้อมที่จะพูดคุย”

สัปดาห์ก่อน Wall Street Journal รายงานว่าจีนยังระแวงสหรัฐฯและยังคงต่อต้านความพยายามของสหรัฐฯ ในการจัดตั้งสายด่วนที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมในกรณีเกิดวิกฤตที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่อสายถึงกันโดยตรงได้

เจ้าหน้าที่จีนมองว่าการมี “สายด่วน” ระหว่างกันอาจจะเป็นหนทางในการเปิดทางให้กองทัพสหรัฐฯ เพื่อดำเนินการต่อในสิ่งที่ปักกิ่งเห็นว่าเป็นการปฏิบัติการยั่วยุในสนามหลังบ้านของจีน

ในแง่หนึ่ง การที่รัฐมนตรีจีนกับทูตสหรัฐฯมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกันแรง ๆ ต่อหน้ากันอาจจะถูกมองได้ว่าเป็นสัญญาณของความคืบหน้าก็ได้

เพราะก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายเกือบจะไม่พูดจากันเลย

แม้ว่าทั้งสองจะพบกันมาก่อน แต่นี่ถือเป็นการพบกันครั้งแรกที่ฉิน กังได้ปะทะกับทูตเบิร์นส์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เขารับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน

ในบันทึกของฝ่าจีน ฉิน กังยืนยันกับสหรัฐฯว่าการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนให้มีเสถียรภาพเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุระหว่างสองประเทศ

แต่ไม่ได้บอกในรายละเอียดว่าจะต้องทำอย่างไร

ทูตเบิร์นส์เขียนขึ้นทวิตเตอร์ว่าว่าการพบปะกับฉิน กังเป็นการหารือเกี่ยวกับ "ความจำเป็นของการรักษาความสัมพันธ์และขยายการสื่อสารระดับสูง"

ต้องไม่ลืมว่าฉิน กังเคยเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน

จึงต้องบอกว่าเขา “รู้ทัน” เกมของฝ่ายสหรัฐฯเป็นอย่างดีเช่นกัน

มีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้บ่นเป็นการส่วนตัวว่าสหรัฐฯ พยายามที่จะกีดกันจีนในทุกวิถีทุก

 “คำพูดและการกระทำที่ผิดพลาดหลายครั้งของสหรัฐฯ ได้บ่อนทำลายโมเมนตัมเชิงบวกของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน” ฉินกล่าว

 “ผมหวังว่าฝ่ายสหรัฐฯ จะใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งและจะทำงานร่วมกับจีนเพื่อนำพาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนให้พ้นจากความยากลำบากและนำพวกเขากลับมาสู่แนวทางที่ถูกต้อง”

ประเด็นเรื่องไต้หวันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่สุดระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ปักกิ่งย้ำเสมอว่าไต้หวันเป็นดินแดนของจีน

สหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าแม้วอชิงตันจะไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัฐบาลไต้หวัน แต่ก็ได้จัดหาอาวุธให้ไทเปเพื่อป้องกันตนเองจากการโจมตีของจีน

จุดยืนของทั้งสองฝั่งจึงมิอาจจะประนีประนอมกันได้ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีการทำความตกลงกันใหม่ในทุกมิติของความสัมพันธ์

 เมื่อเร็ว ๆ นี้ การพบปะที่แคลิฟอร์เนียระหว่างประธานสภาเควิน แมคคาร์ธี (รีพับบลิกันจากแคลิฟอร์เนีย) และประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวันทำให้จีนเต้นอีกครั้ง

ปักกิ่งตอบสนองด้วยการประกาศฝึกซ้อมทางทหารและยิงปืนด้วยกระสุนจริงใกล้เกาะเป็นการตอบโต้

 “สหรัฐฯ ต้องเคารพผลประโยชน์และผลประโยชน์ของจีน หยุดทำร้ายอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีน” ฉิน กังย้ำ

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนย่ำแย่ลง สี จิ้นผิงก็เดินเกมผลักดันทางการทูตด้านอื่น ๆ เช่นยื่นไมตรีกับประเทศยุโรปโดยหวังจะให้แยกขั้วออกจากสหรัฐฯ

หรืออย่างน้อยก็ชักชวนให้ยุโรปมีนโยบาย “เป็นอิสระจากสหรัฐฯ” มากกว่านี้

หนึ่งในบรรดาผู้นำโลกที่ได้พบกับนายสีเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน

สหรัฐและยุโรปกำลังเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดว่าปักกิ่งจะประสบความสำเร็จเพียงใดในบทบาทผลักดันการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำคาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน มาร่วมประชุมสุดยอดเอเชียกลางที่จีนเป็นเจ้าภาพ

สะท้อนว่าสี จิ้นผิงเดินหน้าลุยด้านการทูตระหว่างประเทศอย่างเข้มข้นเพื่อลดแรงกดดันจากวอชิงตันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และดูเหมือนจะเริ่มได้ผลมากกว่าที่สหรัฐฯเคยประเมินเอาไว้!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว