สองภาพนี้สะท้อนถึงความรู้สึกที่ต่างกันระหว่างคนไทยกับคนเมียนมาต่อสองมหาอำนาจ
ภาพหนึ่งคือคนไทยจำนวนหนึ่งไปประท้วงที่หน้าสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่เชียงใหม่เมื่อสัปดาห์ก่อน
อีกภาพหนึ่งคือคนพม่าที่ออกมาประท้วงจีน ที่พวกเขาอ้างว่าได้สนับสนุนรัฐบาลทหารที่ยังปราบปรามผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องหลังรัฐประหาร
เป็นสองภาพย้อนแย้งที่สะท้อนถึงสถานการณ์การเมืองในสองประเทศที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
คนไทยกลุ่มที่ไปถือป้ายที่หน้าสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่เชียงใหม่ (และก่อนหน้านี้มีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งไปยื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย Robert Godec)
คนไทยที่ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องต่อต้านอเมริกา เพราะเชื่อว่าสหรัฐฯ ได้พยายามแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย โดยบางคนบอกว่าวอชิงตันสนับสนุนพรรคก้าวไกลในการทำให้ประเทศไทยรับใช้สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ประเทศจีนไม่พอใจ และจะนำไปสู่สงครามระหว่างสองยักษ์ใหญ่ในไทย
คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า หากเขาเป็นนายกฯ ก็จะเดินนโยบายถ่วงดุลสองมหาอำนาจที่เขาอ้างว่าจะใช้แนวทาง 3 Rs คือ
Revive หรือฟื้นคืนบทบาทนำของไทยในอาเซียน
Rebalance คือการปรับดุลการคบหาสหรัฐฯ และจีนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
และ Recalibrate คือการ “ปรับค่าใหม่” สำหรับทิศทางของนโยบายต่างในเวทีระหว่างประเทศ
ส่วนของพม่านั้นต่อต้านจีน เพราะเชื่อว่าจีนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลทหารพม่าในหลายเรื่อง
เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฉิน กัง ไปเยือนพม่า และพบกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย หัวหน้ารัฐบาลทหาร
ฉิน กัง เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจีนคนแรกที่เข้าพบผู้นำรัฐบาลตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี 2564
สื่อเมียนมาแจ้งว่าในวันเดียวกันนี้ ฉิน กังยังโทร.หาอดีตผู้นำเผด็จการทหารนายพลตัน ฉ่วย
โดยแสดงความหวังว่าเมียนมาและจีนจะรักษามิตรภาพที่มีมายาวนาน รวมถึงกระชับความร่วมมือฉันมิตร และทำงานเพื่อผลลัพธ์ของความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีประสิทธิผลมากขึ้น
การเยือนของฉิน กัง ตามมาด้วยการประท้วงต่อต้านจีนในหลายพื้นที่ของพม่า
โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้ปักกิ่งหยุดสนับสนุนรัฐบาลพม่า
สองวันหลังการมาเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ชาวเมืองเล็ตปะด่องของภูมิภาค Sagaing ซึ่งเป็นที่ตั้งของเหมืองทองแดงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนได้เผาธงชาติจีน เพื่อประท้วงต่อต้านการมีส่วนร่วมของปักกิ่งกับรัฐบาล
ชาวบ้านในเขต Yinmabinและ Salingyi ของเขต Sagaing ก็ออกมารวมตัวประท้วงในลักษณะเดียวกันเมื่อในเวลาต่อมา
โดยกล่าวหาว่าจีนมีส่วนรู้เห็นในความโหดร้ายทารุณต่อพลเรือนที่กระทำโดยรัฐบาลทหารของเมียนมา
การประท้วงแพร่กระจายในต่างประเทศ โดยชาวเมียนมาที่ชุมนุมประท้วงนอกสถานทูตจีนในลอนดอนในสัปดาห์เดียวกัน
ผู้ประท้วงชูป้ายที่มีข้อความว่า “จีนกำลังช่วยให้กองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชนของเรา”
“รัฐบาลทหารของเมียนมาเป็นองค์กรก่อการร้าย”
“หยุดสนับสนุนผู้ก่อการร้าย”
“ขอให้จีนออกไปจากพม่า”
“จีน ปล่อยพม่าไว้ลำพัง” และ
“ทรัพยากรของพม่าไม่ใช่ให้จีนบริโภค”
การเดินขบวนต่อต้านจีนได้แพร่กระจายไปยังซานฟรานซิสโกในสหรัฐฯ และสะกาย มะกเว ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์
ผู้ประท้วงเผาธงชาติจีนและรูปภาพของหัวหน้ารัฐบาลทหารมิน อ่อง หล่าย และรัฐมนตรีต่างประเทศจีน
นอกจากนี้ General Strike Coordination Body (GSCB) ซึ่งเป็นเครือข่ายของกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่ายังได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงชุมชนชาวจีนทั่วโลก
โดยขอให้รัฐบาลจีนหยุดสนับสนุนรัฐบาลพม่า และแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชนชาวเมียนมา
“ตราบใดที่รัฐบาลจีนยังคงสนับสนุนระบอบนี้และยืนหยัดต่อสาธารณชน เราจะจัดการประท้วงต่อต้านจีนต่อไป ไม่เพียงแต่ในเมียนมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงในต่างประเทศร่วมกับชาวเมียนมาที่พำนักอยู่ที่นั่นด้วย เราจะยกระดับการประท้วงของเรา” โรส สมาชิก GSCB กล่าวกับ The Irrawaddy
นับตั้งแต่การเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศจีน มีการโจมตีกองทหารของรัฐบาลทหารที่คุ้มกันท่อส่งน้ำมันและก๊าซที่จีนหนุนหลังอยู่ 3 ครั้ง
กองกำลังนาโตยี (Natogyi Guerilla Force) โจมตีกองทหารของรัฐบาลทหารที่คุ้มกันสถานีขนส่งน้ำมันและท่อส่งก๊าซในเมืองนาโตยี ในเขตมยินยาน (Myingyan) ของมัณฑะเลย์
กลุ่มต่อต้านยังโจมตีกองทหารที่เฝ้าท่อส่งน้ำมันในเมือง Kyaukpadaung และ Taungtha ของมัณฑะเลย์
แต่การประท้วงก็ไม่มีผล ทำให้จีนชะลอความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า
ในขณะที่มีการประท้วงอยู่นั้น เมียนมาก็ยังเดินหน้าคบหากับจีนตามปกติ เพื่อให้เห็นว่าสถานการณ์ทุกอย่างยังอยู่ในระดับเดิม
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า โดยเฉพาะ “รัฐบาลคู่ขนาน” หรือ National Unity Government (NUG) ได้รณรงค์ไปทั่วโลกให้ประเทศต่างๆ หยุดการสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าที่ถูกกล่าวหาว่าได้ปฏิบัติต่อผู้เห็นต่างอย่างไม่ปรานี
ถึงวันนี้ความพยายามของอาเซียนที่จะเรียกร้องให้มิน อ่อง หล่าย ปฏิบัติตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียนก็ยังไม่มีความคืบหน้าแม้แต่น้อย
อองซาน ซูจี ซึ่งเคยเป็นแกนนำของรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังถูกคุมขัง เพราะโดนศาลทหารพม่าพิพากษาจำคุกหลายคดี รวมความผิดหลายสิบปี
ผู้นำทหารพม่าเริ่มมีปฏิกิริยาทางลบต่อผลการเลือกตั้งของไทยครั้งล่าสุดที่มีพรรคก้าวไกลได้ที่นั่งอันดับหนึ่ง
โดยที่นายพลโซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ได้ออกมาพูดว่า พรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้มีนโยบายโอนเอียงไปทางตะวันตก
และได้สั่งให้กองกำลังชายแดนของรัฐบาลทหารพม่าเสริมการลาดตระเวนเพื่อตั้งรับกับความไม่สงบที่จะมีเพิ่มขึ้นในบริเวณที่ติดกับประเทศไทย
เรากำลังเห็นภาพของการประท้วงสหรัฐฯ และจีนในสองประเทศ ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่มีความแปลกแยกที่น่าวิเคราะห์น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนของการเผชิญหน้าด้านภูมิรัฐศาสตร์ จึงท้าทายทิศทางของนโยบายรัฐบาลใหม่ของไทยที่ยังไม่รู้หมู่รู้จ่าขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว