คิสซิงเจอร์ (ในวัย 100 ปี) เสนอวิธี หลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 (1)

เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตนักการเมืองชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทในสงครามและความขัดแย้งระดับโลก อายุครบ 100 ปี เมื่อวันเสาร์ (27 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา

แม้จะอายุมากขนาดนี้ แต่นักข่าวที่เพิ่งไปสัมภาษณ์ยืนยันว่าความคิดความอ่านยังเฉียบแหลม

และยังเตรียมเขียนหนังสืออีก 2 เล่ม เล่มหนึ่งเกี่ยวกับ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI

อีกเล่มหนึ่งว่าด้วย “ธรรมชาติแห่งพันธมิตรทางการเมืองและสงคราม”

หัวข้อพูดคุยระหว่างคิสซิงเจอร์กับ The Economist คือทำอย่างไรจึงจะหลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้

คนวัย 100 ปีต้องผ่านทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มาแล้ว

ก่อนตายก็ไม่อยากจะเห็นว่าจะเกิดสงครามระดับโลกครั้งที่ 3 ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้

แต่ดูเหมือนคิสซิงเจอร์จะมีความหวั่นเกรงไม่น้อยว่าโลกกำลังตกอยู่ในภาวะที่ตึงเครียดมาก...และอาจจะนำไปสู่สงครามใหญ่ได้

โดยเฉพาะการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ที่เขาบอกว่า

 “ทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นภัยอันใหญ่หลวงทางยุทธศาสตร์สำหรับตน...และโลกวันนี้กำลังอยู่บนเส้นทางการเผชิญหน้าของมหาอำนาจที่น่ากลัว”

คิสซิงเจอร์หวั่นว่า AI จะยิ่งทำให้การแข่งขันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่นี้เสื่อมทรุดลงไปอีก

เขาบอกว่าดุลถ่วงแห่งมหาอำนาจและเทคโนโลยีสงครามกำลังปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในมิติต่างๆ จนประเทศทั้งหลายไม่มีหลักการที่จะจัดระเบียบที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้

 “และถ้าประเทศต่างๆ ไม่สามารถตกลงว่าจะอยู่ร่วมกันบนหลักการอย่างไร ชาติทั้งหลายก็จะหันไปใช้กำลังเพื่อปกป้องตัวเอง

 “และเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ก่อนการระเบิดของสงครามใหญ่” คิสซิงเจอร์ทำนายด้วยความหวั่นวิตกต่ออนาคตของโลกใบนี้

ที่น่ากลัวก็คือ เมื่อต่างคนต่างผลักดันให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องถอยร่นจนไม่มีช่องว่างสำหรับการประนีประนอมแล้ว ดุลอำนาจแห่งโลกก็พังพินาศ

และนั่นจะนำไปสู่ความหายนะระดับโลกของจริง

นักวิพากษ์บางคนมองคิสซิงเจอร์เป็น “คนบ้าสงคราม” เพราะเขามีส่วนเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐในสงครามเวียดนามและสงคราม ณ จุดอื่นๆ ในโลก

แต่เจ้าตัวยืนยันว่าภารกิจของชีวิตตัวเองคือการพยายามจะหาทางให้มหาอำนาจของโลกหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

คิสซิงเจอร์เป็นสักขีพยานความโหดเหี้ยมของนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว

ญาติของเขา 13 คนถูกสังหารในการรณรงค์ฆ่าหมู่ชาวยิวด้วยฝีมือของฮิตเลอร์ เขาจึงมุ่งมั่นที่จะหาทางให้โลกหลีกเลี่ยงหายนะของสงครามรอบใหม่  

สำหรับคิสซิงเจอร์หนทางนั้นคือ “การทูตแบบเข้มข้น”

และในกรณีเฉพาะหน้านี้ ประเด็นใหญ่คือ จะทำอย่างไรให้สหรัฐฯ กับจีนสามารถอยู่ร่วมโลกกันได้โดยไม่ทำสงครามทำลายล้างกัน

เขาหวั่นเหลือเกินว่าในเมื่อการพัฒนา AI รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วและร้อนแรงอย่างที่เห็นอยู่ “ก็จะเหลือเวลา 5-10 ปีเท่านั้นที่ทั้ง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่จะหาทางอยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องทำสงครามกัน”

ทำไมคิสซิงเจอร์จึงคิดว่า AI จะทำให้ 2 ยักษ์ใหญ่เปิดสงครามกัน

นั่นก็เป็นเพราะเขาติดตามวิวัฒนาการของ AI แล้วก็เกิดความเชื่อว่าหากไม่ควบคุมการเติบโตของมันให้ดี “ปัญญาประดิษฐ์” จะกลายเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อการยกระดับความขัดแย้งและทำลายล้างกันได้

คิสซิงเจอร์บอกว่า นักคิดฝั่งจีนเชื่อว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” และด้วยวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์ จีนก็จะมาทดแทนสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจหมายเลข 1 ของโลก

เขาเชื่อว่าผู้นำจีนต่อต้านวิธีคิดแบบตะวันตกที่พูดถึง “rules-based order” หรือระเบียบโลกบนพื้นฐานของกฎกติกาสากล

เพราะปักกิ่งเชื่อว่า “กฎกติกา” ที่สหรัฐฯ พร่ำบ่นนั้นคือ “กฎกติกาของสหรัฐฯ”

และผู้นำจีนก็รู้สึกถูกเหยียดหยามที่ตะวันตกมีท่าทีว่าจีนจะได้รับ “สิทธิพิเศษ” หากยอมทำตามกติกาของตะวันตก

จีนถือว่าในฐานะที่เป็น “ชาติมหาอำนาจขาขึ้น” ปักกิ่งย่อมจะต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกับสหรัฐฯ ในทุกกรณี

ด้วยเหตุนี้ คนบางคนในจีนก็เชื่อว่าอเมริกาจะไม่มีวันปฏิบัติต่อจีนในฐานะ “ผู้มีสิทธิเท่าเทียมกัน”

คนเหล่านี้เชื่อว่าใครที่หลงเชื่อว่าตะวันตกจะยอมให้จีนยืนขึ้นเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐฯ ย่อมเป็นผู้ไร้เดียงสา ไม่เข้าใจวิธีคิดของอเมริกาที่ต้องการจะเหยียบจีนเอาไว้ไม่ให้เติบใหญ่มาท้าทายอิทธิพลของตน

คิสซิงเจอร์เตือนว่า ฝั่งตะวันตกอาจจะตีความเป้าหมายของจีนผิด

 “คนในตะวันตกเชื่อว่าจีนต้องการจะครองโลกแทนสหรัฐฯ แต่ความจริงก็คือจีนต้องการมีพลังอำนาจ พวกเขาไม่ได้ต้องการครองโลกแบบฮิตเลอร์...”

เขาบอกว่าผู้นำจีนที่เขาเคยพบ (ตั้งแต่ประธานเหมา เจ๋อตง เป็นต้นมา) นั้นมีความมุ่งมั่นด้านอุดมการณ์แบบจีนจริง

 “แต่ความคิดความอ่านของผู้นำจีนนั้นโยงอย่างใกล้ชิดกับผลประโยชน์และสมรรถนะของจีนเอง...จึงมีความละม้ายคำสอนของขงจื้อมากกว่ามาร์กซ์...”

นั่นหมายความว่าผู้นำจีนต้องการให้โลกให้ความเคารพในความสำเร็จของตน

และต้องการให้โลกยอมรับว่า ในท้ายที่สุดจีนจะเป็นผู้ตัดสินเองว่าระเบียบโลกควรจะเป็นอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน...ไม่ใช่มาตรฐานหรือกฎกติกาที่กำหนดโดยตะวันตก

คิสซิงเจอร์ตั้งคำถามเองว่า หากถึงวันที่จีนมีอิทธิพลระดับโลกแล้วจะกำหนดให้ทั้งโลกต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำด้านวัฒนธรรมของจีนด้วยหรือไม่

และตอบเองว่า “ผมไม่รู้เหมือนกัน แต่สัญชาตญาณผมบอกว่าไม่น่าใช่...และผมก็เชื่อว่าเรา (สหรัฐฯ) มีความสามารถเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้สถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น...ด้วยพลังรวมของการทูตและการใช้กำลัง”

มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จีนกับสหรัฐฯ จะอยู่ร่วมโลกกันโดยไม่มีภัยคุกคามของสงครามใหญ่?

คิสซิงเจอร์ตอบว่า “ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ แต่ก็ไม่มีอะไรรับรองความสำเร็จ เราอาจจะเผชิญกับความล้มเหลว ดังนั้น เรา (หมายถึงสหรัฐฯ) จึงต้องมีความเข้มแข็งด้านการทหารเพื่อที่จะรองรับความล้มเหลวนั้นได้”

บททดสอบที่สำคัญที่สุดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือกรณีไต้หวัน

เขาย้อนความไปวันที่อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เยือนจีนปี 1972 ครั้งประวัติศาสตร์

ในขณะนั้น ประธานเหมา เจ๋อตุง คนเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจเจรจาเรื่องไต้หวัน

"ทุกครั้งที่นิกสันยกประเด็นเรื่องสำคัญๆ เหมาจะบอกว่าผมเป็นนักปรัชญา ผมไม่ยุ่งกับเรื่องต่างๆ พวกนี้ ให้ท่านโจว (เอินไหล...นายกฯ จีนขณะนั้น) กับคิสซิงเจอร์ไปจัดการเถอะ

 “แต่พอถึงเรื่องไต้หวัน เหมาชัดเจนมาก เหมาบอกว่าพวกนี้เป็นนักต่อต้านปฏิวัติ เราไม่จำเป็นต้องจัดการกับพวกนี้ในตอนนี้ เรารอ 100 ปีก็ได้ วันใดวันหนึ่งในอนาคต เราจะจัดการเรื่องนี้ แต่มันยังอีกไกลนัก...”

นั่นแปลว่าเหมาไม่ต้องการจะเผชิญหน้ากับอเมริกาเรื่องไต้หวัน และถ้าเลื่อนไปได้เรื่อยๆ ก็จะไม่ทำให้เกิดวิกฤตในความสัมพันธ์นั้น

คิสซิงเจอร์เชื่อว่าผ่านมาเพียง 50 ปี (จาก 100 ปีของเหมา) สถานการณ์เรื่องไต้หวันก็กลับตาลปัตร เพราะโดนัลด์ ทรัมป์

 “เพราะทรัมป์ต้องการสร้างภาพว่าเป็นผู้นำที่กล้าทุบโต๊ะใส่จีน และใช้ไต้หวันกดดันจีนเพื่อให้ปักกิ่งยอมอ่อนข้อเรื่องการค้า..วันนี้ไบเดนก็เดินตามทรัมป์ในเรื่องนี้...เพียงเปลี่ยนวาทกรรมเป็นแบบเดโมแครตเท่านั้น”

 (พรุ่งนี้ : คิสซิงเจอร์เสนอทางออกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทำไมยูเครนเรียกร้องอยากได้ขีปนาวุธ Taurus ของเยอรมนี?

ทำไมขีปนาวุธระบบ Taurus ของเยอรมนีจึงได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวาง...โดยเฉพาะที่ยูเครนขอให้ส่งไปให้เพื่อรบกับรัสเซียเป็นพิเศษ?

เมื่อจีนกับอเมริกาทำ สงคราม TikTok!

สงคราม TikTok ระหว่างสหรัฐฯกับจีนเดือดขึ้นมาอย่างรุนแรงเมื่อสภาผู้แทนราษฎรที่วอชิงตันลงมติด้วยคะแนนท่วมท้นที่จะแบน apps อันโด่งดังระดับโลก

คดีปราบฉ้อฉลเอกชนระดับชาติ ที่เวียดนามดังเปรี้ยงปร้าง!

จีนกับเวียดนามมีแนวทางตรงกันอย่างหนึ่งในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นั่นคือการปราบคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมือง, ราชการและแม้ในภาคเอกชน