ผมให้ดูรูปนี้เพื่อให้เห็นบรรยากาศ “ความเย็นชา” ที่จีนจงใจจะแสดงต่อสหรัฐฯ
ในภาพนี้รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน เดินไปขอจับมือกับรัฐมนตรีกลาโหมจีน หลี่ ซ่างฝู ในงานดินเนอร์ของการประชุมสุดยอดความมั่นคงเอเชีย Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์เมื่อคืนวันเสาร์
ฝ่ายจีนก็ยอมจับมือและส่งยิ้มเป็นทางการ
แฝงด้วยการส่งสัญญาณว่า ปักกิ่งยังขุ่นเคืองวอชิงตันกับท่าทีที่ไร้ความเป็นมิตรในหลายๆ เหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป
ฝ่ายจีนปฏิเสธคำขอของเพนตากอนสำหรับการประชุม “นอกรอบ” ระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ออสติน และรัฐมนตรีหลี่ ซ่างฝู ที่นั่น
เป็นสัญญาณล่าสุดว่า ความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจยังอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก ขณะที่สถานการณ์การแข่งขันด้วยภูมิรัฐศาสตร์ยังอยู่ในสภาพปั่นป่วน
“ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนแจ้งสหรัฐฯ ปฏิเสธคำเชิญของเรา” เพนตากอนระบุ
ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวทางการทูตบอกว่าจีนได้บอกกับสหรัฐฯ ว่า โอกาสของการพบปะกันระหว่างสองรัฐมนตรีที่สิงคโปร์นั้นเกิดขึ้นได้ “น้อยมาก”
โดยจีนบอกว่า สาเหตุก็เพราะตราบใดที่วอชิงตันยังคงคว่ำบาตรรัฐมนตรีหลี่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงโดนัลด์ ทรัมป์ ปี 2561 ที่โยงกับการที่จีนซื้อเครื่องบินรบและขีปนาวุธจากรัสเซีย ก็คงทำให้มีการพบปะกับฝ่ายอเมริกาได้ยากยิ่ง
เพนตากอนพยายามบอกจีนว่าเรื่องคว่ำบาตรไม่ได้ห้ามการพบปะ
แต่ปักกิ่งบอกว่า “มันไม่สวยน่ะ”
พูดง่ายๆ คือบอกปัดให้วอชิงตันได้สำเหนียก
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนปฏิเสธคำเชิญการพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐฯ
ความจริงเบื้องหลังของเรื่องคือ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาจีนได้ปฏิเสธหรือ “ไม่ตอบสนอง” คำขอให้มีการประชุมระดับอาวุโสมากกว่า 12 ครั้ง
ไม่นับคำขอหลายครั้งที่ให้มีการพบปะกันในระดับทำงาน
Shangri-La Dialogue เป็นหนึ่งในเวทีพบปะไม่กี่แห่งที่รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ จะได้พบปะกับฝ่ายจีน
ปีที่แล้ว รัฐมนตรีออสตินเจอ เว่ย เฟิงเหอ รัฐมนตรีกลาโหมจีนขณะนั้น
การปฏิเสธของจีนมีขึ้นไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน พูดในที่ประชุม G7 ที่ญี่ปุ่นว่า เขาคาดว่าความสัมพันธ์จะ "กระเตื้องขึ้น"
เพราะจะว่าไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสองยักษ์ใหญ่ก็ใกล้จะถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ
ตอนนั้นไบเดนบอกว่ากำลังพิจารณายกเลิกการคว่ำบาตรรัฐมนตรีหลี่
แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกข่าวตามมาว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในวาระของตน
ก่อนหน้านี้ไม่นาน เจก ซัลลิวัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้พบกับหวัง อี้ หัวหน้าใหญ่ด้านนโยบายต่างประเทศของจีนที่กรุงเวียนนา
จังหวะนั้นมีความหวังว่าจะทำให้ทั้งสองชาติกลับมานั่งพูดคุยกันอีกรอบหนึ่ง
ต่อมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีนได้พบกับจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน
นับเป็นการเยือนระดับอาวุโสครั้งแรกที่เมืองหลวงสหรัฐฯ ของจีนนับตั้งแต่ปี 2563
นอกจากนี้ รัฐมนตรีจีนคนนี้ยังได้พบกับแคทเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในการประชุมการค้าเอเปกที่เมืองดีทรอยต์
แต่จีนก็ยังสงวนท่าทีในการที่จะไม่แสดงถึงความ “อ่อนข้อ” ต่อสหรัฐฯ อยู่ดี
เช่นถึงวันนี้ก็ยังไม่ยอมเลื่อนกำหนดการเยือนปักกิ่งของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเกน
เพราะก่อนหน้านี้มีการประกาศยกเลิกการเดินทางที่วางแผนไว้เดิมในเดือนกุมภาพันธ์
เพราะเกิดเรื่องเสียก่อน...ก็เหตุการณ์บอลลูนที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นแผนการสอดแนมของจีน
ออสตินบอกว่าการไม่ได้พูดคุยกับจีนอาจทำให้เกิดภาวะความตึงเครียดเพิ่มขึ้น
“ผมกังวลว่าในบางครั้งจะมีเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้อย่างรวดเร็วมาก”
และเสริมว่า “ผมยินดีรับทุกโอกาสที่จะมีส่วนร่วมกับผู้นำ ผมคิดว่าฝ่ายกลาโหมควรพูดคุยกันเป็นประจำ หรือควรมีช่องทางที่เปิดกว้างสำหรับการสื่อสาร”
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่า ที่น่ากังวลอีกเรื่องหนึ่งคือโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
ที่เข้าข่าย "อันตรายและก่อให้เกิดความไม่มั่นคง"
เพราะมันอาจจะคุกคามสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
พร้อมประกาศยืนหยัดร่วมกับพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในการเผชิญกับการยั่วยุอย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือ
“สหรัฐฯ จะใช้มาตรการที่จำเป็น…เพื่อประกันความมั่นคงในมาตุภูมิของเราและป้องกันพันธมิตรของเรา" ออสตินกล่าว
ออสตินพูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า กองทัพสหรัฐฯ “จะยังคงติดตามการกระทำที่ก้าวร้าวของจีน และทำงานร่วมกับพันธมิตรและพันธมิตรของเราเพื่อทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ในช่องแคบไต้หวันและในภูมิภาคโดยรวม”
อเมริกาเตรียมการจัดหางบประมาณด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวัน
และตอกย้ำว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำจะต้องรักษาช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยในประเด็นสำคัญก็ตาม
แม้ว่าจีนปฏิเสธที่จะพบปะกันในระดับสูงหลายครั้งหลายหน แต่ออสตินกล่าวว่าสหรัฐฯ "ยังคงมุ่งมั่น" ที่จะติดตามการเจรจา และเขาจะทำงานอย่างเหนียวแน่นเพื่อสร้างช่องทางการสื่อสาร
เมื่อมังกรยักษ์จีนไม่ยอมสื่อสารกับอินทรียักษ์มะกัน...เราก็จะเริ่มเห็นลีลาท่าทางที่ทั้งสองมหาอำนาจจะรำมวยใส่กันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มพรุ่งนี้: มาตรการ CBAM ที่กระทบส่งออกไป EU
เส้นตายสำหรับการเริ่มต้นมาตรการของยุโรปอันเกี่ยวกับมาตรฐาน “โลกร้อน” ที่จะกระทบผู้ส่งออกไทยใกล้เข้ามาแล้ว
พักหนี้เกษตรกรรอบนี้จะได้ผล ดีกว่า 13 ครั้งที่ผ่านมาอย่างไร?
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการ “พักหนี้เกษตรกร” 3 ปีทั้งต้นทั้งดอกแล้ว
ไฉนจาก ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ’ วันนี้ กลายเป็น ‘ผู้ว่าซีอีโอ’?
หนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวางคือ “ผู้ว่าซีอีโอ”
Hard skills, Soft skills ไม่ใช่ Soft power
พอรัฐบาลเศรษฐาประกาศนโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) หรือ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์” คนในหลายๆ วงการก็มีคำถามว่า
‘อำนาจอ่อน’ แบบไหนที่จะสร้างพลังประเทศไทยในเวทีสากล?
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ soft power แห่งชาติที่เพิ่งตั้งโดยมีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน
OFOS : หนึ่งครอบครัว หนึ่ง soft power คือความท้าทายของรัฐบาล
รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศตั้งคณะกรรมการ soft power แห่งชาติชุดใหม่ที่มีโครงสร้างและสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่จะสามารถผลักดันให้เคลื่อนทัพได้ไม่น้อย...หากสามารถดึงเอาคนเก่งคนมีพรสวรรค์เข้ามาร่วมได้อย่างจริงจัง