ความขัดแย้งมหาอำนาจวันนี้ หนักกว่าช่วง ‘สงครามเย็น’

ที่ผมเกาะติดข่าวคราวของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นพิเศษ นั่นเพราะความตึงเครียดในความสัมพันธ์ของสองมหาอำนาจนั้นจะมีผลกระทบต่อไทยในเกือบทุกๆ มิติที่เราไม่อาจจะมองข้ามได้

ความสามารถของการทูตไทยที่จะสร้างดุลแห่งอำนาจให้เหมาะสม ไม่ถูกมองว่าเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

ในสหรัฐฯ นั้น นอกจากเราจะติดตามความเห็นของฝ่ายการเมืองและวิชาการแล้ว ก็ยังต้องสนใจว่าฝ่ายเอกชนของอเมริกามองความขัดแย้งระดับโลกนี้อย่างไร

เพราะผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็มีหลายมุมมองที่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้

Jamie Dimon ประธานของ JP Morgan  ซึ่งเป็นธุรกิจการเงินการลงทุนยักษ์ของสหรัฐฯ เพิ่งออกมาเตือนว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะมีผลกระทบต่อ “ระเบียบโลก” อย่างมีนัยสำคัญแน่นอน

เจมี ดีเมิน มองว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศมีความซับซ้อนสำหรับธุรกิจมากกว่าในยุคสงครามเย็นเสียอีก

เขาเตือนว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ยกระดับระเบียบระหว่างประเทศ ทำให้การจัดการทางธุรกิจมีความซับซ้อนมากกว่าในช่วงที่สหรัฐฯ กับจีนและรัสเซียเผชิญหน้าหลังสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก

จากสงครามโลกที่เรียกว่า Hot War กลายเป็นกว่า 40 ปีของ Cold War ที่โลกต้องเลือกระหว่าง “โลกเสรี” กับ “โลกคอมมิวนิสต์”

ในวันที่ข้อมูลการผลิตด้านอุตสาหกรรมสะท้อนให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกกำลังสั่นคลอน

ดีเมิน แย้งว่า "ความไม่แน่นอน" เกี่ยวกับนโยบายของปักกิ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

 “หวังว่าเราจะสามารถจัดการกับความแตกต่างเหล่านี้ได้ ทั้งกับจีนและอเมริกา และสิ่งที่กำลังทำกับพันธมิตรอันหมายถึงความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ทั้งหมด”

ดีเมิน เพิ่งไปร่วมประชุมระดับสูงของแวดวงธุรกิจที่เซี่ยงไฮ้

พอฟังการบรรยายสรุปจากการประชุมที่เมืองจีนเสร็จ เขาก็ออกมาพูดทำนองวิเคราะห์สถานการณ์โลกว่า

 “เราไม่ได้มีความซับซ้อนแบบนี้อย่างจริงๆ จังๆ ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง...ผมว่าสงครามเย็นไม่ได้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกับที่เรากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ด้วยซ้ำ”

นี่เป็นครั้งแรกที่ดีเมินไปเยือนจีนใน 4 ปี

ส่วนอีลอน มัสก์ เจ้าของ Tesla และ SpaceX เพิ่งจะไปเยือนจีนอย่างเอิกเกริก และมีโอกาสเข้าพบกับระดับรัฐมนตรีของจีนหลายคน

ฝ่ายจีนก็ออกข่าวการมาเยือนของอภิมหาเศรษฐีโลกคนนี้อย่างคึกคัก เพื่อสะท้อนว่าจีนยังเป็นประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง

แต่ดีเมินตั้งข้อสังเกตว่ากิจกรรมโรงงานในจีนเริ่มหดตัวลง

ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของประเทศ เขย่าตลาดทุนในภูมิภาคท่ามกลางความสัมพันธ์ที่แย่ลงกับสหรัฐฯ

 “หากคุณมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งกำลังเกิดกับรัฐบาลจีน...ไม่เพียงแต่จะปรับเปลี่ยนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังจะมีผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย” ดีเมินให้สัมภาษณ์ Bloomberg TV

โดยคำถามหลักๆ เน้นไปทางด้านนโยบายโควิด-19 ของจีน และการออกมาตรการกำกับดูแลบริษัทที่ปรึกษาและภาคส่วนเทคโนโลยี

เขาบอกว่ากติกาใหม่ๆ เหล่านี้ “จะเปลี่ยนผู้คนที่นี่ และจะกระทบความมั่นใจของวงการธุรกิจจีนเองด้วย”

เป็นที่รู้กันว่าจีนกำลังพยายามทำทุกอย่างเพื่อฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้กลับไปสู่ตัวเลขเดิมก่อนการระบาดของโควิด

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอย่างเป็นทางการลดลงสู่ระดับ 48.8 ในเดือนพฤษภาคม เทียบกับ  49.2 ในเดือนเมษายน ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ข้อมูลดังกล่าวลดดัชนี Hang Seng China  Enterprises ของฮ่องกง ซึ่งติดตามบริษัทขนาดใหญ่บนแผ่นดินใหญ่ก็หดตัวลงเข้าสู่ตลาดหมี

ในช่วงที่ดีเมินอยู่จีนเมื่อสัปดาห์ก่อน เงินหยวนร่วงลง 0.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7.1128 หยวนต่อดอลลาร์  ลดลงประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า หากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยังคงอยู่ต่ำกว่า 50 ยืดเยื้อไปหลายเดือน ก็จะเป็นการบ่งชี้ถึงการหดตัวของเศรษฐกิจจีน

มีความเป็นไปได้สูงว่า หากถึงจุดนั้นรัฐบาลจีนก็จะพิจารณานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

ความจริงเศรษฐกิจของจีนเติบโตค่อนข้างรวดเร็วในไตรมาสแรก แต่การฟื้นตัวได้เริ่มสั่นคลอน ความหวังสูงในการเปิดธุรกิจอีกครั้งถูกทำลายลงจากการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

หนึ่งในสาเหตุคือ ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ หลังจากอเมริกายิงบอลลูนที่วอชิงตัน โดยอ้างว่าเป็น “สายลับสอดแนมของจีน”

ตามมาด้วยมาตรการคว่ำบาตรต่อเซมิคอนดักเตอร์

ปักกิ่งยังได้บุกค้นกลุ่มต่างชาติ เช่น Bain &  Company, Capvision และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา Mintz

อีกทั้งยังเพิ่มกฎระเบียบควบคุมภาคเอกชนในประเทศ รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีและธุรกิจการศึกษา การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อ และกำไรจากภาคอุตสาหกรรมก็ลดลง ในขณะที่ตัวชี้วัดต่างๆ เช่น ยอดค้าปลีกต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เป้าหมายการเติบโตทั้งปีของรัฐบาลที่ตั้งไว้ 5% นั้นยังจะเป็นไปได้เพียงใด

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีน ซึ่งวัดโดยหนึ่งในเกณฑ์มาตรฐานหลักของกระทรวงพาณิชย์ เพิ่มขึ้น  2.2% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 มาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5 แสนล้านหยวน แม้ว่าจะลดลงในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 3.3% เป็น 73.5 พันล้านดอลลาร์ ซีอีโอของ JP Morgan คนนี้บอกว่า แม้บางครั้งเขาจะบ่นเรื่องหน่วยงานกำกับดูแลในตลาดในอเมริกา แต่ระบบของสหรัฐฯ ก็มี "ด้านบวก"

 “ความโปร่งใส การคุ้มครองนักลงทุน หลักนิติธรรม  ความสามารถในการทำธุรกิจในตลาดขนาดใหญ่ และการมีพฤติกรรมคอร์รัปชันที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่ดีสำหรับตลาดการเงิน มันดีสำหรับทุน”

JP Morgan เป็นหนึ่งในบริษัทสหรัฐฯ ที่ได้ลงทุนในจีนอย่างเป็นกอบเป็นกำ

รัฐบาลจีนใช้นโยบายค่อนข้างยืดหยุ่นมากขึ้นกับธุรกิจต่างชาติ ในการจัดตั้งบริษัทการเงินของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการให้แรงจูงใจเพื่อพัฒนาระบบการเงินที่เคยเป็นระบบปิดเป็นส่วนใหญ่

ในปี 2018 ดีเมินประกาศที่กรุงปักกิ่งว่า "เรากำลังสร้างที่นี่ให้ยั่งยืน 100 ปี"

วันนี้เขากำลังกังวลว่า การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังสร้างความสั่นคลอนให้กับความเชื่อมั่นของเขาเองมากขึ้นทุกที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว