เมื่อวานเขียนถึงแนวทางวิเคราะห์ความเสี่ยงของสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีนในความเห็นของเฮนรี คิสซิงเจอร์, อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงหลายสมัยของสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะฉลองวันเกิดที่ 100 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเขาย้ำว่าไต้หวันจะเป็นจุดทดสอบที่สำคัญว่าจะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างสองยักษ์ใหญ่หรือไม่
เพราะอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นผู้เริ่มกดดันจีนเรื่องไต้หวันเพื่อแลกกับการยอมเรื่องการค้าของปักกิ่ง
และวันนี้โจ ไบเดนก็เดินตามแนวนั้น
ซึ่งคิสซิงเจอร์เห็นว่าเป็นทิศทางที่อันตราย
“ถ้าเป็นผม ผมจะไม่เดินเส้นทางนั้น เพราะสงครามแบบยูเครนจะทำลายไต้หวันและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง”
หากเกิดสงคราม จีนก็จะได้รับผลกระทบภายในประเทศอย่างหนัก
“ต้องไม่ลืมว่าความกลัวที่สุดของผู้นำจีนคือความปั่นป่วนภายในประเทศ...”
คิสซิงเจอร์มองว่าความกลัวสงครามอาจจะทำให้เกิดความหวังได้บ้าง
“แต่ปัญหาก็คือทั้งสองฝ่ายไม่มีพื้นที่ถอยมากนัก...ผู้นำจีนทุกคนที่ผ่านมายืนยันสิทธิเหนือไต้หวัน ขณะเดียวกันสำหรับอเมริกา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทิ้งประเด็นไต้หวันโดยไม่ทำให้สถานภาพของสหรัฐฯ ณ จุดอื่น ๆ อ่อนแอลงไปด้วย...”
แล้วทางออกคืออะไร?
แนวคิดของคิสซิงเจอร์จากประสบการณ์ที่ใช้การทูตแก้วิกฤตโลกมายาวนานคือ
“ผมจะเริ่มด้วยการอุณหภูมิก่อน และค่อย ๆ สร้างความมั่นใจต่อกันและกัน และสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกัน...”
แทนที่ผู้นำสหรัฐฯจะร่ายยาวถึงความไม่พอใจของวอชิงตันต่อจีน ก็ควรจะหันไปบอกกับผู้นำจีนว่า
“ท่านครับ อันตรายต่อสันติภาพโลกทุกวันนี้คือเราทั้งสองประเทศ เพราะเราต่างก็มีศักยภาพที่จะทำลายล้างมนุษยชาติได้...”
คิสซิงเจอร์บอกว่าจีนกับสหรัฐฯต้องตั้งเป้าที่จะใช้นโยบาย “ยับยั้งชั่งใจ” (restraint)
โดยไม่จำเป็นต้องประกาศอะไรร่วมอย่างเป็นทางการ
นั่นคือไม่ต้องลงลายลักษณ์อักษรที่ผูกมัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ให้ลงมือทำทุกอย่างเพื่อลดความตึงเครียดที่มีต่อกัน
คิสซิงเจอร์เสนอว่ากระบวนการป้องกันสงครามระหว่างสองยักษ์นั้นต้องเริ่มด้วยการตั้งทีมงานที่ปรึกษาเล็ก ๆ จากทั้งสองฝ่ายที่เชื่อมต่อไปมาหาสู่กันได้อย่างคล่องตัวและทำงานร่วมกันอย่างไม่โฉ่งฉ่างนัก
“เริ่มต้น ทั้งสองฝ่ายยังไม่ต้องเปลี่ยนจุดยืนพื้นฐานของตนเกี่ยวกับไต้หวัน แต่สหรัฐต้องระมัดระวังเรื่องการส่งกองกำลังของตนและต้องไม่ทำให้เกิดความระแวงสงสัยว่าวอชิงตันสนับสนุนการประกาศเอกราชของเกาะแห่งนี้...”
คำแนะนำของนักการทูตอาวุโสผู้นี้ต่อผู้นำทั้งหลายในการพยายามแก้ปัญหาเพื่อป้องกันวิกฤตคือ
“ต้องนิยามเป้าหมายให้ชัดเจนที่จะสามารถทำให้ผู้คนเข้าใจได้ และหาหนทางซึ่งสามารถชี้แจงอธิบายได้ในอันที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น ๆ”
เขาบอกว่าไต้หวันควรจะเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ มิติที่มหาอำนาจควรจะหันมาแสวงหาจุดร่วม...เพื่อจะส่งเสริมเสถียรภาพระดับโลก
หลักใหญ่ใจความคือทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่ยึดจุดยืนที่ “ฉันต้องได้ทุกอย่าง” หรือมีท่าทีว่า “ถ้าฉันไม่ได้ทั้งหมดที่ฉันต้องการก็ไม่ต้องคุยกัน” (All-or-nothing attitude)
เพราะท่าทีเช่นนี้เป็นภัยคุกคามต่อความพยายามที่จะแสวงหาจุดบรรจบกัน
“ดังนั้น หากอเมริกาต้องการจะหาทางอยู่ร่วมโลกกับจีนก็ต้องไม่มุ่งจะเปลี่ยนแปลงระบบผู้นำ (regime change) ของเขา...”
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดโลกสมัยศตวรรษที่ 19 ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า “การดำรงอยู่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใด ๆ จะต้องไม่ใช่ประเด็น”
นั่นคือต้องไม่มุ่งทำลายล้างระบอบการปกครองของอีกฝ่ายหนึ่งในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง
คนอเมริกันบางกลุ่มเชื่อว่าหากสหรัฐฯทำให้จีนพ่าย ก็จะทำให้จีนกลายเป็นประเทศ “ประชาธิปไตยและมีสันติ”
คิสซิงเจอร์บอกว่าการมองเช่นนั้นไม่ถูกต้องเพราะไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าเรื่องอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้จริง
“ตรงกันข้าม, การล่มสลายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ย่อมนำไปสู่สงครามกลางเมือง และยิ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งด้านอุดมการณ์และส่งผลทำให้โลกขาดเสถียรภาพ...ดังนั้นจึงไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐฯที่จะเห็นการล่มสลายของจีนแน่นอน...”
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเห็นว่าสหรัฐฯควรจะต้องยอมรับว่าจีนมีผลประโยชน์ที่ต้องเคารพ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือยูเครน
คิสซิงเจอร์เห็นว่าจีนพยายามอย่างจริงใจที่จะเป็นคนกลางเพื่อหาทางแสวงหาสันติภาพให้ยูเครน
เขาเห็นว่าสงครามยูเครนเป็นความผิดพลาดของประธานาธิบดีปูติน
“แต่ก็ไม่ได้แปลว่าตะวันตกไม่มีมลทินในเรื่องนี้”
คิสซิงเจอร์เห็นว่าการเปิดทางที่จะให้ยูเครนเข้านาโตนั้นเป็นความผิดพลาด เพราะนั่นทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพ
“เพราะการรับปากว่าจะให้ยูเครนได้รับการปกป้องโดยนาโตโดยไม่ได้มีแผนอย่างจริงจังที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงทำให้ยูเครนตกอยู่ในสภาพที่ไร้การปกป้อง ... แต่มีผลทำให้ปูตินเดือดซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการตัดสินใจของปูตินบุกยูเครน”
แต่ประเด็นหลักก็คือจะต้องยุติสงครามให้จงได้
โดยจะต้องไม่เปิดทางให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่
คิสซิงเจอร์อยากเห็นรัสเซียยอมเลิกการยึดครองดินแดนของยูเครนตั้งแต่ปี 2014 ให้มากที่สุด
“แต่ต้องยอมรับความจริงว่าในการเจรจาสงบศึกใด ๆ นั้นรัสเซียก็คงจะต้องยืนยันที่จะยังยึดครองเมือง Sevaspotol ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของคาบสมุทรไครเมียและเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือหลักของรัสเซียในทะเลดำ...” คิสซิงเจอร์บอก
สูตรที่ว่านี้แปลว่ารัสเซียยอมเสียสละดินแดนบางส่วนในยูเครนก็อาจจะทำให้ทั้งรัสเซียและยูเครนมีความไม่พอใจอยู่ดี
หากเป็นเช่นนั้นก็อาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าในอนาคตอีก
เขาเห็นว่าจุดยืนของยุโรปขณะนี้ไม่ได้ผลแน่
นั่นคือนโยบายของยุโรปที่บอกว่ายังไม่ให้ยูเครนเข้านาโต แต่กลับโหมส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยให้ยูเครนอย่างเต็มที่
จนยูเครนกลายเป็นประเทศในยุโรปที่มีอาวุธทันสมัยที่สุดแต่มีผู้นำที่มีประสบการณ์ด้านยุทธศาสตร์น้อยที่สุดในยุโรป
คิสซิงเจอร์มีความเห็นว่าหากจะแสวงหาสันติภาพอย่างถาวร ยุโรปจะต้องทำสองเรื่อง
หนึ่งคือให้ยูเครนเข้านาโตเพื่อให้ประเทศนั้นได้รับการปกป้องและใช้ความยับยั้งชั่งใจ
สองยุโรปจะต้องแสวงหาหนทางที่จะอยู่ร่วมกับรัสเซียให้ได้เพื่อให้มีชายแดนด้านตะวันออกที่มั่นคง
แต่เขาเห็นว่าประเทศยุโรปส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งของสองเป้าหมายนี้
เมื่อจีนในฐานะเป็นพันธมิตรรัสเซียและยืนอยู่คนละข้างกับนาโตพยายามเข้ามามีบทบาทในการยุติสงคราม ภารกิจเรื่องแสวงหาสันติภาพก็ยิ่งยากเย็นขึ้นอีก
เพราะอย่างไรเสีย จีนต้องการเห็นรัสเซียไม่แพ้สงคราม
เพราะหากรัสเซียล่มสลายก็จะเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจในเอเชียกลาง
ซึ่งก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงที่อาจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองแบบเดียวกับซีเรีย
ท้ายสุด คิสซิงเจอร์เชื่อว่าเราสามารถสร้างระเบียบโลกใหม่ที่มีกฎกติกาที่จะทำให้ยุโรป, จีนและอินเดียมาร่วมได้
วิกฤตครั้งนี้สามารถจบได้...หรือจบโดยมีความหายนะน้อยที่สุด
ฟังท่านผู้เฒ่าคิสซิงเจอร์นำเสนอแล้ว แม้ภารกิจป้องกันสงครามโลกครั้งที่ 3 ยังดูจะมีอุปสรรคมากมาย
แต่อย่างน้อยก็ได้รับรู้ถึงแนวทางวิเคราะห์ที่ว่าโลกใบนี้กำลังเจอกับโจทย์ยาก ๆ ที่ต้องช่วยกันแก้อย่างไรเพื่อไม่ให้ต้องถึงจุดปะทุที่เกิดความสามารถของมนุษย์ที่จะควบคุมได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มพรุ่งนี้: มาตรการ CBAM ที่กระทบส่งออกไป EU
เส้นตายสำหรับการเริ่มต้นมาตรการของยุโรปอันเกี่ยวกับมาตรฐาน “โลกร้อน” ที่จะกระทบผู้ส่งออกไทยใกล้เข้ามาแล้ว
พักหนี้เกษตรกรรอบนี้จะได้ผล ดีกว่า 13 ครั้งที่ผ่านมาอย่างไร?
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการ “พักหนี้เกษตรกร” 3 ปีทั้งต้นทั้งดอกแล้ว
ไฉนจาก ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ’ วันนี้ กลายเป็น ‘ผู้ว่าซีอีโอ’?
หนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวางคือ “ผู้ว่าซีอีโอ”
Hard skills, Soft skills ไม่ใช่ Soft power
พอรัฐบาลเศรษฐาประกาศนโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) หรือ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์” คนในหลายๆ วงการก็มีคำถามว่า
‘อำนาจอ่อน’ แบบไหนที่จะสร้างพลังประเทศไทยในเวทีสากล?
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ soft power แห่งชาติที่เพิ่งตั้งโดยมีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน
OFOS : หนึ่งครอบครัว หนึ่ง soft power คือความท้าทายของรัฐบาล
รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศตั้งคณะกรรมการ soft power แห่งชาติชุดใหม่ที่มีโครงสร้างและสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่จะสามารถผลักดันให้เคลื่อนทัพได้ไม่น้อย...หากสามารถดึงเอาคนเก่งคนมีพรสวรรค์เข้ามาร่วมได้อย่างจริงจัง