อเมริกากำลัง “ขาลง” และจีนกำลัง “ผงาด” มาแทนที่จริงไหม?
นี่เป็นหัวข้อที่มีการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์กันในวงการ ซึ่งต้องรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ มิติมาร่อนตะแกรงเพื่อหาแนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุด
เพราะไม่ว่าทิศทางมหาอำนาจจะไปทางไหน ก็ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อไทยที่ต้องวางยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องต้องกันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในวันนี้และวันข้างหน้าให้ได้
วันก่อนผมตั้งวงเสวนากับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ที่เกาะติดเรื่องราวระดับโลกที่โยงกับสถานการณ์ในไทย
ผมโยนคำถามนี้เพื่อขอความเห็นในมุมมอง ของคนที่อยู่กับความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอย่างกว้างขวางรุนแรง
ดร.กอบศักดิ์เริ่มด้วยการบอกว่า ต้องไปอ่านหนังสือชื่อ The Rise and Fall of the Roman Empire
การก่อเกิดและล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน
“กรุงโรมไม่ได้สร้างในค่ำคืนเดียว และขณะเดียวกันการเสื่อมของกรุงโรมก็ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนเช่นกันกัน”
ความเสื่อมของสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่อยๆ เกิด และสุดท้ายก็นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิ
ที่สำคัญที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง
ดร.กอบศักดิ์เชื่อว่าอเมริกากำลังเข้าสู่ช่วงนั้น
สัญญาณต่างๆ ที่เราได้รับขณะนี้บอกเราว่าสิ่งนี้กำลังเกิด
แนววิเคราะห์ของ Think Tank ออสเตรเลียแห่งหนึ่ง Australian Strategic Policy Institute ที่เพิ่งศึกษาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ว่าด้วยเทคโนโลยีที่สำคัญๆ ของโลก 44 อย่าง อเมริกาเป็นผู้นำอยู่กี่อย่าง
คำตอบคือ สหรัฐฯ เป็นผู้นำอยู่เพียง 7 อย่างเท่านั้น
แต่ว่าจีนกลายเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมมากกว่าอเมริกาในอัตราประมาณ 5:1
ในเทคโนโลยีสำคัญๆ เช่นด้าน advanced materials คือวัตถุที่ใช้ในการผลิตใหม่ๆ ซึ่งรวมถึง nano-technology, coating, smart materials เป็นต้น
รวมถึงเรื่องค้นคว้าใหม่ๆ ด้านวัสดุศาสตร์และทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ
รายงานนี้บอกว่าจีนนำสหรัฐฯ ทางด้าน “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI และ communications หรือการสื่อสารยุคใหม่ทั้งหลายทั้งปวงที่ชาวโลกกำลังตื่นเต้นกันอยู่ในขณะนี้
ด้าน super computing และการทำ chips อเมริกาอาจจะกำลังนำอยู่
แต่อย่างอื่นๆ ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร, data analytics, energy and environment อันหมายถึงพลังงานและสิ่งแวดล้อม จีนนำสหรัฐฯ อย่างชัดเจน
ยกตัวอย่างพลังงานแสงแดด
ระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ขณะนี้ผลิตในเมืองจีนเกือบทั้งสิ้น
การสร้างรถ EV และแบตเตอรี่นั้นสหรัฐฯ ก็ตามหลังจีนอยู่เช่นกัน
สหรัฐฯ อาจจะนำด้าน quantum computing แต่ถ้าเป็นเรื่อง biotech หรือ space จีนกำลังแซงหน้าอเมริกาอย่างเห็นได้ชัด
“นี่เป็นสัญญาณว่าอเมริกาที่เป็นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งมาตลอดกำลังพ่ายแพ้จีนทางด้านเทคโนโลยี...ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา” ดร. กอบศักดิ์บอก
สาเหตุที่จีนกับสหรัฐฯ มีความขัดแย้งกันมากขึ้นทุกวันนี้ ก็น่าจะมาจากเหตุผลที่ว่าวอชิงตันตระหนักว่าตัวเองเริ่มเสื่อมและจีนกำลังตีตื้นขึ้นมา
จึงต้องเอากรวดเอาตะปูไปโรยบนถนนเพื่อให้รถที่ตามหลังมามีอันต้องชะงัก
เท่ากับเป็นการขุดหลุมบ่อเพื่อดักจีนเต็มไปหมด
ดร.กอบศักดิ์มองว่า การขยายบทบาทของกลุ่ม BRICS ที่มีจีนและรัสเซียเป็นแกนหลัก ก็สะท้อนถึงการสยายปีกของจีนอีกด้านหนึ่งเช่นกัน
“มีคำถามว่าเงินดอลลาร์กำลังเสื่อมหรือไม่ เงินหยวนของจีนกำลังจะมาแทนดอลลาร์หรือไม่”
ดร.กอบศักดิ์ชี้ว่า การที่ดอลลาร์ยังเป็นเบอร์หนึ่งวันนี้ก็เพราะการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจกลายเป็นศูนย์กลางการเงิน และดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของชาติต่างๆ
สัปดาห์ก่อนมีการประชุมระดับรัฐมนตรีของ BRICS ที่แอฟริกาใต้ และได้เชิญตัวแทนอีก 12 ประเทศไปร่วมประชุมด้วย
ดร.กอบศักดิ์บอกว่า กลุ่มประเทศนี้รวมกันมีผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ใหญ่กว่าอเมริกา 30% แล้ว
“ประชากรรวมของกลุ่ม BRICS เท่ากับประมาณ 50% ของโลก ขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติ เช่นแร่ธาตุจากเหมืองทั้งหลายก็มาจากกลุ่มนี้ประมาณ 80%...”
นั่นคือการส่งสัญญาณว่า กลุ่มประเทศนี้คืออนาคตของโลก และถ้าเขารวมกลุ่มกันได้อย่างจริงจัง อเมริกาก็เป็นรองเขาแล้ว
จากนั้นเขาก็คุยกันว่า ในกลุ่มนี้จะสามารถใช้เงินสกุลของเขาเองโดยไม่ต้องใช้ดอลลาร์ในการซื้อขายและทำธุรกรรมด้วยกันได้ไหม
นั่นคือก้าวแรกของการตัดจากวงจรของดอลลาร์ และมาใช้เงินหยวนหรือรูเบิลหรือเงินสกุลของสมาชิกกันเอง
“ต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้อาจจะต้องใช้เวลา และมันแสดงว่านี่คือแนวโน้มโลกที่กำลังก่อตัวขึ้น...และที่ชัดเจนก็คือเงินหยวนกำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ” ดร.กอบศักดิ์ประเมิน
ทุกวันนี้การค้าขายและธุรกรรมในโลกใช้เงินหยวนประมาณ 5% ขณะที่ดอลลาร์เป็น 85%
“แม้ทุกวันนี้เงินสองสกุลนี้ยังห่างกันคนละชั้น แต่ในอนาคตมันจะมาแน่ เพราะกรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว และการเสื่อมสลายของกรุงโรมก็ไม่ได้เกิดในวันเดียว...”
การที่เงินสกุลอื่นๆ จะมาทดแทนดอลลาร์ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และมีปัจจัยสำคัญคือระดับการค้าต้องใหญ่ ซึ่งเราก็เริ่มเห็นการค้าของจีนกำลังใหญ่ขึ้นทุกที เริ่มมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นตลอดเวลา และหากนับรวมกับของ BRICS ด้วย ทำให้กลุ่มนี้มีพื้นที่การค้าที่ใหญ่พอ
อีกปัจจัยหนึ่งคือการมีตลาดพันธบัตรที่ใหญ่พอ
ทุกวันนี้พอมีเงินประเทศส่วนใหญ่จะซื้อพันธบัตรของสหรัฐฯ เพราะวันนี้นั่นคือแหล่งเก็บเงินที่ดีที่สุดของโลก และมีจุดแข็งคือมีสภาพคล่องที่ดี ถอนได้ตลอดเวลา แต่หากทำอย่างนั้นกับจีนในวันนี้ก็อาจจะปั่นป่วนได้
ทุกวันนี้อเมริกาเหมือนเป็นมหาสมุทร จีนเป็นทะเลสาบ ประเทศไทยเป็นเพียงบึงเล็กๆ
“ดังนั้น ในภาวะปัจจุบันแม้จะซื้อขายเป็นเงินหยวนได้ แต่ก็ยังต้องเก็บเป็นดอลลาร์อยู่ เพราะถ้าเก็บเป็นหยวน เข้าได้แต่อาจจะเอาออกไม่ได้ หรือเอาออกลำบาก ไม่เหมือนถ้าเป็นดอลลาร์ เอาเข้าออกได้สบาย...”
ดังนั้น เมืองจีนจึงทำให้ฮ่องกงทำสิ่งที่เรียกว่า offshore yuan เพื่อสร้างตลาดนี้ขึ้นมา ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
แต่ในท้ายที่สุด ดร.กอบศักดิ์เชื่อว่า “ปัจจัยกำลังมา...เพราะในอนาคต ถ้าการค้าเทไปอยู่กับฝั่งจีกับ BRICS มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้สมการเปลี่ยนไป...”
(พรุ่งนี้: วิกฤตเพดานหนี้มะกันเปิดทางให้หยวนผงาด?)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว