ผมเขียนเรื่องจีน-สหรัฐฯ และอาเซียนมาหลายวัน วันนี้ส่องกล้องดูความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับเวียดนามที่กำลังเข้าสู่จุดที่น่าสนใจยิ่ง
เกิดคำถามในหมู่นักการทูตนานาชาติว่า เวียดนามจะขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ แค่ไหน...เพื่อสกัดอิทธิพลจีน?
เพราะฮานอยกำลังถูกทั้งปักกิ่งและวอชิงตันกดดัน และโน้มน้าวให้เดินห่างจากอีกมหาอำนาจหนึ่งตลอดเวลา
ด้านหนึ่งเวียดนามกำลังเพิ่มความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นที่มีขีดจำกัด
ขณะเดียวกัน เวียดนามก็มองจีนอย่างระแวดระวัง โดยเฉพาะด้านการเมืองและความมั่นคง
แม้ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุน ปักกิ่งกับฮานอยก็ยังไม่ลดละความพยายามที่จะกระชับให้แน่นหนาขึ้น
เพราะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
เมื่อหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เริ่มโทรศัพท์หาผู้นำในต่างประเทศเป็นครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว ปรากฏว่าผู้นำเวียดนามเป็นเบอร์ต้นๆ ที่เขาต่อสายถึง
บทสนทนาของนายกฯ จีนกับนายกฯ เวียดนาม ฟาม มินห์ ชินห์ ย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนิน “ความสัมพันธ์แบบเพื่อนบ้าน” ระหว่างสองประเทศอย่างอบอุ่น
โดยกล่าวว่าทั้งสองประเทศควร “ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในเอเชีย-แปซิฟิก”
ก่อนหน้านี้ ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้คุยโทรศัพท์กับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม ด้วยเนื้อหาและจุดเน้นที่ละม้ายคล้ายกัน
กิจกรรมทางการทูตระหว่างสองประเทศที่มีประวัติศาสตร์เชื่อมต่อกันทั้งด้านบวกและลบอย่างยาวนานนี้ เกิดขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ได้เพิ่มความสนใจต่อเวียดนามและอาเซียน
ที่เห็นได้ชัดคือ ทั้งข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และเหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
โดยมีเนื้อหาตอกย้ำถึงความสำคัญของการ “ส่งเสริม พัฒนา และกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”
ผู้นำทั้งสองยังตอบรับคำเชิญให้ไปเยี่ยมเยือนซึ่งกันและกัน ซึ่งในภาษาการทูตมีความหมายมากไปกว่าเพียงการเชิญชวนด้วยมารยาทเท่านั้น
เพราะหากไม่สบอารมณ์กันก็จะไม่มีคำเชื้อเชิญแบบไปมาหาสู่กันเช่นนี้
ใครที่เกาะติดสถานการณ์ของสามประเทศนี้จะเห็นว่า เวียดนามกำลังพยายามรักษา “ความสมดุลแห่งผลประโยชน์” ของตนอย่างเต็มที่
ขณะที่คาดว่าจะยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ แต่เวียดนามพยายามหลบหลีกการที่วอชิงตันจะดึงเข้าสู่วงโคจรของอเมริกาเพื่อตอบโต้จีน
ผู้นำจีน สี จิ้นผิง พยายามจะย้ำถึงความจริงใจในการเชื่อมต่อกับเวียดนาม ด้วยการยืนยันว่าจีนจะสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงกับเวียดนาม
ปักกิ่งไม่ลดละที่จะขยายขอบเขตของการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในเกมแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์กับวอชิงตัน
ซึ่งต้องยอมรับว่าได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ช่วงหลังนี้ อเมริกาได้เร่งฝีเท้าในการสร้างความเป็นมิตรกับฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้
นั่นคือยุทธศาสตร์สกัดการเติบใหญ่ของจีนอย่างปฏิเสธไม่ได้
เวียดนามซึ่งมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้ของเวียดนามย่อมมีความสำคัญเป็นพิเศษ
สหรัฐฯ ตระหนักประเด็นนี้ดี
ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือตรวจการณ์ไปยังเวียดนามเกือบทุกปี
โดยในปี 2017 และ 2021 วอชิงตันได้ส่งมอบเรือระดับ Hamilton สองลำให้แก่ฮานอย
เรือชุดนี้เคยเป็นเรือประเภทใหญ่ที่สุดในหน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ
เชื่อกันว่าสหรัฐฯ จะส่งมอบเรือลำที่สามให้เวียดนามแล้วด้วยซ้ำไป
เรือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ US Excess Defense Articles ซึ่งเสนอยุทโธปกรณ์ทางทหารส่วนเกินแก่พันธมิตรของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการปรับปรุงกองทัพและความมั่นคงให้ทันสมัย
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักการทูตอาวุโสจากเวียดนามและสหรัฐฯ ได้ประชุมกันที่กรุงวอชิงตันเพื่อหารือด้านการเมืองและความมั่นคง
ส่งผลให้สหรัฐฯ ยืนยันคำมั่นที่จะช่วยเวียดนามปรับปรุงขีดความสามารถทางทะเล และการบังคับใช้กฎหมาย
ความมั่นคงทางทะเลเป็นพื้นที่ที่มีจุดของความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ตามข้อมูลของ Collin Koh จากสถาบันการศึกษาด้านกลาโหมและยุทธศาสตร์ที่โรงเรียนการศึกษานานาชาติ S. Rajaratnam หน่วยยามฝั่งเวียดนามใช้งานยุทโธปกรณ์หลากหลายมากกว่ากองทัพ
และมีโอกาสริเริ่มระดับภูมิภาค ทำให้ “มีพื้นที่มากขึ้นในความร่วมมือยามชายฝั่ง” ระหว่างฮานอยและวอชิงตัน
“เนื่องจากหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ มีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มกิจกรรมในอินโด-แปซิฟิก ขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็กำลังขยายกิจกรรมเรื่องนี้เหมือนกัน เราคาดหวังได้ถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามเพิ่มขึ้นอีก” นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์คนนี้บอก
เวียดนามยังย้ำเสมอว่า จะดำเนินนโยบายที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และไม่เป็นพันธมิตรกับประเทศอื่นที่จะถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามกับอีกฝ่ายหนึ่ง
นักวิชาการจีนที่มหาวิทยาลัยจี่หนานในกว่างโจว ตั้งข้อสังเกตว่าความระแวงคลางแคลงที่ฝังลึกของเวียดนาม และข้อพิพาทด้านดินแดนในทะเลจีนใต้กับจีน กระตุ้นให้เวียดนามมีความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
เขาบอกว่า ในการเมืองระหว่างประเทศนั้นสัจธรรมข้อหนึ่งก็คือ “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง”
แต่นักวิชาการจีนก็วิเคราะห์ว่า เวียดนามก็คงจะรู้ดีว่าหากจะไม่ให้เกิดความตึงเครียดมากเกินไปสำหรับตน ฮานอยก็จะต้องประคับประคองสถานการณ์เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ยั่วยุ “เพื่อนบ้านทางเหนือ” มากเกินไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่าฮานอยกำลังดำเนินนโยบาย “กระจายความเสี่ยงอย่างหลากหลายและเพิ่มความเป็นพหุภาคีมากขึ้น”
ตามรายงานของกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม จ่อง บอกกับ ไบเดนว่า ทั้งสองฝ่ายควร “ยกระดับความสัมพันธ์”
ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า อดีตศัตรูทั้งสองอาจยกระดับความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมซึ่งลงนามเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นยุทธศาสตร์หากมีการเยือนของผู้นำระดับสูง
แต่ขณะเดียวกัน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม "จ่อง" ยังแสดงความเคารพต่อจีนด้วยการมุ่งหน้าสู่ปักกิ่งไม่นานหลังจากที่ สี จิ้นผิง ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เป็นสมัยที่สามเมื่อไม่นานมานี้
แต่ฮานอยอาจจะไม่เดินตามรอยผู้นำฟิลิปปินส์ ด้วยการอ้าแขนรับสหรัฐฯ อย่างเปิดกว้าง
เพราะฟิลิปปินส์เพิ่งจะเปิดไฟเขียวให้กองทัพสหรัฐฯ เข้ามาใช้ฐานทัพใหม่สี่แห่ง
รวมถึงฐานทัพแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับน่านน้ำพิพาทในหมู่เกาะสแปรตลีย์ของทะเลจีนใต้ด้วย
ทำไมจึงเชื่อว่าเวียดนามจะไม่ขยับเข้าใกล้อเมริกามากเท่าฟิลิปปินส์
ข้อแรก ฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญากับสหรัฐฯ ซึ่งผูกพันตามสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน
แต่เวียดนามไม่มีข้อตกลงเช่นนั้นกับวอชิงตัน
แม้ฝั่งอเมริกาจะมีความปรารถนาเช่นนั้น แต่เวียดนามยังไม่ตอบสนอง
แต่ก็ไม่แน่
นักวิชาการจีนเชื่อว่า วันนี้เวียดนามอาจจะยังไม่สาวเท้าก้าวใหญ่เท่าฟิลิปปินส์ในกรณี้
“...ยกเว้นจะเกิดกรณีที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผลักดันให้เวียดนามต้องทำเช่นนั้น”
นั่นย่อมหมายความว่า ปักกิ่งต้องตระหนักในประเด็นนี้และไม่สร้างสถานการณ์ที่จะทำให้เวียดนามต้องตัดสินใจไปในเส้นทาง “ที่จำเป็นอย่างยิ่ง” ดั่งว่า!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว