ภารกิจสันติภาพอันหนักหน่วง สำหรับ‘หลี่ ฮุย’ทูตพิเศษจากจีน

จีนกล่าวว่าต้องการสร้างสันติภาพในยูเครน แต่เงื่อนไขจะเป็นอย่างไร?

เป็นภารกิจที่หนักหน่วงมาก เพราะปักกิ่งรู้ดีว่าทั้งยูเครนและรัสเซียต่างก็มีเงื่อนไขที่อีกฝ่ายหนึ่งรับไม่ได้เป็นอันขาด

ขณะที่ยูเครนจะถามว่าจีนจะสร้างสันติภาพภายใต้เงื่อนไขของรัสเซียกระนั้นหรือ?

รัสเซียก็จะถามกลับว่าจีนจะยอมยูเครนได้อย่างไร เพราะเท่ากับเป็นการยอมถอยให้กับตะวันตก

จึงน่าเห็นใจหลี่ ฮุย ทูตพิเศษของจีนที่ได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้เดินสายเพื่อให้ทุกฝ่ายในข้อพิพาทนี้ยอมหยุดสู้รบและหันมาเจรจากัน

ทูตหลี่ ฮุยทัวร์ทั่วยุโรปเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว โดยแวะที่มอสโกเมื่อวันศุกร์ ปิดภารกิจที่ทำหน้าที่เป็นบททดสอบสำคัญของการที่ปักกิ่งเสนอตัวเป็น “คนกลาง” ที่เสนอตัวทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้ยุติความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ

บรรยากาศการต้อนรับที่ยุโรปไม่ใคร่จะอบอุ่นนัก เพราะเต็มไปด้วยคำถาม

ไม่ว่าจะเป็นที่โปแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ในการทัวร์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม

ถ้อยแถลงที่ออกมาอย่างเป็นทางการตอกย้ำถึงจุดยืนที่แปลกแยกระหว่างจีนกับยุโรปในประเด็นวิธีที่จะนำไปสู่การบรรลุสันติภาพ   

โดยมีน้ำเสียงจากผู้นำยุโรปว่า เมื่อปักกิ่งกับมอสโกมีความสนิทชิดเชื้อกันอย่างนั้น จีนจะทำหน้าที่เป็นคนกลางที่ได้รับการไว้วางใจจากทุกฝ่ายคงไม่ง่าย

แต่ทูตหลี่ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นกันเองระหว่างการแวะพักจุดสุดท้ายในเมืองหลวงของรัสเซีย

อันเป็นเมืองที่เขาคุ้นเคยไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำมอสโกร่วมทศวรรษ

โดยรัฐมนตรีต่างประเทศเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ได้กล่าวชื่นชม “จุดยืนที่สมดุล” ของปักกิ่งต่อสงครามและความพร้อมที่จะแสดง “บทบาทเชิงบวก” ในการหาทางยุติความขัดแย้ง

แต่ผู้นำยุโรปเน้นประเด็นที่แตกต่างออกไป

เพราะที่นั่น ทูตจีนได้รับการยืนยันว่ารัสเซียจะต้องถอนทหารออกจากดินแดนของยูเครนที่ตนไปยึดครองอยู่

อ้างอิงจากการอ่านข้อมูลจากปักกิ่ง ทูตหลี่เรียกร้องให้สร้าง "ฉันทามติ" ต่อการเจรจาสันติภาพและเสริมสร้าง "สถาปัตยกรรมความมั่นคง" ของยุโรป

ซึ่งเป็นการอ้างถึงมุมมองของจีนว่ายุโรปไม่ควรปกป้องตัวเองผ่านสถาบันต่างๆ เช่น NATO ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนมองรัสเซียเป็นหุ้นส่วนสำคัญ และพยายามจะถ่วงดุลอำนาจท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับชาติตะวันตก

ปักกิ่งปฏิเสธที่จะประณามการรุกรานยูเครนของมอสโก

และไม่เรียกร้องให้ถอนทหารรัสเซียออกจากดินแดนของยูเครน

ท่าทีอย่างนี้ของจีนกำหนดท่าทีไม่เป็นมิตรของยุโรปต่อจีน

และการมาเยือนของทูตหลี่ก็เกิดขึ้นในขณะที่จีนพยายาม "ซ่อมแซม” ความสัมพันธ์กับยุโรปที่มีปัญหาในหลายๆ ด้านอยู่ด้วย

จีนได้เผยแพร่เอกสารแสดงจุดยืน 12 จุดว่าด้วย “แผนสันติภาพสำหรับยูเครน” เมื่อต้นปี

ผู้นำยุโรปบางประเทศบอกว่าเป็นข้อเสนอที่ยังคลุมเครือเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของจีน โดยเฉพาะประเด็น “การยุติสงครามด้วยการเมือง”

ระหว่างการเดินสายนี้ ทูตหลี่กล่าวว่า “ข้อกังวลด้านความมั่นคงที่ชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย” ของ “ทุกประเทศ” ควรได้รับการแก้ไข

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า "อำนาจอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดน" ของทุกประเทศจะต้องได้รับการยึดถือ

แต่ที่สำคัญ เอกสารของจีนฉบับนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ถอนทหารรัสเซียเพื่อยุติการสู้รบ

แต่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงแทน ทำให้ผู้นำตะวันตกบางคนเห็นว่า หากทำอย่างนั้นก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้รัสเซีย “เพิ่มพูนผลประโยชน์” ในดินแดนที่ผิดกฎหมายของตน

 “ความพยายามใดๆ ที่จะทำให้สถานะของรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้รุกรานในความขัดแย้งนี้และยูเครน ซึ่งตกเป็นเหยื่อยังเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์ วอยเชียค แกร์เวล กล่าวกับทูตหลี่

 “วิธีการใดๆ ที่มีความหมายในการยุติสงครามที่ผิดกฎหมายของรัสเซียในการรุกรานยูเครน จะต้องสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติอย่างครบถ้วน” เอ็นริเก โมรา รองเลขาธิการฝ่ายกิจการการเมืองของสหภาพยุโรป กล่าวในการพบปะกับทูตจีนคนนี้

Frédéric Mondoloni ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองและความมั่นคงของกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส บอกกับทูตหลี่ว่า ฝรั่งเศสเชื่อมั่นว่าจีนสามารถมีบทบาทใน “สันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “อำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน” ของยูเครน

ในขณะที่ย้ำว่ามอสโกต้องรับผิดชอบอย่างเต็มต่อการที่จะต้องให้สงครามยูติลง

Dmytro Kuleba รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครนเน้นย้ำถึง “สูตรสันติภาพ” ของยูเครนเอง

ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องอย่างชัดเจนให้ถอนทหารรัสเซีย และการคืนพรมแดนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เมื่อเขาพบกับทูตพิเศษจากปักกิ่งเมื่อต้นเดือนนี้

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา Wall Street Journal ตีพิมพ์รายงานที่อ้างถึงเจ้าหน้าที่ของชาติตะวันตกว่าทูตหลี่ได้ผลักดันให้คู่สนทนาชาวยุโรปของเขาเรียกร้องให้มี “การหยุดยิงในทันที”

แต่ก็ต้องยอมให้รัสเซียยังคงดูแลดินแดนที่ยึดครองในยูเครน

รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนบอกว่า ทันทีได้เห็นข่าวชิ้นนี้เขาติดต่อเพื่อนร่วมงานทันทีในเมืองหลวงที่ทูตหลี่ไปเยือน และพวกเขาทั้งหมดยืนยันว่าไม่มีการพูดคุยหรือการเจรจาใดๆ เกี่ยวกับการยอมรับให้รัสเซียยึดครองดินแดนในยูเครนในส่วนหนึ่งของข้อเสนอสันติภาพของจีน

 “ไม่มีใครจะทำอะไรลับหลังยูเครนได้ เพราะเราได้สร้างความสัมพันธ์ที่ไว้เนื้อเชื่อใจกับพันธมิตรหลักทั้งหมดของเรา” เขากล่าวเสริม

แม้ว่าจีนอาจมีอิทธิพลค่อนข้างจำกัดในการเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเงื่อนไขของสันติภาพ แต่ก็มีหลายด้านที่ยุโรปจะยินดีกับการสื่อสารที่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น

ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางอาหาร การบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรม และการผลักดันภัยคุกคามจากนิวเคลียร์

ผู้นำยุโรปส่วนใหญ่ยังคงมีความหวังว่าจีนสามารถใช้ความสัมพันธ์ที่มีกับเครมลินเพื่อผลักดันปูตินไปสู่สันติภาพ

 “การเยือนครั้งนี้มีค่าสำหรับชาวยุโรป เพราะพวกเขาสามารถให้ทูตหลี่ส่งข้อความโดยตรงถึงผู้นำในปักกิ่ง และอาจส่งถึงมอสโก”

เพราะคนเหล่านี้เชื่อว่า หลี่ ฮุยมีสายตรงถึงสี จิ้นผิง

และเขาอาจคงจะรายงานตรงต่อสี จิ้นผิงมากกว่าบุคลากรของสถานทูตจีนในเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือโปแลนด์

ท้ายที่สุดน่าสนใจว่าทูตจีนคนนี้จะส่งผ่านข้อความใดจากยุโรป-เคียฟ วอร์ซอว์ เบอร์ลิน ปารีส และบรัสเซลส์-ไปให้มอสโกและปักกิ่ง

ถึงวันนี้ เสียงระเบิด, ขีปนาวุธและโดรน ดูเหมือนจะดังกว่าบทสนทนาว่าด้วยสันติภาพมากมายหลายเท่านัก!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด